banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 มติชน, วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9312, หน้า 5  

 ไทยในสถานการณ์โลก ยุคหลังสงครามสหรัฐ-อิรัก  
คอลัมน์ มิติตะวันออก

วงสัมมนาเรื่อง "ไทยในโลกยุคหลังสงครามอิรัก" เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ หลายหัวข้อ แต่เน้นหนักอยู่ที่ความสัมพันธ์และผลกระทบของสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันที่มีต่อประเทศไทย โดยนักวิชาการมากหน้าหลายตาที่ตอบรับคำเชิญจากศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อไปนี้คือบางส่วนจากวงสัมมนาดังกล่าว

=สหรัฐอเมริกาต้องไม่มีใครท้าทาย

นายวิวัฒน์ มุ่งการดี นักวิชาการระดับดอกเตอร์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองวัตถุประสงค์ในการเข้าไปยึดครองอิรักและสถานะของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันไว้ว่า เป็นเพราะ สหรัฐอเมริกาไม่ประสงค์จะให้ประเทศอื่นๆ พัฒนาก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมมากนัก สหรัฐจึงต้องควบคุมพลังงานในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งพลัง แหล่งน้ำมัน เป็นจุดสำคัญที่ต้องเข้าไปควบคุมเพื่อตัวเองส่วนหนึ่งและเพื่อกีดกันคนอื่น

"โลกหลังสงครามอิรักคือการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง และการแข่งขังระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกัน มหาอำนาจมีการแข่งขันกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการร่วมมือระหว่างกัน หลังสงครามอิรักสหรัฐอเมริกาโดดเด่นขึ้นมากและเป็นยิ่งกว่ามหาอำนาจ เพราะเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวและโดดเด่นที่สุด"

นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์ผู้นี้ชี้ว่า ความพยายามของฝรั่งเศส เยอรมนี จีน และรัสเซีย ที่จะไม่ให้สหรัฐอเมริกาขึ้นมาอยู่ในจุดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หลังสงครามสหรัฐอเมริกาเป็นหมายเลขหนึ่งทิ้งห่างจากประเทศอื่นๆ และสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้ใครเข้ามาท้าทาย

แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทและสถานะดังกล่าวของสหรัฐก็ทำให้การต่อต้านเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากมีคนบางกลุ่มไม่พอใจที่อเมริกาได้เปรียบในเชิงการค้า และหลายประเทศไม่พอใจที่สหรัฐอเมริกากอบโกยจากประเทศต่างๆ เกิดความรังเกียจอเมริกามากขึ้น

"ปัญหาที่จะตามคือสหรัฐชนะสงครามในอิรักก็จริง แต่ประสบปัญหากับการสร้างอิรัก สหรัฐติดกับดักอยู่ในอิรัก มีการฆ่าทหารอเมริกันรายวัน ทหารอเมริกันตายไปแล้วมากกว่าช่วงสงครามซะอีก และการวางระเบิดที่ทำการของสหประชาชาติในอิรักและการวางระเบิดที่มัสยิดเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหาทางเพราะรู้แล้วว่าอเมริกาโดดเดี่ยวในอิรักคงไปไม่รอด"

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาคงไม่ปล่อยให้ล้มเหลว จึงต้องหันมาพึ่งสหประชาชาติโดยเสนอมติให้ยูเอ็นเข้าไปมีบทบาทและมีอำนาจมากขึ้นโดยหวังที่จะให้กองกำลังนานาชาติเข้าไปแทนที่จะให้กองกำลังสหรัฐประจำการอยู่ฝ่ายเดียว ต่อไปจะมีการร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป หรือทั้ง 2 ฝ่ายจะหันมาคืนดีกันเพราะโดยปราศจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไปไม่รอด

จุดสำคัญคือสหรัฐอเมริกาจะไปรอดในอิรักหรือไม่ หากสหรัฐอเมริกาล้มเหลวในอิรัก เท่ากับต่อไปสหรัฐอเมริกาจะล้มเหลวในตะวันออกกลาง

=การช่วงชิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ เชื่อว่านโยบายทั้งต่ออิรักและตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย เพราะเป็นที่แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของจีนในเอเชียในอนาคต

ที่กระทบกับไทยโดยตรงก็คือ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ไทยต้องเลือกว่าจะหันไปสหรัฐเหมือนเดิม หรือจะให้น้ำหนักในการเข้าไปคบจีนให้มากขึ้น แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องระมัดระวังในการเลือกแนวนโยบายอย่างยิ่งยวด

"เราควรและต้องรักษาผลประโยชน์ของไทย" นี่คือข้อสรุปของอาจารย์วิวัฒน์

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองสถานการณ์โลกในปัจจุบันคล้ายคลึงกัน โดยระบุว่า หลังสงความในอิรัก สหรัฐอเมริกากลายเป็นหนึ่งเดียวที่มีอำนาจสูงสุด และถือตัวเองเป็นตำรวจโลก ทำให้ต่อไปสหรัฐอเมริกาจะมีนโยบายเชิงรุกมากขึ้น จะมีการบีบประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

"เราต้องตั้งหลักให้ดีเพื่อรองรับเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันการยอมรับความเป็นอเมริกันก็จะลดลง พันธมิตรจะไม่มีความหมายและความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป ทำให้ไทยควรพยายามยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ให้เหมาะสมที่สุด"

รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะขยายตัวใหญ่โตขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการเห็นสหรัฐมีนโยบายที่จะปิดล้อมจีน อำนาจด้านการทหารของอเมริกาถูกเปลี่ยนมาเป็นอำนาจเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการกลุ่มเศรษฐกิจอื่นที่ท้าทายกับตน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

"ในสถานการณ์เช่นนี้เราจะเอาแต่ตั้งความหวังไว้กับองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)เพียงเท่านั้นไม่ได้อีกต่อไป และเราควรกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอาเซียนบวก 3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ให้มากขึ้น"

รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างมาก จีนเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศไทย จีนมีอำนาจทางตลาดและมีศักยภาพมากขึ้น

"การเจรจากับจีนจะไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน เราจำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราเองและต้องปรับตัว" นักวิชาการรายนี้เตือน

=ไทยไม่เข้าใจเพื่อนบ้าน

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หันมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน เขาชี้ให้เห็นว่า ไทยและเพื่อนบ้านมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้ เหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชาจึงอาจไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรงครั้งสุดท้าย

"ปัจจุบันมีปัญหาเผชิญหน้าระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่รู้เขา เขาก็ไม่รู้เรา ขาดความเข้าใจและเคารพซึ่งกันละกัน เราเองขาดความเคารพเพื่อนบ้าน เรามีลักษณะค่อนข้างเป็นจักรวรรดินิยมต่อเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร และพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนไม่ดีเลย อันนี้น่าจะเกิดจากการศึกษาของไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนบ้าน และอาเซียนเองไม่มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ตรงนี้ เราน่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีซึ่งกันและกันมากกว่านี้" ชาญวิทย์ระบุ

สุรชัย ศิริไกร นักวิชาการอีกคนจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนด้วยว่าเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยอาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีก เป็นเพราะไทยเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "บ้านพี่เมืองน้อง" ไม่รู้ว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ความจริงประเทศลาวตั้งรัฐมาก่อนไทยรวม 700 ปี คือ 700 ปี ก่อนการตั้งสุโขทัย

"รัฐบาลชุดนี้มีปัญหากับเพื่อนบ้านมากที่สุด พม่าด่าเรารุนแรงที่สุดในรัฐบาลชุดนี้เพราะส่งสัญญาณเพื่อนบ้านผิดๆ ไทยมีจุดยืนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาต่อเพื่อนบ้านและมีจุดยืนที่มักดูถูกเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่มีเพื่อนบ้านไหนไว้ใจไทย เพื่อนบ้านไม่อยากรับนโยบายของไทย ทางที่ดีคือไทยควรมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของอาเซียนจะดีกว่า"

กวี จงกิจถาวร นักหนังสือพิมพ์ระดับรองบรรณาธิการผู้คร่ำหวอดทางด้านต่างประเทศ เห็นว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต มีทุกอย่าง แต่เลือกอะไรไม่ถูก เป็นนโยบายที่รุกหน้าไปเรื่อยๆ โดยปราศจากหลักการ เป็นนโยบายครบทุกอย่างจนเกิดความสับสน เขาเชื่อว่าไทยควรให้ความสำคัญอาเซียนมากกว่านี้ ไม่ใช่พูดอย่างเดียว หรือพยายามทำตัวเป็นผู้นำแบบร้อนรนจนเกินไป

เหมือนอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พยายามที่จะเป็นผู้นำอาเซียนแบบมหาธีร์กับลี กวน ยิว

แต่รีบร้อนจนเกินไป จนกลายเป็น leadership in the hurry นั่นเอง

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า