banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 มติชน, วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9313, หน้า 2  

  ผู้ว่าฯซีอีโอ กับการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  
รายงาน
ประเวศ วะศี

1. พื้นที่บูรณาการ มัชฌิมาปฏิปทา

จุดชี้ขาดของความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ที่พื้นที่

พื้นที่ หมายถึง ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด

ถ้าทุกชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดมีความร่มเย็นเป็นสุขก็หมายถึงบ้าน เมืองทั้งหมดมีความร่มเย็นเป็นสุข

กุญแจของความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ที่การพัฒนาอย่างบูรณาการบนแนวทางมัชฌิมาปฏิปทา

บูรณาการ(Integration) หมายถึง การเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบเข้ามาสู่ความเป็นหนึ่งเดียว ความไม่แยกส่วน เช่นร่างกายของเราประกอบด้วย ตับ ปอด หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ อันแตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงมาสู่ความเป็นหนึ่งคือตัวเรา ถ้าแยกเป็นส่วนๆ หัวใจไปทางหนึ่ง ปอดไปทางหนึ่ง ตับไปทางหนึ่ง เราก็เป็นคนอย่างนี้ไม่ได้ การชำแหละแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นเปลือง ความมีชีวิตต้องเชื่อมโยงทุกส่วนเข้ามาหากัน

การพัฒนาแบบแยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ

การพัฒนาอย่างบูรณาการหมายถึง พัฒนาทุกองค์ประกอบอย่างเชื่อมโยงกันเช่น เศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เมื่อทุกองค์ประกอบเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้องพอดีก็จะเกิดดุลยภาพ ดุลยภาพคือความเป็นปกติสุข และความยั่งยืน อะไรทำเสียดุลก็ล่ม จม พัง ได้ง่าย ไม่ยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สมดุล

การพัฒนาแบบแยกส่วน จะพัฒนาอะไรก็เอามันอย่างเดียว จะนำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤตเสมอ

มัชฌิมาปฏิปทา คือ การคิดอย่างเป็นกลาง ไม่ตายตัวสุดโต่ง แยกส่วน พระพุทธองค์ตรัสบ่อยครั้งว่า "ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง.."

ในปฐมเทศนาในประโยคต้นๆ เลยมีอยู่วรรคหนึ่งว่า "เทวฺ เม ภิกฺ ขเว อันตา" (เทวฺ อ่านว่า ทะเว ทวิ=สอง)

ส่วนสุดทั้งสองภิกษุไม่ควรเสพ

อันตะ=ส่วนสุด (อนันตะ=ไม่มีที่สิ้นสุด)

บุคคลโดยทั่วไปมักคิดแบบตายตัว จึงแยกส่วนและสุดโต่งทำให้ติดขัด ขัดแย้ง ไม่ได้ผล เสียสมดุล และวิกฤต

มัชฌิมาปฏิทาเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เคลื่อนไปด้วยความเป็นกลาง จึงทะลุทะลวงไม่ติดขัดและเชื่อมโยง ตามความเป็นจริง

ความเป็นบูรณาการจึงต้องอาศัย มัชฌิมาปฏิทา

2. พัฒนาอย่างบูรณาการ 8 ประการ

องค์ประกอบ 8 ประการ ที่ควรพัฒนาอย่างบูรณาการ มีดังนี้

1.การมีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่

2.มีการอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

3.มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

4.มีสังคมเข้มแข็ง

5.มีการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม

6.มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณหรือศาสนธรรม

7.มีสุขภาพดี

8.มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่จะทำให้สามารถรักษาดุลยภาพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ทั้ง 8 เรื่องไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ แต่ถ้าลงไปดูของจริงในพื้นที่ และอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเข้าใจโดยมิยาก

3. ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ

หน่วยราชการเป็นกรม ไม่สามารถทำการพัฒนาอย่างบูรณาการได้ เพราะกรมแยกส่วนเป็นเรื่องๆ ผู้ที่จะจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการคือชุมชนท้องถิ่น ทางราชการต้องไม่เป็นผู้ไปทำเอง แต่ทำหน้าที่สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ สามารถจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 ประการ ได้ ต้องไม่พลาดหลักการที่สำคัญนี้ ข้าราชการไม่ว่าจะเก่งและดีแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน แต่ถ้าสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติดีจะเกิดความยั่งยืน

ชุมชนเข้มแข็ง

มีกระบวนการชุมชนเข้มแข็งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันเป็นกระบวนการที่ทรงพลัง และนำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ ที่ทุกฝ่ายควรจะรับทราบและเห็นคุณค่า

ชาวบ้านในชุมชนรวมตัวกันทำการวิจัย โปรดสังเกตว่าชาวบ้านเป็นผู้วิจัยเองและใช้ผลการวิจัยเอง วิจัยเรื่องของชุมชนเองเช่น ชุมชนมีรายจ่ายอะไรบ้างเท่าไหร่ เป็นหนี้ ธ.ก.ส.เท่าไร หนี้นอกระบบเท่าไร ทำไมจึงเป็นหนี้ การวิจัยทำให้ชาวบ้านรู้ปัญหาของตัวเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งนำผลวิจัยมาทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งหมดคือ กระบวนการเรียนรู้อันทรงพลังของชุมชนกระบวนการเรียนรู้จากการวิจัย จากการทำแผนแม่บทชุมชนและขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนแม่บทชุมชน จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งมาก และเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กำลังทำแผนส่งเสริมให้ชุมชนในทุกตำบลทั่วประเทศสามารถทำการวิจัยและทำแผนแม่บทชุมชนได้ภายใน 3 ปี

ราชการและฝ่ายต่างๆ ควรสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนทางวิชาการ และสนับสนุนเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถ้าชุมชนมีสิทธิ 4 อย่างดังต่อไปนี้ จะหายจนโดยสิ้นเชิง

(1) สิทธิในการทำมาหากิน

(2) สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

(3) สิทธิในการสื่อสารชุมชน

(4) สิทธิในการมีระบบการเงินชุมชน

เรื่องทั้ง 4 มีความสำคัญยิ่ง ควรทำความเข้าใจและขับเคลื่อน

ความสามารถในการจัดการของท้องถิ่น

โดยกฎหมายได้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นแล้ว จุดสำคัญที่สุดขณะนี้คือ ความสามารถของท้องถิ่นในการจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ ถ้าทุก อบต.และทุกเทศบาลมีความสามารถในการจัดการ การพัฒนาอย่างบูรณาการจะเกิดเต็มพื้นที่ ฉะนั้นทุกฝ่ายควรส่งเสริมความสามารถในการจัดการของท้องถิ่น ในทุกจังหวัดควรมีชมรม อบต. เทศบาลก็เช่นเดียวกัน และมีการทำฐานข้อมูลว่า อบต.ไหนเก่งเรื่องอะไร และมีการเรียนรู้จากกัน การดูงาน การฝึกอบรม หรืออื่นๆ ควรมีการส่งเสริมอย่างเหมาะสม

เมื่อทุกชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ การพัฒนาอย่างบูรณาการจะเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ที่ทั่วประเทศ ผู้ว่าฯซีอีโอก็ดี ฝ่ายนโยบายระดับชาติก็ดี ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ควรร่วมมือกันส่งเสริมบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาอย่างบูรณาการ

4. เครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณการ

ขณะนี้หลายอย่างกำลังส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นในลักษณะต่างๆ ควรมีการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรหรือเครือข่าย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งในส่วนกลาง และในจังหวัดแต่ละจังหวัด ขณะนี้ในส่วนกลางได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีองค์กรมากมายเป็นสมาชิก เช่น พอช., สสส., สปรส., สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สภาพัฒน์ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯลฯ จังหวัดที่ต้องการสนับสนุนควรติดต่อเครือข่ายนี้

ในจังหวัดหลายจังหวัดเกือบทุกจังหวัดได้มีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเพื่อการพัฒนาจังหวัดมีชื่อและกิจกรรมต่างๆ เรียกว่า ประชาคมบ้าง กลุ่มบ้าง ประชารัฐ(ประชาชน+รัฐ) ทุกจังหวัดเคยรวมตัวกันจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดมาแล้ว บางจังหวัดให้ที่ทำการของประชาคมมาตั้งอยู่บนศาลากลางจังหวัดเลยเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี ในทุกจังหวัดควรมีการรวมตัวของฝ่ายต่างๆ เป็น เครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาการบูรณาการจังหวัด เครือข่ายควรมีผู้ประสานงานที่มีบุคลิกทำงานประสานกับทุกฝ่ายได้ ทั้งกับผู้นำชุมชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ ธุรกิจเอกชน ข้าราชการ จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และกับส่วนกลาง

ผู้ว่าฯซีอีโอควรทำงานร่วมกับประชาคมจังหวัดและเครือข่ายต่างๆ

5. การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งจังหวัด

การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นศีลธรรมพื้นฐาน ทุกคนไม่ว่าทำอะไรมีความรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติในชีวิตของแต่ละคน ความรู้ในตัวคนแต่ละคนมีความหลากหลายและมีค่ามาก ถ้านำความรู้ในแต่ละคนออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะเกิดมวลแห่งการเรียนรู้มหาศาลที่มีฐานอยู่ในการปฏิบัติเจริญ และจะเกิดของใหม่หรือนวัตกรรมของเหมือนๆ กันเจอกันไม่เกิดของใหม่ แต่ของต่างกันเจอกันจะเกิดของใหม่ขึ้นเช่น ไฮโดรเจนกับไฮโดรเจนเจอกัน หรือออกซิเจนกับออกซิเจนเจอกันไม่เกิดน้ำ แต่เมื่อไฮโดรเจนกับออกซิเจนเจอกันเกิด H2O หรือน้ำ น้ำเป็นของใหม่ที่เกิดจากไฮโดรเจนกับออกซิเจน แต่มีคุณสมบัติใหม่โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นอย่าไปรังเกียจความหลากหลาย

ทุกจังหวัดควรจะทำแผนที่มนุษย์(Human Mapping) ให้มากที่สุดว่าใครมีประสบการณ์อะไรชำนาญทางไหน ทุกคนจะภูมิใจที่มีคนรู้ความดีของตัว ผู้คนจะมีกำลังใจอย่างใหญ่หลวง การพัฒนาในแต่ละจังหัดเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกองค์กร

ถ้ามีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนและ ทุกคนจะอยากเข้ามาร่วมกัน ควรรณรงค์ให้เกิดความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งจังหวัดว่าจะพัฒนาอย่างบูรณาการให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเมื่อเกิดความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งจังหวัด และทุกจังหวัดจะเกิดพลังมหาศาลที่ขับเคลื่อนสัมมาพัฒนา โดยอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ(Interactive Learning Through Action) จังหวัดทั้งจังหวัดจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ที่ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียนเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริง เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข

คนไทยสามารถสร้างบ้านเมืองที่ร่มเย็นเป็นสุขร่วมกันได้

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า