banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ผู้จัดการรายสัปดาห์, วันอาทิตย์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2546  

  ภูมิปัญญาไร้พรมแดน - ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ :เสรีไทย - อุดมการณ์ที่ไม่ตาย จนถึงการสร้างกระแสชาตินิยม  
โดยMGR ONLINE

"ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคล

ซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา

แต่ขอให้นึกถึงงานอมตะของเขา

บุคคลอาจจะแตกต่างด้วยกำเนิด

ด้วยฐานะและการศึกษา

แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรม

ที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน"

นั่นคือ ข้อเขียนอันเปี่ยมไปด้วยพลังและสำนึกอันแรงกล้าจาก นายฉันทนา หรือ มาลัย ชูพินิจ หนึ่งในผู้ปฏิบัติการเสรีไทย ให้คำอธิบายถึงบทบาทความเสียสละของการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยอย่างสั้นๆ

เรื่องปฏิบัติการเสรีไทยนี้ควรจะได้มีการสืบค้นเพื่อนำไปเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังและสาธารณชนได้รับทราบกันมากขึ้น

ผมได้รับหนังสือ เสรีไทย-อุดมการณ์ที่ไม่ตาย จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ มีข้อเขียนบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น ที่สมควรจะนำมาวิเคราะห์และนำเสนอ ภารกิจเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติเวลานั้นของขบวนการเสรีไทยนั้น มีทั้งการปฏิบัติการทางทหารและปฏิบัติการทางการเมือง

คณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. มีมติในเวลา 7.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ให้ยุติการสู้รบกับญี่ปุ่น และได้มีการลงนามยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้โดยมีเงื่อนไข คือ ญี่ปุ่นต้องไม่ปลดอาวุธฝ่ายไทย และรัฐบาลก็ได้ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทย ต่อมาท่าทีของรัฐบาลจอมพล ป. ก็โน้มเอียงมาทางญี่ปุ่นมากขึ้น มีการดำเนินนโยบายชาตินิยมโน้มเอียงเป็นแบบฟาสซิสต์มากขึ้นตามลำดับ

11 ธันวาคม 2484 รัฐบาลทำสัญญาพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น 21 ธันวาคม รัฐบาลไทยทำสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ในสงครามมหาเอเชียบูรพากับญี่ปุ่น ต่อมาหลังจากนั้น 1 เดือน รัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินนโยบายที่ผิดผลาดครั้งใหญ่ด้วยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ

ปรีดี พนมยงค์เวลานั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจทางการทหารอยู่ในมือ แต่ในฐานะแกนนำสำคัญของคณะราษฎร จึงเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองมาก ท่านรัฐบุรุษปรีดีเวลานั้นจึงเป็นจุดศูนย์กลางเป็นที่พึ่งสำหรับพวกที่ต้องการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นและคัดค้านการนำพาประเทศสู่สงครามของรัฐบาลจอมพล ป.

นายปรีดี ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในเย็นวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันกำเนิดของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยหรือขบวนการเสรีไทย ว่า

"เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เพื่อนที่มาพบก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเองและของราษฎรส่วนมากที่ได้ประสบเห็นกองทัพญี่ปุ่นที่เป็นทหารต่างด้าวเข้ามารุกรานประเทศไทย ...............เมื่อได้ปรึกษาหารือพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมในวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชประชาธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง องค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนปฏิบัติต่อไป ขบวนการเสรีไทยมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ 2 ด้าน คือ หนึ่ง ต่อสู้ผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติ และร่วมมือกับสัมพันธมิตรในสมัยนั้น สอง ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร"

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยว่า "รัฐบาลในขณะนั้น นอกจากยอมให้กองทัพญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทยแล้ว ยังทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นอีกด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2485 ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา นายปรีดีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ มิได้ลงนามร่วมด้วย คือ ขณะนั้นครอบครัวเราอพยพไปอยุธยา นายปรีดีจะไปเยี่ยมครอบครัวทุกสัปดาห์ จึงไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ การที่ไม่ได้ลงนามกลับกลายเป็นผลดีเมื่อสงคราม สิ้นสุดลงได้อ้างถึงการลงนามไม่ครบองค์คณะสำเร็จราชการฯ เป็นเหตุผลที่ถือว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ"

หลังสงครามสิ้นสุด ท่านรัฐบุรุษปรีดีและคณะยังคงต้องเจรจากับฝ่ายพันธมิตรเพื่อไม่ให้ไทยตกอยู่ในสถานภาพของผู้แพ้สงครามและต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่า รัฐบาลจอมพล ป. ก็รักชาติและยึดถือเรื่องชาตินิยมเหมือนกัน ด้านขบวนการเสรีไทยก็รักชาติและยึดถือหลักการของแนวทางชาตินิยมเช่นเดียวกัน

ชาตินิยมแบบไหนที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและคนส่วนใหญ่มากกว่ากัน ผมเข้าใจว่าทุกท่าน มีสติปัญญาพิจารณาได้ และสิ่งนี้น่าจะบอกรัฐบาลได้ ว่าควรจะดำเนินนโยบายชาตินิยมแบบไหนดี? n

[Top]

 มติชน, วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9318, หน้า 14  

  จาก DOHA สู่ CANCUN WTO จะไปทางไหน  
โดย จักรกฤษณ์ ควรพจน์

การประชุมระดับรัฐมนตรีดับเบิลยูทีโอ (WTO) ครั้งที่ห้า ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน ที่เมืองแคนคูนประเทศเม็กซิโก อันเป็นการประชุมต่อเนื่องของรอบโดฮา (Doha Round) ซึ่งเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2001 โดยมีกำหนดเจรจาให้เสร็จสิ้นลงภายใน 3 ปี

เท่าที่ผ่านมาการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีความคืบหน้าน้อยมาก ประเทศสมาชิกได้แบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทั้งระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน และระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา

แต่ละกลุ่มแต่ละประเทศต่างต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนมีผู้กล่าวว่า "ดับเบิลยูทีโอคือเวทีที่สะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่และชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุด"

นับตั้งแต่ตั้งขึ้นในปี 1995 ดับเบิลยูทีโอได้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่แกตต์ (GATT) ข้อตกลงการค้าเดิมมีเป้าหมายเพียงให้มีการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคการค้าผ่านแดน เช่น ลดพิกัดภาษีศุลกากรและโควตา แต่ดับเบิลยูทีโอมีขอบเขตการดำเนินการที่กว้างกว่ามาก ครอบคลุมทั้งอุปสรรคการค้าที่เป็นกฎระเบียบการค้าผ่านแดนและกฎระเบียบภายในประเทศ นับตั้งแต่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการ การลงทุน การอุดหนุน ฯลฯ อีกทั้งยังมีกลไกระงับข้อพิพาทและมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่ทรงประสิทธิ ภาพ

"การค้าเสรี" (Free trade) นั้นต่างจาก "การค้าที่เป็นธรรม" (Fair trade) ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่า การค้าเสรีมิได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ใดนอกจากบรรษัทข้ามชาติ แต่การค้าที่เป็นธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน

ที่ผ่านมาดับเบิลยูทีโอส่งเสริมการค้าเสรีมากกว่ามุ่งไปสู่การค้าที่เป็นธรรม

ประเทศกำลังพัฒนาถูกบีบให้เปิดตลาดสินค้าแก่บรรษัทข้ามชาติ ถูกจำกัดให้ผลิตสินค้าเพียงเท่าที่ตนมีศักยภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่คือสินค้าที่ใช้แรงงานและสินค้าขั้นประถมที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ

ระบบการค้าของดับเบิลยูทีโอส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เกิดการผูกขาดตลาด และทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตก เปิดโอกาสให้ประเทศที่พัฒนาแล้วโยกย้ายอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหามลภาวะมายังประเทศยากจน

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีดับเบิลยูทีโอครั้งที่สี่ที่กรุงโดฮาเมื่อปี 2001 ประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอหลายประการ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงวิธีการเจรจาและความโปร่งใสขององค์กร แก้ไขกฎระเบียบที่ก่อผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิทธิบัตรยา การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก และการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ฯลฯ

การเจรจารอบโดฮาถูกกำหนดหัวข้อเจรจา โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้การค้ามีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก ถึงแม้ไม่มีที่ใดในปฏิญญาโดฮากล่าวไว้อย่างชัดเจนเช่นนั้น

แต่ด้วยเนื้อหาสาระและหัวข้อการเจรจาที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา การเจรจารอบนี้จึงถูกเรียกว่า "รอบแห่งการพัฒนา"

ดับเบิลยูทีโอกำลังมุ่งไปในทางใด? อาจกล่าวได้ว่าดับเบิลยูทีโอกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางต่อไปนี้

(1) สร้างมาตรฐานเชิงเดี่ยว (Standards harmonisation) ดับเบิลยูทีโอกำลังพัฒนาไปเป็นองค์กรนิติบัญญัติด้านการค้าของโลก ที่มีการสร้างมาตรฐานการค้าร่วมเพื่อเป็นกรอบสำหรับกฎระเบียบภายในของประเทศต่างๆ

เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะปราศจากมาตรฐานหรือมีมาตรฐานต่ำ ประ เทศเหล่านั้นจึงมีพันธกรณีที่ต้องยกระดับปรับปรุงกฎระเบียบของตนให้เท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจอาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในด้านแรงงานและความมั่นคงของทรัพยากรได้อีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม มาตรฐานการค้าของดับเบิลยูทีโอกลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในประเทศอุตสาหกรรม ในการปกป้องผู้ผลิตเหล่านั้นให้ปลอดจากการแข่งขันของสินค้าราคาถูกที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา

(2) เป็นองค์กรระงับข้อพิพาท ดับเบิลยูทีโอได้กลายเป็นองค์กรระงับข้อพิพาทที่มีการฟ้องร้องคดีระหว่างประเทศต่างๆ อย่างมาก มาย จนกลายเป็นว่านโยบายของประเทศต่างๆ ได้ถูกกำหนดโดยผ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดข้อพิพาท มากกว่าโดยการเจรจาของประเทศสมาชิก

(3) เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคำมั่นแต่ขาดการปฏิบัติ จนมีผู้กล่าวว่าดับเบิลยูทีโอได้กลายเป็นองค์กรที่ไร้น้ำยาเช่นเดียวกับยูเอ็นไปแล้ว และโดยความชักช้างุ่มง่ามของการเจรจาที่ต้องผ่านระบบความเห็นชอบที่เป็นเอกฉันท์ (Consensus)

ประเทศที่ต้องการเร่งเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป จึงได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การเปิดตลาด จากการเจรจาในกรอบพหุภาคีของดับเบิลยูทีโอมาเป็นการเปิดตลาดการค้าในเวทีภูมิภาคและกรอบทวิภาคีแทน

ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีเป็นจำนวนมาก

การละทิ้งการเจรจาแบบพหุภาคี มาสู่แนว ทางภูมิภาคนิยมและทวิภาคี จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมาก กฎเกณฑ์และนโยบายการค้าระ หว่างประเทศจะถูกใช้อย่างเลือกปฏิบัติและเกิดการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะต่อสินค้าของประเทศที่มาจากนอกกลุ่ม

ดับเบิลยูทีโอจะกลายเป็นองค์กรไร้น้ำยาและไร้ความหมาย ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเข้ามาผูกขาดครอบงำการค้าในระดับภูมิภาค ส่วนประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกทอดทิ้งจากเวทีการค้าระหว่างประเทศในที่สุด

หากการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นจริง ระบบการค้าที่ขาดความเป็นธรรมต้องได้รับการปรับปรุง ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีประชา กรจำนวนหนึ่งในห้าของประชากรโลก ไม่ควรมีโอกาสที่จะได้ส่วนแบ่งบริโภคทรัพยากรเป็นสัดส่วนถึงสี่ในห้าของทรัพยากรที่มีในโลกดังเช่นที่เป็นอยู่ บรรษัทข้ามชาติและผู้ส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาควรมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

ภายใต้โครงสร้างที่ขาดความสมดุลเช่นนี้ แม้ดับเบิลยูทีโอจะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างการแข่งขันเสรีขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่าดับเบิลยูทีโอจะนำพาประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะนี้ดับเบิลยูทีโอกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก และหากไม่สามารถปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นได้ ดับเบิลยูทีโอก็จะเป็นดังเช่นองค์การระหว่างประเทศอื่น ที่มีอยู่เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับประเทศที่พัฒนาแล้วและบรรษัทข้ามชาติในการหาประโยชน์จากประเทศยากจน

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า