banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 มติชน, วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9310, หน้า 6  

 พม่าอย่าลวงโลก  
คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ได้รับการปรับคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่จะเป็น พล.อ.ตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นผู้นำแบบเบ็ดเสร็จที่รั้งตำแหน่งสำคัญๆ ไว้คนเดียวหมด การปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าวทำเอานักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศทั่วโลกมีความเห็นแบ่งออกไปเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายที่หนึ่ง มองในแง่ดีว่า พม่ากำลังจะปรับท่าทีเพื่อก้าวไปสู่การสร้างความปรองดองในชาติหลังจากถูกประเทศตะวันตกและบางประเทศในกลุ่มอาเซียนกดดันอย่างหนักและเชื่อว่าในไม่ช้า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่าที่ถูกกักตัวมาหลายเดือนคงได้รับการปล่อยตัว เพราะ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ เป็นผู้ยึดแนวทางประนีประนอม

ฝ่ายที่สอง มองในแง่ลบว่า พม่ากำลังเล่นละครตบตาชาวโลก แม้ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นแค่เพียง "หุ่นเชิด" เท่านั้น แท้จริง พล.อ.ตาน ฉ่วย ยังมีอำนาจเต็มทุกสิ่งทุกอย่าง คุมทั้งกองทัพ คุมทั้งรัฐบาล การเมืองในพม่าจะไม่มีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น นางออง ซาน ซูจี จะถูกกักตัวต่อไป

เหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายน่ารับฟังและและน่าพิจารณา กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นักวิเคราะห์ฝ่ายไหนมองการเมืองพม่าได้ถูกต้องมากกว่ากัน

วันเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ - วันที่ 31 สิงหาคม สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐว่า นายฟิลิป รีเกอร์ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงนางออง ซาน ซูจี ว่านางได้อดอาหารเพื่อประท้วงรัฐบาลทหารพม่าที่ได้กักตัวนางไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลสหรัฐมีความเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่งต่อปัญหาสุขภาพของนางที่จะตามมา โดยรัฐบาลทหารพม่าต้องรับผิดชอบอย่างเต็มประตูและรัฐบาลสหรัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่าปล่อยตัวนางจากการกักตัวไว้สอบปากคำในทันที

ตามข่าวระบุว่า การอดข้าวของนางออง ซาน ซูจี ครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่า เพิ่งประชุมคณะนายทหารของพม่าประกาศแผนที่เส้นทางเดินสู่ระบอบประชาธิปไตยใหม่ของพม่า 7 ขั้นตอนได้เพียงวันเดียว โดยแผน

การดังกล่าวประกอบด้วย

1.การเปิดประชุมผู้แทนพรรคการเมือง ตัวแทนชนกลุ่มน้อยและผู้แทนส่วนต่างๆ ของสังคมประเทศพม่าใหม่ หลังจากที่ที่ประชุมเดียวกันได้ระงับไปตั้งแต่ปี 2539

2.เริ่มกระบวนการวางระบบประชาธิปไตยที่มีวินัย

3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

4.จัดการลงมติบังคับใช้ร่างรับธรรมนูญใหม่

5.จัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่

6.เรียกประชุมสมาชิกรัฐสภา เลือกตั้งผู้นำรัฐบาลใหม่

7.เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปประเทศพม่าไปสู่ความทันสมัย

หลังจากสำนักข่าวต่างประเทศนำเสนอข่าวเรื่องนางออง ซาน ซูจี แพร่ไปทั่วโลก ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลพม่าโดยกระทรวงการต่างประเทศของพม่าได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของสหรัฐโดยระบุว่าเป็นแถลงการณ์ที่ไร้มูลความจริง

เป็นเรื่องที่แปลกอย่างมากที่ การปฏิเสธของกระทรวงการต่างประเทศเป็นแค่คำพูดลอยๆ ไม่ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า นางออง ซาน ซูจี ไม่ได้อดข้าว

จะมีกี่คนในโลกนี้ที่เชื่อคำปฏิเสธของผู้นำพม่า ผมคนหนึ่งละที่ไม่ยอมเชื่อเด็ดขาด

ต่อให้อมชะเวดากองมาพูด ผมก็ไม่ฟัง

การพิสูจน์ที่ดีที่สุดก็คือ การให้นาง ออง ซาน ซูจี เปิดเผยตัวแล้วให้นางได้พูดว่าไม่ได้อดข้าว ทำไมพม่าไม่ใช่วิธีนี้

หากผมจะพูดว่า นาง ออง ซาน ซูจี ถูกฆ่าตายไปแล้ว ทางผู้นำพม่าก็ไม่ยอมเอาตัวนางมาให้ผมเห็น พูดอยู่คำเดียวว่า นางออง ซาน ซูจี ยังอยู่ดีกินดี มีความสุข ถ้าผมเชื่อง่ายๆ ผมก็คงเป็นมนุษย์ที่โง่ที่สุดในโลก

ความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนกรณีนางออง ซาน ซูจี ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรทำให้แผนการสร้างความปรองดองในชาติของพม่าที่มีข่าวว่า พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ประกาศออกมาเป็น 7 ขั้นตอนดังกล่าวมาข้างต้นขาดน้ำหนักและไม่มีความน่าเชื่อถือแม้แต่น้อยว่าจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ

การให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็มีท่าทีเกรงใจพม่า ผมจึงค่อนข้างจะสังหรณ์ใจว่า โรดแมปหรือแนวทางสร้างความปรองดองในชาติพม่าที่รัฐบาลไทยเสนอไปนั้นจะมีค่าแค่เพียง "เศษกระดาษ" ที่ไร้สาระในสายตาของรัฐบาลพม่า

เหตุการณ์ในพม่าที่ยังหาข้อยุติที่จะไปสู่การสร้างสงบและความปรองดองไม่ได้ ตราบนั้นผลกระทบที่ก่อปัญหาความเดือดร้อนในประเทศไทยก็จะมีอยู่ต่อไป-ไม่มีวันสิ้นสุด

การเจรจาความเมืองเพื่อร่วมมือกันอันจะก่อประโยชน์ให้เกิดกับทั้ง 2 ฝ่าย คือไทยและพม่า จึงไม่เกิดขึ้น

นี่คือเรื่องที่สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญกับข่าวความเป็นไปในพม่า

รัฐบาลทหารพม่าบริหารประเทศไปแบบซื้อเวลาและถือว่าตราบเท่าที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวเหยียดยังญาติดีกันอยู่ ตราบนั้นรัฐบาลพม่าก็จะไม่สนใจต่อกระแสกดดันของชาติตะวันตก แม้จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาหลายปีจนประชาชนพม่าเดือดร้อน

การแสดงความเห็นของผมหรือของใครก็ตามต่อสถานการณ์พม่าที่ปกครองแบบเผด็จการก็คงจะไม่ส่งผลสะเทือนอะไรต่อผู้นำพม่า แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือได้ว่ามีคนในโลกแสดงปฏิกิริยาด้วยความสุจริตใจและด้วยปรารถนาดีต่อประชาชนชาวพม่าที่อยากจะให้มีชีวิตอยู่อย่างอิสระเสรี

นางออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ควรจะเป็นที่ชื่นชมยินดีของชาวพม่า แต่นางกลับถูกกักกันตัวมานานมากแล้ว นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนพม่าที่หลบหนีอำนาจเถื่อนเข้าไปอยู่กับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน และส่วนหนึ่งหลบลี้หนีภัยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย คนเหล่านี้ควรจะได้กลับบ้านไปพัฒนาบ้านเมืองของตัวเองเสียที

สิทธิ เสรีภาพควรจะมีในหมู่ประชาชนชาวพม่าเพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่สมบูรณ์

กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวพม่าค่อยๆ เงียบหายไป เพราะไม่มีเวที และหมดเรี่ยวแรงจะร้อง

กระแสกดดันพม่าโดยชาวโลกควรจะดำเนินต่อไปเพื่อจะบอกว่าผู้นำพม่าหยุดลวงโลกได้แล้ว

[Top]

 มติชน, วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9310, หน้า 6  

  กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ท่าทีและบทบาทใหม่  
โดย ทรายแก้ว ทิพากร สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภัยจากการก่อการร้ายได้สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกประเทศในปัจจุบันนี้ โดยทั่วไปขณะนี้ทุกประเทศได้มีการวางแผนเตรียมพร้อมป้องกันการก่อการร้ายในประเทศของตน รวมทั้งมีการเตรียมการล่วงหน้าว่าถ้าเกิดกรณีก่อการร้ายขึ้น จะต้องมีการดำเนินการอย่างไรกันบ้าง

นอกจากในด้านการทหารและตำรวจแล้ว การเตรียมการต่างๆ ยังรวมไปถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อช่วยกันรับมือกับการก่อการร้ายด้วย

ญี่ปุ่นก็ไม่ได้เป็นกรณียกเว้น

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ใกล้กับเกาหลีเหนือ และดูจะเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการเป็นเป้าของอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือมากที่สุดนี้ ยิ่งทำให้ดูจะมีความจำเป็นมากขึ้นที่ญี่ปุ่นจะต้องปรับกระบวนการป้องกันตนเองให้เข้มแข็งขึ้น

เนื่องในโอกาสเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงของการระลึกถึงจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เราน่าจะได้ทบทวนประเด็นเกี่ยวกับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นดูบ้าง

หลังจากเกิดกรณีถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อปี 2001 รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันตนเองออกมา 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ได้แก่

1) กฎหมายเกี่ยวกับมาตรการเพื่อรับรองเอกราชและความปลอดภัยยามถูกรุกราน

2) กฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกองกำลังป้องกันตนเอง

3) กฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายการจัดตั้งสภาความมั่นคง

ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมรับกรณีที่ญี่ปุ่นอาจถูกรุกรานโดยกองทหารต่างชาติในกรอบของสงครามขนาดใหญ่

ที่น่าแปลกก็คือ กฎหมายทั้งสามฉบับผ่านสภาสูงด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น สภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยร้อยละ 80 และสภาสูงร้อยละ 90

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับพรรคฝ่ายค้านที่จะร่วมลงคะแนนยอมรับกฎหมายที่ขยายขอบเขตของกองกำลังป้องกันตนเอง

เมื่อสมัยที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งทหารไปร่วมในกิจกรรมของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในปี 1992 พรรคฝ่ายค้านกลุ่มใหญ่คือพรรคสังคมประชาธิปไตย(SDP) ได้คัดค้านอย่างแรงด้วยการค่อยๆ เดินไปลงคะแนนช้าๆ จนต้องใช้เวลาทั้งคืนกว่าจะลงคะแนนเสร็จเรียบร้อย

ครั้นเมื่อมีการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการร่วมกับกองทหารของสหรัฐ ในการปกป้องบริเวณรอบๆ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผ่านสภาในปี 1999 พรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ในขณะนั้นคือพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น(DPJ) ก็มีมติไม่เห็นด้วย

ต่อมากฎหมายเกี่ยวกับมาตรการพิเศษเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้การสนับสนุนกองกำลังต่างชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ยังถูกคัดค้านโดยพรรคฝ่ายค้านอีกเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนท่าทีของพรรคฝ่ายค้านในช่วงนี้ น่าจะแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและโลกทัศน์ของชาวญี่ปุ่นต่อนโยบายความมั่นคง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลยังสามารถผลักดันให้กฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศอิรักผ่านสภาออกมาได้อีก

กองกำลังที่จะส่งไปปฏิบัติการในอิรักนี้จะเป็นกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา คือจะมีถึง 1,000 นาย

ตามข้อกำหนดของกฎหมายนี้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะเข้าไปให้ความร่วมมือกับกองทหารของสหรัฐอเมริกาในการฟื้นฟูประเทศอิรัก

เช่น ในการขนส่งวัสดุสิ่งของให้แก่ผู้ลี้ภัย และร่วมมือกับกองทหารสหรัฐในการรักษาความสงบ ซึ่งเป็นการขยายบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองออกไป

กล่าวคือกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อรักษาสันติภาพ หรือเรียกสั้นๆ ว่า PKO Law ซึ่งประกาศใช้ในปี 1992 มีข้อกำหนด 5 ประการ ในการส่งกองกำลังป้องกันตนเองออกไปร่วมปฏิบัติการในต่างประเทศเพื่อรักษาสันติภาพ ได้แก่

1) ต้องมีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างคู่กรณีแล้ว

2) คู่กรณีรวมทั้งประเทศเจ้าภาพ ยินยอมให้มีกองกำลังรักษาสันติภาพและประเทศญี่ปุ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง

3) ต้องรักษาความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด

4) รัฐบาลญี่ปุ่นอาจถอนกองกำลังของตนถ้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น

และ 5) การใช้อาวุธจะทำให้ขอบเขตจำกัด เพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น

เท่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นเคยส่งกองกำลังของตนเข้าไปร่วมรักษาสันติภาพในเขมร โมซัมบิก ที่ราบสูงโกลาน และติมอร์ตะวันออก ยังเคยไปปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยในราวันดา 1994 และอัฟกานิสถาน 2001

แต่ในกรณีนี้ประเทศอิรักยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประเทศ เพราะฉะนั้นการส่งกองกำลังของญี่ปุ่นเข้าไปในอิรักครั้งนี้จึงเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่ 678 687 และ 1441 ซึ่งสหรัฐและอังกฤษยึดถือในการส่งกองทหารไปบุกอิรัก และมติที่ 1483 ซึ่งยกเลิกการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแก่อิรักในเรื่องเกี่ยวกับการใช้อาวุธ

ตามกฎหมายใหม่ กองกำลังป้องกันตนเองสามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและผู้ที่อยู่ในความคุ้มครองของตน

ส่วนในเรื่องการขนส่งอาวุธ รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่ากองกำลังของญี่ปุ่นไม่อาจจัดหาอาวุธให้ประเทศอื่นๆ แต่สามารถขนส่งให้ได้

กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 4 ปี

และการส่งกองกำลังออกไปนั้น รัฐบาลต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใน 20 วัน

นั้นหมายความว่า ข้อกำหนด 5 ประการ ของกฎหมาย PKO ข้างต้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการส่งกองกำลังของญี่ปุ่นออกไปในครั้งนี้ อีกทั้งกองกำลังป้องกันตนเองก็จะต้องได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้น

การตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภาในเรื่องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นทัศนคติที่เปลี่ยนไปชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งมองเห็นผลประโยชน์ของญี่ปุ่นไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่ขยายออกไปครอบคลุมพื้นที่นอกประเทศกว้างออกไปด้วย

การปรับกระบวนการเกี่ยวกับความมั่นคงและบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ เนื่องมาจากภาวะคุกคามจากเกาหลีเหนือและกระแสของการก่อการร้ายในปัจจุบัน เพื่อป้องกันตนเองและผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงต้องมีกองกำลังที่เข้มแข็งและระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการปฏิบัติการดังกล่าว

น่าคิดว่าถ้าไม่ได้เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ถ้าไม่มีภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นจะปรับท่าทีของกองกำลังป้องกันตนเองหรือไม่

คำตอบคือ น่าจะปรับ

พิจารณาจากความภาคภูมิใจในความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมที่สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ จากการที่รัฐสภาได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศ "ปกติ" ที่สามารถมีกองทหารและประกาศสงครามได้

เมื่อไม่นานมานี้สมาชิกรัฐสภาบางคนยังเคยพูดถึงการที่ญี่ปุ่นควรจะมีอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งๆ ที่ประเด็นอาวุธนิวเคลียร์เคยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับญี่ปุ่น

ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชาชนสะท้อนให้เห็นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวซึ่งเป็นนักชาตินิยม รวมทั้งนายกรัฐมนตรีโคอิชูมิก็เป็นนักชาตินิยมด้วย

ญี่ปุ่นต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ต้องการมีบทบาทที่กว้างขวางขึ้นนอกไปจากการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

การส่งกองกำลังของตนออกไปร่วมในการรักษาสันติภาพนอกประเทศ เป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะมาร่วมรับผิดชอบต่อสถานการณ์ความวุ่นวายต่างๆ ของโลก

น่าคิดต่อไปว่า ในอนาคตญี่ปุ่นจะใช้กองกำลังที่เข้มแข็งได้รับการฝึกปรือมาอย่างดีนี้ต่อไปอย่างไร

ความรู้สึกชาตินิยมและทัศนคติที่เห็นผลประโยชน์ของญี่ปุ่นที่ครอบคลุมไกลออกไปกว่าขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของประเทศของตนนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการใช้กองกำลังซึ่งปัจจุบันเรียกว่า กองกำลังป้องกันตนเอง

ถ้าญี่ปุ่นไม่เคยเป็นประเทศที่รุกรานประเทศอื่นอย่างรุนแรงมาก่อน การปรับกระบวนการในด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นนี้ก็คงไม่ก่อให้กิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ

แต่บทเรียนจากประวัติศาสตร์มักจะเตือนใจให้เราต้องคอยระแวดระวังภัยที่เคยเกิดขึ้นกับเรามาก่อน

กองกำลังที่มีไว้เพื่อป้องกันตนเองในปัจจุบันนั้น สามารถจะเปลี่ยนไปเป็นกองกำลังเพื่อการรุกรานได้ทุกเมื่อ

[Top]

 มติชน, วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9310, หน้า 7  

  "20 พฤษภาฯ วันสิ้น(วัน)ชาติ"  
โดย เกษียร เตชะพีระ

เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนคนเดือนตุลาฯไป เมื่ออดิศร เพียงเกษ นำเสนอชื่อ "วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย" ที่ทั้งรัฐบาล, ส.ว., ส.ส., และเอ็นจีโอพอจะขยากกลืนก้างของ "ท่านผู้นำ" ที่ตำลูกกระเดือกกลั้วน้ำลายตามลงคอไปได้ทั่วหน้า..

นับว่าร้ายมากกกส์ คิดได้ยังงายยยยแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น....

คำ "ประชาธิปไตย" ในชื่อเดิมตามมติรัฐสภาก็คงไว้, แถมพก "14 ตุลา" มาให้อีกต่างหาก...มีทั้งลักษณะสากล("ประชาธิปไตย") กับลักษณะเฉพาะ ("14 ตุลา" วันนี้วันเดียวเท่านั้น) สอดประสานกันได้ตามหลักปรัชญา "ว่าด้วยการปฏิบัติ" ของท่านประธานเหมาฯอย่างลงตัว.....เรียกว่าประธานเหมาฯก็เหมาฯเถอะ ต้องซูฮกเรียกซือเฮียทีเดียวล่ะ

มิหนำซ้ำเวอร์ชั่นใหม่ยังมีสัมผัสสระ "-า" ในชื่ออีกต่างหากระหว่าง "ตุลา" กับ "ประชา" ช่วยให้เรียกได้คล่องปากลื่นคอดี สามารถเอาไปให้พี่อดิศรแต่งกลอน และพี่วิสา คัญทัพ แต่งเพลงใส่ทำนองให้พี่เบิร์ดร้องง่าย แบบว่า "แฟนจ๋าตุลาแล้วจ้ะ สิบสี่แล้วน่ะ เขยิบมาใกล้ๆ" ก็ยังได้...

เข้าตามสูตรวรรคแรกของเพลงนกสีเหลืองที่ว่า "กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป..." เด๊ะ...

ไม่เชื่อลองถามดูสิว่าทำไมนก 14 ตุลา ต้องสีเหลืองด้วย?

ทำไมไม่แดง, ขาวหรือเขียว?

แหะๆ, สันนิษฐานว่าก็เพื่อให้รับสัมผัสกับ "เมือง" ที่ส่งมาจากวรรคสดับไง ตามหลักเอกลักษณ์ไทยที่ต่อให้ยกเหตุผลล้นไส้ล้นพุงมาเถียงกันเป็นคุ้งเป็นแควในสภาฯ ครม. และตามหน้าหนังสือพิมพ์จนเหงือกแห้งขนาดไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ตัดสินกันด้วย "สัมผัส" ตามประสาชาติเจ้าบทเจ้ากลอนนี่แหละ...

rhyming determinism หรือลัทธิสัมผัสประกาศิตของพี่ไทยจึงเด็ดขาดร้ายกาจกว่า economic determinism หรือลัทธิเศรษฐกิจประกาศิตของชาวมาร์กซิสต์เป็นไหนๆ เชื่อผมเหอะอาจารย์ใจ ณ กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน...ง่า..พูดจาบจ้วงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดือนตุลาแบบนี้ไม่ทราบว่าจะระคายเคืองเบื้องบนเบื้องล่างของอดีตสหายเพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลาท่านใดหรอืไม่? ยังไงก็ต้องขออำไพด้วย

แต่เสียดายอยู่อย่างเดียว...คือในระหว่างเปิดวิวาทะสาธารณะว่าด้วยชื่อที่เหมาะสมสำหรับ 14 ตุลานั้น เกิดเรื่องมงคลที่ประเด็นความหมายความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเลือนหายไป ได้ถูกรื้อฟื้นหยิบยกขึ้นมาจุดประเด็นถกกันใหม่เปรียบเทียบกับ 14 ตุลา ทั้งโดย "ท่านผู้นำ" บรรดาท่านผู้ตามใน ครม., ส.ว., ส.ส., ผู้อาวุโสรุ่นลูกศิษย์ลูกหาที่นิยมนับถือคณะราษฎร, คนรุ่น 14 ตุลา, ผู้บัญชาการทหารบก-ว่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, แกนนำองค์กรประชาธิปไตย และปัญญาชนสาธารณะหลายท่านอย่างคึกคักร้อนแรง ประกายปัญญาลุกพรึ่บพรั่บ..

น่าเสียดายว่าพอรอมชอมหน่อมแน้มขนานนาม "วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย" เสร็จ สาธารณชนก็จะเลยหวนกลับสู่สภาวะความจำเสื่อมรวมหมู่

พากันลืมความหมายความสำคัญของ 24 มิถุนายนต่อไปเหมือนเคยเสียฉิบ

ขณะประเด็นที่เถียงกันแหลกนั้นรวมศูนย์อยู่ที่จะยกชื่อ "วันประชาธิปไตย" ให้ 14 ตุลา หรือ 24 มิถุนาฯดี? ก็ต้องขอยืนยันตามอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า...เฮ้ยๆ ช้าก่อนๆ 24 มิถุนาฯ น่ะแต่ก่อนแต่กี้เขายกย่องเป็น "วันชาติ" นะเฟ้ย ไม่ใช่ "วันประชาธิปไตย", ยังไม่ต้องพูดถึง "วันผู้สูงอายุแห่งชาติหรือวันไทยรักไทยแห่งชาติ" ที่พี่ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ถูถากเชือดเฉือนให้อดีตสหายในรัฐบาล, ส่วน (อดีต) วันชาติ 24 มิถุนาฯ จะเกี่ยวกับประชาธิปไตยด้วยหรือไม่อย่างไร? อันนี้ต้องคุยกันยาวๆ

แน่นอน จุดเริ่มเรื่องที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นจุดจบ นั่นคือวันหนึ่งวันนั้นที่วัน 24 มิถุนาฯ ถูกสั่งปลดจากการเป็น "วันชาติ" ของเราชาวไทยอย่างเป็นทางการ นั่นคือวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ซึ่งจะเรียกว่า "วันสิ้น(วัน)ชาติ" ก็ได้

ในวันนั้น "ท่านผู้นำ" คนก่อนคือ นายกฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงนามประกาศฉบับหนึ่งความว่า

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503

จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

(คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 43 วันที่ 24 พฤษภาคม 2503 หน้า 1452-1453)

ส่งที่น่าสนใจที่สุดในประกาศข้างต้นคือเหตุผลซึ่งคณะกรรมการพิจารณาหยิบยกขึ้นมาอ้างรองรับให้ความชอบธรรมแก่การตัดสินใจยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนาฯ เสีย ซึ่งพอจะสรุปได้ 2 ข้อกล่าวคือ

1) เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไป ซึ่งถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก, สวีเดน, ญี่ปุ่น เป็นต้น และ

2) เพื่อเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน

เหตุผลข้อแรกของคณะกรรมการตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเนื่องจาก "ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ" ฉะนั้นจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า -> ให้ "ยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย" แล้วหันไป "ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย" แทน

ตรรกะวิธีคิดตรงนี้เป็นแบบแบ่งแยกเป็นสองขั้วสองข้าง(binary thinking or dichotomy) ต้องได้อย่างเสียอย่าง(trade-off) อันหนึ่งได้หมด อีกอันต้องเสียหมด(zero-sum game)

สรุปรวมความคือต้องเลือกเฉลิมฉลองวันใดวันหนึ่งเพียงวันเดียวเท่านั้น ระหว่าง วันชาติ หรือวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์

ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติจะมีวันสำคัญทั้งสองวันและเฉลิมฉลองทั้งคู่มิได้, ไม่อนุญาตให้มีวันชาติแยกต่างหากจากวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์

จริงหรือ? ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติจำต้องมีแต่วันเฉลิมฉลองพระราชสมภพโดยไม่มีวันชาติหรือ?

จากการสำรวจข้อมูลขั้นต้น ผมพบว่าปัจจุบัน หลักเหตุผลข้อแรกอาจจะยังเป็นจริงในบรรดาประเทศตัวอย่าง 3 ประเทศ ที่ประกาศของจอมพลสฤษดิ์ยกมาอ้างอิง ได้แก่ อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, ญี่ปุ่น ซึ่งเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระประมุขโดยไม่มีวันชาติ, ทว่าไม่เป็นความจริงในกรณีประเทศเดนมาร์กและสวีเดน รวมทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกหลายชาติ โดยเฉพาะในเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนของเรา ซึ่งมีทั้งวันชาติกับวันพระราชสมภพของพระประมุขและเฉลิมฉลองไปด้วยกันทั้งคู่ โดยขอสรุปข้อมูลเป็นตารางเพื่อสะดวกแก่การเปรียบเทียบ(โปรดดูตาราง)

ประเทศ วันพระราชสมภพของพระประมุข วันชาติแยกต่างหาก

อังกฤษ 21เมษายน วันพระราชสมภพของพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีการเฉลิมฉลองตามราชประเพณีแต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ ไม่มี

เนเธอร์แลนด์ 30 เมษายน วันพระราชสมภพของพระราชินีจูเลียน่า(รัชกาลที่แล้ว) ไม่มี

ญี่ปุ่น 23 ธันวาคม วันพระราชสมภพของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ไม่มี

เดนมาร์ก 17 เมษายน วันพระราชสมภพของพระราชินีมาเกร็ตที่ 2 5 มิถุนายน เป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2392 ได้รับการรับรองครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2496

สวีเดน 30 เมษายน วันพระราชสมภพของกษัตริย์คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ 6 มิถุนายน เริ่มใช้แต่ปี พ.ศ.2526 ในฐานะวันก่อตั้งรัฐสวีเดนอิสระ(พ.ศ.2066) และวันรัฐธรรมนูญ(พ.ศ.2352) ซึ่งตรงกันพอดี

มาเลเซีย 6 มิถุนายน กำหนดเป็นวันเฉลิมฉลองพระราชสมภพของยังดีเปอตวนอากงประจำปี โดยไม่เปลี่ยนตามรัชกาล 31 สิงหาคม วัน MERDEKA ที่สหพันธรัฐมลายา ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.2500

กัมพูชา 31 ตุลาคมวันพระราชสมภพของสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ 9 พฤศจิกายน วันที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2496

บรูไน 15 กรกฎาคม วันพระราชสมภพของสุลต่านแห่งบรูไน 23 กุมภาพันธ์ วันที่บรูไนได้รับเอกราชเป็นทางการในปี พ.ศ.2537 หลังจากได้รับเอกราชอธิปไตยทางปฏิบัติจากอังกฤษมาตั้งแต่1 มกราคม พ.ศ.2527

สำหรับ 5 กรณีหลังในตารางนั้น ประเทศทั้งในยุโรปและเพื่อนบ้านอาเซียนของเราที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของชาติ ล้วนมีวันชาติแยกต่างหากจากวันเฉลิมฉลองพระราชสมภพของพระประมุขกันทั้งนั้น และเฉลิมฉลองไปด้วยกันทั้งสองวัน, และในกรณีสวีเดนที่เดิมมีแต่วันพระราชสมภพของพระประมุข ก็ได้เปลี่ยนแปลงหันมากำหนดวันชาติขึ้นเฉลิมฉลองควบคู่ไปด้วยในฐานะวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมืองสวีเดนขึ้นไว้

ดังนั้น สมมติฐานในเหตุผลข้อแรกของคณะกรรมการที่ว่า "ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ" จึงไม่จำต้องนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าต้องยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนาฯ เสียแล้วเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาฯ แทน

เพราะในบรรดาประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งหลายนั้น มีกรณีตัวอย่างประเทศซึ่งเฉลิมฉลองแต่วันพระราชสมภพของพระประมุข ในจำนวนที่ถ้าไม่ใกล้เคียงก็น้อยกว่า ตัวอย่างของประเทศที่เฉลิมฉลองทั้งวันชาติกับวันพระราชสมภพของพระประมุขไปด้วยกันอย่างชอบธรรมทั้งคู่, ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยเราจะเลือกเอาอย่างใครในฐานะประเทศที่เคยมีวันชาติมาแล้วโดยเป็นวันเริ่มการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแต่มาถูกรัฐบาลเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์สั่งยกเลิกไปเสีย

ส่วนเหตุผลยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนาฯ ข้อหลังที่ว่า "เพื่อเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน" นั้นฟังดูน่าพิศวง ราวกับกล่าวอ้างเปรียบเทียบทำนองว่าเมื่อเอาวันชาติ 24 มิถุนาฯ มาวางไว้ข้างๆ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ 5 ธันวาฯ แล้ว, 24 มิถุนาฯ ดูจะไม่สมัครสมานสมัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วถึงกันเท่ากับ 5 ธันวาฯ กระนั้นหรือไร?

ชวนให้สนเท่ห์ใจต่อไปว่า ถ้ากระนั้นแล้ว ใครหรือคนกลุ่มใดในชาติไทยที่รู้สึกแสลงใจ สมัครสมานสามัคคีไม่สนิทใจกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เล่า?

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า