banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 มติชน, วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9314, หน้า 10  

  "โมนาร์ชิคอล แพทริออทิสม์" กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกัน  
รายงานพิเศษ

หมายเหตุ "มติชน" : วันที่ 11 กันยายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในสังคมอเมริกันเองและสังคมโลก บทความพิเศษชุด "2 ปี 11 กันยา" นี้ เป็นความพยายามเพื่อตรวจสอบและบันทึกความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดย "แผนกข่าวต่างประเทศ มติชน" จะนำเสนออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฉบับวันนี้เป็นต้นไป

ช่วงเวลาเพียง 2 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างเหลือเกินขึ้นในสังคมอเมริกัน นับเนื่องตั้งแต่วิถีของการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงแนวความคิดและมุมมองทางการเมือง นี่ไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงแบบชวนให้ตกตะลึงของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนพะยี่ห้อให้ว่าเป็น "จักรวรรดินิยมใหม่" ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก

ทั้งหมดเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันนั้น ที่ทำให้หลายคนออกอุทานว่า นับแต่นี้ไป โลกไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิมอีกตลอดกาล

แซมมวล คลีเมนส์ นักเขียนชื่อดังที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ เนื่องจากเป็นคนคัดค้านนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการยึดครองฟิลิปปินส์ เคยใช้คำว่า "โมนาร์ชิคอล แพทริออทิสม์" เรียกขานแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการยึดครองฟิลิปปินส์ในครั้งนั้น เขาหมายถึงแนวความคิดรักชาติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์ผู้ครองนคร "อยู่เหนือกฎหมาย" และ "ทำอะไรถูกไปหมด"

โจนาธาน อัลเทอร์ แห่งนิวส์วีก นำคำดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง-คำของแซมมวล คลีเมนส์ ที่รู้จักกันดีในนามปากกา "มาร์ก ทเวน" - เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เขาเชื่อว่า ในช่วงเบื้องต้นของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สังคมอเมริกันเหมือนตกอยู่ในสภาพของคนที่ได้รับบาดเจ็บ หวาดผวา หวั่นกลัว จนทำให้ดูเหมือนว่า มีเพียงการรวมตัวกันอยู่ภายใต้ธงชาติอเมริกันเท่านั้นที่จะเยียวยาได้ ให้ความอบอุ่นซึ่งกันและกันได้

ภายใต้ความรู้สึกดังกล่าว ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ดูเหมือนจะใช้น้ำเสียงที่ถูกต้องในการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้ง ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องในการส่งกองกำลังของตนเองไปไล่ล่า "ปิศาจ" โอซามา บิน ลาเดน ในอัฟกานิสถาน ให้สัญญาว่า จะนำตัวมาพิจารณาโทษ

แต่เมื่อความจำเป็นในการ "ปลอบประโลม" กลายเป็น "กระบอง" ในการตะลุยตีผู้อื่น สังคมอเมริกันที่เป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็กลับมาแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายอีกครั้ง-เหมือนกับที่เคยเป็นมา

บริตนีย์ สเปียร์ส เป็นตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมอเมริกันปัจจุบัน นักร้องดังรายนี้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ฉันคิดว่า เราแค่ไว้วางใจในตัวท่านประธานาธิบดี ไว้ใจในการตัดสินใจทุกอย่างทุกประการที่เขาทำ...แล้วก็ควรให้การสนับสนุนการตัดสินใจที่ว่านั้น ศรัทธาในทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นติดตามมา"

สิ่งที่นิวส์วีกเรียกว่า "สเปียร์ส"ส สแตนดาร์ด" นี้ กลายเป็นกระแสหลักอยู่พักใหญ่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน แต่ถึงเวลานี้ความรู้สึกที่ว่านี้กำลังเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง

ปรากฏการณ์ที่แตกต่างอย่างสุดขั้วเมื่อวัดด้วยมาตรฐาน "สเปียร์ส"ส สแตนดาร์ด" ก็คือการที่หนังสือเสียดสีทางการเมืองชื่อ "ไลส์" ของอัล ฟรานเกน เจ้าของรายการ "แซทเธอร์เดย์ ไนท์ ไลฟ์" ที่เป็นการรวบรวมคำพูด "โป้ปด" ของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และเหล่า "นีโอ คอนเซอร์เวทีฟ" มาถากถางไว้อย่างครื้นเครง กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ "เบสต์ เซลเลอร์" ของนิวยอร์ก ไทม์ส นานหลายสัปดาห์

อัล ฟรานเกน เป็นตัวแทนของคนอีกกลุ่ม ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกต้อนเข้ามุมอับ ตอนนี้กลับมาแสดงตัวคัดค้านแนวทางของบุชอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และในทุกๆ เรื่อง

นิวส์วีกระบุว่า ที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ตามต้อยๆ และค้านตะพึดแบบไม่ลืมหูลืมตาก็คือคนอเมริกันส่วนใหญ่ ที่ยังคงขยี้ตาตัวเองแบบไม่ค่อยเชื่อสายตากับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นนัก

คนเหล่านี้นี่เองที่กำลังตั้งคำถามกับตัวเองและสังคมว่า รักชาติ คืออย่างไร?

โจนาธาน อัลเทอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การเมืองอเมริกันหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เปลี่ยนแปรไปจากที่เคยเป็นเมื่อทศวรรษ 1980 และ 1990 ไม่น้อย เปลี่ยนจากที่เคยสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงกันมากเกินไปในทุกๆ เรื่อง มาเป็นหาข้อเท็จจริงกันน้อยลงในทุกๆ เรื่อง

เขาให้เหตุผลไว้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐสภาและทำเนียบขาวอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก "ลัทธิรักชาติ-แพทริออทิสม์"!

ดังนั้น ในขณะที่อังกฤษมีการสอบสวนสืบสวนขนานใหญ่ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใต้การนำของลอร์ด ฮัตตัน ที่นำไปสู่การเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข่าวกรองของอังกฤษ เตือนทำเนียบรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไม่ควรขยายภัยคุกคามจากอิรักให้ใหญ่โตเกินจริง การตรวจสอบในทำนองดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในยุคนี้

ไม่มีการสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเองถูกสนตะพายโดยกลุ่มชาวอิรักลี้ภัยหรือไม่ ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดพลาดที่ท่านประธานธิบดีเลือกที่จะเชื่อจาก สำนักงานข่าวกรองกลาง(ซีไอเอ)

นิวส์วีกตั้งคำถามไว้ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว แพทริออทิมส์ใหม่ในยุคนี้คืออะไร? ใช่ว่าการปล่อยให้ทำเนียบขาวออกคำสั่งไปยังสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมให้ออกแถลงการณ์หลัง 11 กันยาฯ ว่าอากาศโดยรอบพื้นที่ที่เคยเป็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ปลอดภัยแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานสักชิ้นพิสูจน์ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง-คือการรักชาติอย่างนั้นหรือ? หรือการรุกรานอิรักในขณะที่ยังไม่มีสัญญาณของการคุกคามที่แท้จริง และในขณะที่ทุกๆ ฝ่ายเตือนว่าจะสร้างความเสียหายให้กับสงครามกับอัล เคด้า คือความรักชาติ? หรือเพราะความรักชาติ จึงทำให้ทำเนียบขาวต้องปล่อยให้บริษัทอเมริกันที่ได้สัญญาว่าจ้างมูลค่าหลายล้านดอลลาร์จากกระทรวงความมั่นคงภายในมาตุภูมิ ตั้งบริษัทบังหน้าขึ้นที่เบอร์มิวด้า เพื่อเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ?

หรือความรักชาติคือ ชาตินิยมที่คับแคบอย่างยิ่ง อย่างนั้นหรือ?

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า