บทคัดย่อ
รายงานวิจัยฉบับนี้มีความมุ่งหมายสองประการ ประการแรกคือ เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของ
ชาวคริสเตียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประการที่สองคือ เพื่อศึกษาลักษณะของวัฒนธรรมยิวที่
ปรากฏในวิถีความเชื่อของคริสเตียน ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์เป็นระเบียบหลักสำคัญ
จากการศึกษาพบว่า ความเป็นมาของชาวคริสเตียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง
คือ ช่วงบุกเบิกของการเผยแผ่ศาสนา (ค.ศ. 1828-1878) ช่วงการขยายตัวของคริสตจักรในพื้นที่
กรุงเทพมหานคร (ค.ศ. 1878-1934) และช่วงการก่อตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
(ค.ศ. 1934-ปัจจุบัน) ด้านลักษณะของวัฒนธรรมยิวในวิถีความเชื่อของคริสเตียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
มีทั้งในด้านการมีจุดกำเนิดร่วมกัน คือ คัมภีร์โบราณของทั้งสองศาสนา และมีผู้นำทางศาสนาถ่ายทอด
อบรม สั่งสอนภายในสมาชิกของสังคมคริสเตียน วิเคราะห์จากข้อมูลหลักฐานสำคัญคือ คัมภีร์โบราณที่ชาวยิว
และคริสเตียนให้ความสำคัญร่วมกัน คือ คัมภีร์โทราห์ของชาวยิว และคัมภีร์ 5 เล่มแรกในภาคพันธสัญญาเดิม
ของคริสเตียน ซึ่งถือว่ามีจุดเริ่มต้นหรือจุดกำเนิดร่วมกัน ส่งผลให้ศาสนพิธีของทั้งสองศาสนามีความสัมพันธ์กัน
คือ พิธีปัสกา เทศกาลเพนเทคอสต์ เทศกาลอยู่เพิงของชาวยิว และพิธีมหาสนิท เทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยว
การจัดค่ายประจำปีของคริสเตียน ในปัจจุบันคริสตจักรทั้งสามแห่งในพื้นที่ศึกษายังคงให้ความสำคัญและ
ถ่ายทอดภายในสมาชิก นอกจากนี้ พระคัมภีร์ของคริสเตียนในภาคพันธสัญญาใหม่ได้กล่าวถึงผลดีของการ
เชื่อมต่อระหว่างชาวยิวกับคริสเตียน ดังนั้น คริสเตียนส่วนหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงยังคงมีความ
ผูกพันกับวัฒนธรรมของชาวยิวผ่านพระคัมภีร์ที่ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน
คำสำคัญ: ยิว วัฒนธรรมยิว วิถีความเชื่อคริสเตียน