banner Histdept

Vmenu

ทัศนะ
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 มติชน, วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307, หน้า 10  

 "เดอะโรดบล็อก"  
คอลัมน์ วิเทศปริทัศน์

5 วันหลังจากได้รับตำแหน่งใหม่พลเอกขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีพม่าหยิบยืม "โรดแมป ทูเดโมเครซี่" ของไทยไปใช้ในการแถลงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกซึ่งรัฐบาลทหารพม่าเรียกว่าเป็นการ "ประกาศนโยบาย" ของผู้นำคนใหม่

ขิ่น ยุ้นต์ เรียก "โรดแมป" ของตนเองว่าเป็นแผนที่การเดินทางสู่ประชาธิปไตยในพม่า 7 ขั้นตอน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของแผนการทั้ง 7 ขั้นตอนอย่างเป็นทางการไม่มีการประกาศออกมาและน้อยคนในโลกภายนอกจะได้รับรู้นอกเหนือจากสิ่งที่ถูกสรุปเป็นรายงานข่าวในสื่อมวลชนของทางการพม่าเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีคนใหม่บอกว่า ขั้นตอนแรกจะเป็นการเรียกประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกระงับไปเมื่อปี 1996 มาประชุมกันใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

เขาบอกว่า สภาที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบเดิมซึ่งน่าจะหมายรวมถึงตัวแทนจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ฝ่ายค้านสำคัญของพม่าทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมอยู่ด้วยแม้ว่าในถ้อยแถลงขิ่น ยุ้นต์ จะตำหนิเอ็นแอลดีและนางออง ซาน ซูจี เลขาธิการพรรคว่าเป็นตัวการทำลายการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นก็ตามที

ขั้นตอนถัดมาคือ การร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้รัฐบาลทหารก็จะดำเนินขั้นตอนตามกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่ "มีวินัย" ควบคู่กันไปด้วย

หลังจากได้รัฐธรรมนูญแล้วขั้นตอนถัดมาก็คือการนำร่างรัฐธรรมนูญที่ว่ามาลงประชามติหากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็จะเปิดให้มีการเลือกตั้งที่ "เสรีและเป็นธรรม" ขึ้นต่อด้วยการเรียกประชุมสภาจากการเลือกตั้งเพื่อขั้นตอนสุดท้ายคือ จัดตั้งรัฐบาลและเปิดโอกาสให้บริหารประเทศ

7 ขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยของพม่ามีข้อน่าสังเกตอยู่หลายประการอย่างแรกก็คือ การประกาศครั้งนี้ไม่มีการเชื้อเชิญทูตานุทูตเข้ารับฟังเหมือนเช่นที่พม่าเคยทำในการแถลงหลายๆ ครั้งที่ต้องการให้กระจายออกไปสู่ภายนอก เช่นเดียวกับที่องค์ประกอบสำคัญของการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างหนึ่งหายไปนั่นคือ กำหนดเวลา

ประเด็นที่สำคัญอีกประการที่ขาดหายไปก็คือการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ให้เป็นอิสระเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีเพื่อให้สามารถร่วมอยู่ในกระบวนการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเหมาะสม

อันที่จริงขิ่น ยุ้นต์ ไม่ให้ความสนใจต่ออิสรภาพของผู้นำคนสำคัญของฝ่ายค้านพม่าด้วยซ้ำไป

การประกาศไม่ยอมรับ "โรดแมป" ของฝ่ายค้านจึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ตั้งแต่แรก

นอกจากนั้นหลายคนยังมีเหตุผลเพียงพอที่จะเคลือบแคลงว่า "โรดแมป" เป็นเพียงความพยายามที่จะซื้อเวลาเพื่อยืดการครองอำนาจของทหารในพม่าออกไปอีกเรื่อยๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามในทำนองนี้สิ่งที่เรียกว่า "โรดแมป" นั้นเคยถูกนำเสนอมาแล้วหลายครั้งในหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น "ประชาธิปไตย" "ประชาธิปไตยแบบพหุพรรค" "การเจรจาสหพันธ์พยีดองซู" "การเจรจาไตรภาคี" และหลังสุดก็คือ "การเจรจาเพื่อความปรองดองแห่งชาติ" ซึ่งไม่เคยนำพม่าออกไปไหนนอกจากยังคงอยู่ภายใต้เผด็จการทหารตลอดมา

แน่นอนที่ว่า "เส้นทางสู่ประชาธิปไตย" พม่านั้นจะเกิดขึ้นจากภายนอกไม่ได้การปฏิเสธ "โรดแมป" ของไทยจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลอยู่ในตัวสำหรับรัฐบาลทหารของพม่า แต่ในขณะเดียวกันเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกันหากปราศจากการเข้าร่วมอย่างเท่าเทียมของทุกฝ่ายในประเทศ

ขิ่น ยุ้นต์ อาจมีภาพลักษณ์ที่ดีพอที่จะยื้อเวลาต่อไปเพื่อลดแรงกดดันจากสภาพบีบคั้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศและแรงกดดันจากนอกประเทศด้วยการประกาศ "โรดแมป" ดังกล่าวนี้โดยคาดหวังจะดำเนินการต่อไปในทำนองเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์คอส เคยทำหรือจอมพลถนอม กิตติขจร เคยทำ และอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเคยทำ

แต่ดูเหมือนว่า บางส่วนในพม่ากำลังจะหมดความอดทนการประกาศอดอาหารประท้วงรัฐบาลทหารพม่าของนางซูจีคือสัญญาณดังกล่าว

เนื่องเพราะบางส่วนเหล่านี้ตระหนักดีว่า "โรดแมป" ของขิ่น ยุ้นต์ ก็คือเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองแบบเดิมที่ไม่มีวันนำไปสู่ประชาธิปไตยได้

เพราะมันเป็นอุปสรรคอยู่ในตัวของมันเอง "โรดแมป" ไม่ใช่ "โรดแมป" แต่เป็น "โรดบล็อก" ต่างหาก

ขิ่น ยุ้นต์ "พรินซ์ ออฟอีวิล"

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งประกาศ "เส้นทางสู่ประชาธิปไตย" 7 ขั้นตอนไปเมื่อเร็วๆ นี้

ขิ่น ยุ้นต์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 ในปี 1960 และได้รับปริญญาตรีทางด้านศิลปศาสตร์ในปีเดียวกัน

เริ่มต้นจากการเป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 20 ในปี 1960 หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษ 1970 ถูกเรียกตัวมาทำหน้าที่นายทหารประจำสำนักงานปฏิบัติการพิเศษของกระทรวงกลาโหมก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองพลทหารราบที่ 44 ในปี 1982

ปี 1984 เกิดเหตุระเบิดขึ้นระหว่างการเยือนของรัฐมนตรีเกาหลีใต้เป็นเหตุให้รัฐมนตรี 4 คน เสียชีวิตโดยฝีมือการวางระเบิดของผู้ก่อการร้ายเกาหลีเหนือเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับสำนักงานอำนวยการข่าวกรองทหาร(ได้เร็กเตอเรตออฟดีเฟนส์ เซอร์วิส อินเทลลิเจนซ์-ดีดีเอสไอ)ใหม่ทั้งหมด ขิ่น ยุ้นต์ ถูกเรียกตัวเข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการซึ่งเขาดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงทุกวันนี้

เป็นนายทหารที่สนิทสนมระดับเข้านอกออกในบ้านพักของนายพลเนวิน อดีตผู้นำเผด็จการของพม่าทำให้เชื่อกันว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการกวาดล้างนักศึกษา-ประชาชนครั้งใหญ่ในการลุกฮือเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1988 จนได้รับฉายาว่า "พรินซ์ ออฟอีวิล" หรือ"เจ้าชายอสูร"

ต้นทศวรรษ 1990 ถูกเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนที่ 1 ของสภาเพื่อฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งบ้านเมือง(สลอร์ก)ที่เปลี่ยนชื่อเป็นสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ(เอสพีดีซี)ในเวลาต่อมา

ปี 1992 ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามลอบสังหารขิ่น ยุ้นต์ เชื่อกันว่าเป็นการแสดงออกถึงการคัดค้านแนวทางนิยมจีนของผู้นำรายนี้และเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทำความตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยชาวว้าแลกเปลี่ยนกับการจัดตั้งเมืองยอน

ปี 1998 ประกาศตัดพ่อ-ลูกกับเยเนง วิน บุตรชาย ด้วยเหตุผลว่าไปแต่งงานกับคนต่างชาติ

เคยพบอย่างเป็นทางการกับออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน 2 ครั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา "เพื่อความปรองดองแห่งชาติ"

อองซาน ซูจี"เดอะเลดี้"

ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของพม่าข่าวการประกาศอดอาหารประท้วงถูกเผยแพร่ไม่นานหลังจากขิ่น ยุ้นต์ ประกาศ "โรดแมป" 7 ขั้นตอน

เป็นบุตรีของผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพของพม่าพลเอกออง ซาน ใช้ชีวิตอยู่ในพม่าจนอายุได้ 15 ปี จากนั้นก็เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแต่งงานกับไมเคิลอารีสและอยู่ในอังกฤษจนกระทั่งถึงปี 1988

ออง ซาน ซูจี เดินทางกลับพม่าในปีนั้นเพื่อดูแลมารดาที่ล้มป่วยในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันเธอเริ่มต้นปราศรัยให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสำหรับชาวพม่า และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ปีเดียวกันเธอร่วมก่อตั้งและได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ที่เธอยังคงดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลทหารพม่าประกาศกักบริเวณนางซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักครั้งแรกระหว่างปี 1989-1995 ในปี 1991 ระหว่างที่ถูกกักบริเวณนางซูจีได้รับเลือกจากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลให้ได้รับรางวัลสาขาสันติภาพ

เมื่อเป็นอิสระในปี 1995 เธอยังคงแสดงบทบาทสำคัญในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าจนถูกกักบริเวณอีกครั้งระหว่างเดือนกันยายนปี 2000 ถึงเดือนพฤษภาคม 2002 หลังจากเริ่มต้นการเจรจา "เพื่อความปรองดองแห่งชาติ" กับรัฐบาลทหารมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2000

วันที่ 7 พฤษภาคม 2002 ได้รับอิสรภาพอีกครั้งหลังจากถูกควบคุมตัวอยู่นาน 19 เดือน ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทั่วประเทศโดยอิสระก่อนถูกจับกุมไปควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงขณะนี้

ผู้สนับสนุนหลายคนเรียกเธออย่างยกย่องว่า "เดอะเลดี้" หรือ "ท่านผู้หญิง"!

[Top]

 มติชน, วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307, หน้า 6  

 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร? 
โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลาที่ได้ยินคนในแวดวงรัฐบาล(หรือที่เคยอยู่ในแวดวงรัฐบาลอย่างณรงค์ กิตติขจร) ออกมาคัดค้านการตั้งชื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า "วันประชาธิปไตย" โดยยกเหตุผลทำนองว่า เป็นเการขัดกับความจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่ทราบว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะดี

ก็ถ้าบรรดา ฯพณฯ เห็นความสำคัญของ 24 มิถุนายน ขนาดที่กลัวว่า 14 ตุลาคม จะมาแย่งความสำคัญไป ทำไมไม่ทำให้ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมาเสียก่อนเล่า?

ความจริงคือ ทุกวันนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นวันอะไรทั้งสิ้นในปฏิทินของทางราชการ และบรรดา ฯพณฯ ที่ยกเอา 24 มิถุนายน ขึ้นมาคัดค้าน 14 ตุลาคม ก็ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีทีท่าว่าจะเสนอให้เปลี่ยน 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมา

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเรียก 14 ตุลาคม ว่า "วันประชาธิปไตย" แต่ไม่ใช่เพราะ 24 มิถุนายน จึงควรเป็นวันประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่คิดว่า 24 มิถุนายน ควรเป็นเช่นกัน เหตุการณ์ทั้งคู่ไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ขอเสนอว่า 24 มิถุนายน มีความสำคัญในลักษณะที่สมควรเปลี่ยนกลับเป็นวันชาติ

เพราะ 24 มิถุนายน ทำให้เกิดระบอบรัฐแบบใหม่ ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน

ระบอบรัฐที่ว่านี้คือ ระบอบรัฐที่มีสภา, คณะรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในระบอบรัฐนี้ ตลอด 70 ปีนี้ "ความเป็นประชาธิปไตย" ของระบอบรัฐนี้ มีขึ้นมีลง แต่องค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง(สภา, ครม., นายกฯ, พระมหากษัตริย์)ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จะไม่อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอนี้ในที่นี้ ซึ่งต้องอ้างอิงเหตุผลยืดยาว รวมถึงการโต้แย้งประเด็นที่บางคนอาจจะตกอกตกใจเกินเหตุไปเองว่า ข้อเสนอนี้เป็นการ "กระทบกระเทือนสถาบัน"

อันที่จริง สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นผลมาจาก 24 มิถุนายน เอง 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นตัวแทนของความเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบัน 24 มิถุนายน เป็นปฏิปักษ์เฉพาะกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเชื่อว่าในปัจจุบันไม่มีใครบ้าพอจะเสนอให้กลับไปใช้

ในบทความนี้ เพียงแต่อยากจะเล่า เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่สาธารณชน ว่าครั้งหนึ่ง 24 มิถุนายน ถูกทำให้เป็น, และถูกเลิกให้เป็น, วันชาติได้อย่างไร เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอเมื่อสักครู่หรือไม่ คงยอมรับ ว่านี่เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในตัวเอง

เรื่องนี้ความจริงถ้าจะเล่าให้ตลอด เป็นเรื่องยาว เช่น ต้องเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 และความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎร เป็นต้น จึงขอเล่าสั้นๆ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง พูดแบบภาษาวิชาการประวัติศาสตร์คือ เล่าแบบไม่มีปริบทหรือมีแต่น้อย

เอกสารที่กำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ คือ "[ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี] เรื่องวันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481"

โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใส่วงเล็บสี่เหลี่ยมข้างหน้าและหลัง "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี" เพราะถ้าใครไปเปิดดูในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ลงประกาศนี้ (เล่ม 55 วันที่ 1 สิงหาคม 2481 หน้า 1322) จะพบเรื่องประหลาดมากๆ ว่า ประกาศนี้ไม่มีหัวว่าเป็นประกาศประเภทไหน!

ที่ประหลาดมากยิ่งขึ้นคือ ประกาศที่(ถ้ามองจากปัจจุบัน) น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก(กำหนดวันชาติ) มีข้อความเพียงเท่านี้ คือ

เรื่องวันชาติ

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2481

พ.อ.พหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรี

ตอนที่เห็นประกาศนี้ครั้งแรก ผู้เขียนยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่หลายนาที เพราะนึกไม่ถึงว่า จะมีข้อความเพียงเท่านี้ (ต้องบอกด้วยว่า ได้อ่านประกาศของจอมพลสฤษดิ์ ฉบับที่ยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติ ซึ่งมีข้อความยาวพอสมควร มาก่อน ดังจะได้กล่าวต่อข้างหน้า

ขอทำเชิงอรรถในที่นี้ด้วยว่า ในหนังสือวิชาการส่วนใหญ่(เช่น ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือ แถมสุข นุ่มนนท์) เมื่อเขียนถึงการกำหนดให้ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องในสมัย "ชาตินิยม" หรือ "สร้างชาติ" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งหลวงพิบูลฯและหลวงวิจิตรวาทการ มีบทบาทในเรื่องนี้จริงๆ ดังจะได้เล่าต่อไป แต่ประกาศนี้มีขึ้นในสมัยพระยาพหลฯเพียงแต่การฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปี 2482 นั้น มีขึ้นเมื่อหลวงพิบูลฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

ผู้เขียนได้ไปค้นเพิ่มเติมในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น พบว่าการพิจารณาให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ มีลักษณะห้วนๆ รวบรัดตัดตอน ไม่มีหัวไม่มีหาง แบบเดียวกับประกาศข้างต้นเหมือนกัน(ต้องบอกก่อนว่า รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีจุดอ่อนที่อาจจะไม่ได้บันทึกละเอียดแบบคำต่อคำ แต่เฉพาะกรณีนี้เชื่อว่า คงไม่ห่างจากที่อภิปรายกันจริงนัก ผู้สนใจเรื่องรายงานการประชุม ครม.กรุณาตามอ่านบทความของผู้เขียนที่เล่าเรื่องการประชุม ครม.วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธณรม ฉบับเดือนตุลาคมนี้)

เรื่องนี้ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2481 เป็น "วาระจร" (วาระที่ 24 ใน 28 วาระการประชุมครั้งนั้น) ผู้เสนอคือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีลอย(ไม่ได้ว่าการกระทรวงใดๆ) เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยถูกถามถึง "วันชาติ" กำหนดวันไหน ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่ายังไม่กำหนดแน่นอน ฉะนั้น จึงใคร่ขอทราบว่า จะถือว่าวันไหนเป็นวันชาติ กล่าวคือ วันที่ 10 ธันวาคม หรือวันเฉลิมฯ หรือวันพระราชพิธีรัชชมงคล" (เข้าใจว่าหมายถึง 2 มีนาคม ซึ่งรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์-สมศักดิ์)

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็น "ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน" ขอให้จำความเห็นนี้ของ "ท่านวรรณ" ให้ดี เพราะจะเกี่ยวข้องกับตอนเลิกใช้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ)

หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวว่า "วันชาติอยากให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะวันเฉลิมเปลี่ยนไปตามพระมหากษัตริย์

หลวงวิจิตรฯจึงสนับสนุนว่า "ถ้าเลือกวันที่ 24 มิถุนายน กับ 10 ธันวาคม วันที่ 24 มิถุนายน ดีกว่าเพราะรัฐธรรมนูญ อาจมีแก้ได้

หลังจากนั้น รายงานการประชุม ได้บันทึกว่า "ที่ประชุมตกลง ให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ"

ผู้อ่านคงอยากทราบว่า ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ มีความเห็นว่าอย่างไร ปรากฏว่าขณะนั้นปรีดี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่าง "ลาหยุดพักรักษาตัว" ไม่ได้เข้าประชุม ความจริงเคยมีครั้งหนึ่งที่ปรีดีอยู่ระหว่างเยือนต่างประเทศ ไม่ได้เข้าประชุม แต่ยังเสนอความเห็นมาให้ ครั้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์บนธนบัตร ความเห็นของปรีดีทำให้ที่ประชุมถึงกับตัดสินใจยับยั้งการดำเนินการไว้ก่อน เพื่อรอปรีดีกลับ(เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งจะเล่าในโอกาสหลัง) แต่ครั้งนี้ ไม่มีการบันทึกว่าปรีดีเสนอความเห็นอะไร ทั้งๆ ที่มี นายปพาฬ บุญ-หลวง เลขานุการ รัฐมนตรีการต่างประเทศ เข้าประชุมแทน

ลักษณะรวบรัดตัดตอนไม่มีหัวไม่มีหางของการกำหนดวันชาติเช่นนี้ ทำให้ในการประชุม ครม.ครั้งต่อไปวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งเป็นเลขาธิการ ครม. ต้องนำเรื่องเข้าสู่วาระอีกครั้ง เพราะมติครั้งแรกไม่มีรายละเอียดว่าจะให้ทำอย่างไรต่อ "ขอหารือว่าเรื่องนี้จะควรแจ้งให้ กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบและควรออกประกาศเพียงใดหรือไม่" ซึ่งหลวงวิจิตรฯเสนอว่า (1) ควรแจ้งให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูต" เพราะปรากฏว่าในหนังสือบางฉบับ เช่น Almanac มีบอกวันชาติต่างๆ ไว้ด้วย ถ้าบอกไว้คลาดเคลื่อน หรือมิได้บอกวันชาติของเราไว้ ก็ให้ติดต่อให้เขาทราบเสียด้วย" และ (2) "เรื่องเพลงชาติเคยประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องวันชาติก็ควรประกาศเช่นเดียวกัน"

หม่อมเจ้าวรรณฯเสนอว่า "เรื่องวันชาตินี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคยเสนอเป็นพระราชบัญญัติ โดยกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เหมือนกัน แล้วตกไป ฉะนั้น ประกาศควรกล่าวว่า "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ"

ที่ประชุมตกลงให้ทำตามที่หลวงวิจิตรฯเสนอ โดยให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในราชกิจจานุเบกษา ในการประชุมครั้งนี้ปรีดียังคงลาป่วย ไม่เข้าประชุม มีนายปพาฬ บุญ-หลง ประชุมแทน

นี่เองคือที่มาของประกาศให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ รวมทั้งของข้อความแปลกๆ "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ" ข้างต้น

24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ" อยู่ 21 ปี ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย" ลงนาม "จอมพล ส.ธนะรัชต์" นายกรัฐมนตรี(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอน 43, หน้า 1452+1453) ต่างจากประกาศที่ให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ซึ่งส่วนเนื้อหามีความยาวเพียง 2 บรรทัด ในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศฉบับหลังนี้ มีความยาวประมาณ 26 บรรทัด!

นับว่ายาวไม่น้อย สำหรับเรื่องเพียงเรื่องเดียว และถ้าความสั้น ไม่มีเหตุผลอธิบายประกอบเลยของประกาศฉบับแรก จะชวนให้ผิดหวังว่าไม่สมกับความใหญ่ของเรื่อง

การที่รัฐบาลสฤษดิ์อุตส่าห์เสียเวลา ไม่เพียงร่างประกาศที่ยาวพอสมควรแต่ (ดังจะเห็นต่อไป) ก่อนหน้านั้นถึงกับต้องตั้งเป็น "คณะกรรมการ" เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ก็ชวนให้แปลกใจได้ไม่น้อย เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลสฤษดิ์ คือ รัฐบาลที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่กระตือรือร้นจะรื้อฟื้นอุดมการณ์อันเป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 อย่างเป็นระบบ

คำอธิบายของเรื่องนี้คือ ในปี 2503 แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะล่วงเลยไปแล้วถึง 28 ปี และไม่ใช่สิ่งที่จะมีความหมายหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนอย่างมากมายอะไรอีก แต่ในจิตสำนึกของชนชั้นที่มีการศึกษา ซึ่งที่สำคัญไม่น้อยได้แก่คนในวงการรัฐบาลและระบบราชการเอง(กรณีทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อการคนหนึ่ง และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีความเคารพปรีดี เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ว่าการธนาคารชาติของสฤษดิ์ เป็นเพียงตัวอย่างที่เด่นชัด) 24 มิถุนายน ยังมีความสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบใหม่ที่เป็นไปในทิศทางประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมาย การจะยกเลิกวันนี้ ในฐานะวันชาติ จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ(คิดว่า ความรู้สึกด้านลบต่อ 2475 ในหมู่ปัญญาชน เพิ่งมาเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงใกล้ทศวรรษ 2510 แล้ว) สฤษดิ์จึงต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่ทำอย่างมีขั้นตอนและสมเหตุสมผล ดังที่ปรากฏในประกาศฉบับดังกล่าว ดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐนตรีเป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตรยิ์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503

จอมพล ส.ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์(8 มิถุนายน 2503) รัฐบาลก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน เพราะไม่ใช่วันชาติอีกต่อไป(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 49, หน้า ฉบับพิเศษ หน้า 1)

ตามด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ ที่ให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 51, หน้า 1566)

สิ่งที่ต้องสังเกตคือ โดยประกาศเหล่านี้ สฤษดิ์ ไม่เพียงแต่ยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติเท่านั้น แต่ยังยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันหยุด หรือวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนวันชาติเท่านั้น เพราะถ้าลำพังเป็นเรื่องเปลี่ยนวันชาติ ต่อให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่สามารถรักษาวันที่ 24 มิถุนายน ไว้ ในฐานะวันสำคัญทางราชการ ดังที่ได้เห็นก่อนหน้านี้ในบทความนี้ว่า ในปลายปี 2480 เคยมีการกำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" สฤษดิ์ หรือ "คณะกรรมการ" ที่เขาตั้ง สามารถกำหนดให้ 24 มิถุนายน กลับไปเป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" หรืออะไรทำนองนั้นก็ได้ การเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงนี้ ไม่มีการให้เหตุผลประกอบใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับเหตุผลที่ "คณะกรรมการ" ให้ว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยทั่วไปถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันชาตินั้น ก็ไม่จริงเสมอไป กรณีเดนมาร์ก ซึ่ง "คณะกรรมการ" ยกเป็นตัวอย่าง ฉลองวันชาติในวันที่ 5 มิถุนายน โดยถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1849 ได้รับการรับรองครั้งสุดท้าย เมื่อ 5 มิถุนายน 1953 (ปัจจุบัน เบลเยียม สเปน สวีเดน ซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ก็ไม่ได้ฉลองวันพระราชสมภพในฐานะวันชาติแต่อย่างใด)

และคงจะจำได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กรกฎาคม องค์ประธาน "คณะกรรมการ" ที่เสนอให้เปลี่ยนวันชาติของสฤษดิ์ กรมหมื่นนราธิปฯ สมัยมีพระยศเป็น "หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร" ทรงกล่าวเองว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน"

น่าเสียดายว่า ถึงปี 2503 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้กลายเป็นการจดบันทึกแบบสรุปด้วยภาษาราชการล้วนๆ ไม่มีการบันทึกอีกต่อไปว่า ใครพูดอะไรจริงๆ บ้างแม้แต่น้อย

กรณีการเปลี่ยนวันชาตินี้ผู้เขียนอ่านพบว่า ได้รับการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2503 ซึ่งเป็นการประชุม "ครั้งพิเศษ" ที่ "บ้านรับรองเขาสามมุข บางแสน จังหวัดชลบุรี" (สฤษดิ์ชอบไป "พักผ่อน" ที่นั่น) โดยเป็นวาระที่ 11 ในการประชุมครั้งนั้น ภายใต้หัวข้อ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย

บันทึกการประชุมวาระนี้ เริ่มต้นว่า "ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเรื่องวันชาตินั้น บัดนี้ คณะกรรมการรายงานว่า ได้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า..."

จากนั้นเป็นข้อความแบบเดียวกับย่อหน้าที่ 2 และ 3 ของประกาศยกเลิก 24 มิถุนายนเป็นวันชาติข้างต้น แล้วตามด้วยการบันทึก "มติ" ว่า ที่ประชุม "เห็นชอบด้วยให้ยกเลิก...." ซึ่งตรงกับข้อความในย่อหน้าที่ 4 โดยมีข้อความในวงเล็บต่อท้ายว่า "มีแก้ถ้อยคำในร่างประกาศฯเล็กน้อย" สรุปแล้ว ส่วนที่บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ต่างจากตัวประกาศ ก็เพียงย่อหน้าแรกสุดของประกาศที่อ้างว่าการเอา 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ "มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ" และมีประชาชนและหนังสือพิมพ์เรียกร้องให้พิจารณาใหม่

ผู้เขียนยังค้นไม่พบว่า ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีของสฤษดิ์ได้ประชุมพิจารณาเรื่องวันชาติและมีมติให้ตั้ง "คณะกรรมการ" ชุด "เสด็จในกรมฯ" ตั้งแต่เมื่อไร

[Top]

 มติชน, วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307, หน้า 13  

  บรรณารักษ์ห้องสมุด "ทักษิณ ชินวัตร" เปิดโลกทรรศน์ ครม.  

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำหนังสือให้ ครม.และคนรอบตัวอ่าน โดยหนังสือเหล่านี้ได้สะท้อนถึงวิธีคิดและการทำงานในสไตล์ "ทักษิณ" ที่มักจะ "คิดใหม่ ทำใหม่" และ "คิดนอกกรอบ"

As The Future Catches You หรือ "เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ" เป็นหนังสือเล่มแรกที่นายกฯทักษิณแนะนำในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2545 ซึ่งสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากจนมีการนำมาแปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้เขียนโดย "ฮวน เอ็นริเก้" มีเนื้อหากล่าวถึงการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่รวดเร็วมาก โดยชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี 3 อย่างที่ครอบงำโลกอยู่และหลายคนยังไม่รู้ตัว นั่นคือ ดิจิตอล เทคโนโลยี, จีโนมมิกส์ และ นาโน เทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีทั้งสามนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในทศวรรษอันใกล้นี้ รวมทั้งส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ เป็นอันมาก ดังนั้น ปัจจัยที่จะมีผลต่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศจึงมีมากกว่าเรื่องการศึกษา ประชาธิปไตย ความสามารถในการแข่งขัน การเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้คน แต่ยังประกอบด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย

นอกจากการแนะนำในที่ประชุมแล้ว ทักษิณยังแนะนำ As The Future Catches You ให้ผู้ที่มาร่วมงานวันเกิด 54 ปีร่วมกับหนังสืออีก 4 เล่ม คือ Rethinking the Future, จากคนตัวใหญ่ สู่ใจดวงน้อย หนังสือที่รวบรวมวิสัยทัศน์แนวคิดเรื่องการศึกษาและศาสนาของ พ.ต.ท.ทักษิณ จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ, Future of Asia และปาฐกถาพิเศษ แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน โดยทั้ง 5 เล่มนี้ พรรคไทยรักไทยได้เสนอรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์ของพรรค www.thairakthai.or.th\book.html

นายกฯบอกว่า ให้อ่านให้ครบเพื่อปรับกระบวนทัศน์ทางความคิดให้ทันกระแสโลก โดยต้องอ่าน Rethinking the Future เป็นเล่มแรก เพราะคำว่า Rethinking เป็นที่มาของสโลแกนพรรคที่ว่า "คิดใหม่ ทำใหม่" โดยหนังสือเล่มนี้จะช่วยปรับกระบวนทัศน์ทางความคิดทุกมิติเพื่อให้เข้าใจว่า โลกเปลี่ยนไป กระบวนทัศน์ทางความคิดก็ต้องเปลี่ยนไป Rethinking the Future จะทำให้รู้ว่าเรื่องใดที่คิดเก่าก็ต้องให้คิดใหม่ แต่ถ้ายังกระแทกความคิดไม่ได้ ต้องเอาเล่มที่สองคือ As The Future Catches You

นอกจากนี้ ยังหนังสืออีกหลายเล่มที่ พ.ต.ท.ทักษิณแนะนำในหลายโอกาส อาทิ The Mystery of Capital โดย "เฮอร์นันโด เดอ โซโต" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน Lateral Thinking โดย "เดอ โบโน" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรู้จักคิดออกนอกกรอบ ไม่ยึดติดกรอบจนกลายเป็นอุปสรรคการทำงาน Business@The Speed of Thougth โดย "บิลล์ เกตส์" ที่จะช่วยฝึกการเลือกใช้ข้อมูล การกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักให้สร้างความสามารถเชิงการแข่งขัน The New Leaders โดย แดเนียล โกลแมน ผู้เขียนที่ทำให้โลกรู้จักคำว่า อีคิว เขียนร่วมกับริชาร์ด โบแอตซิส และแอนนี แม็กคี

17 ธันวาคม 2545 นายกฯทักษิณแนะนำหนังสือ Execution: The Discipline of Getting Things Done โดย Larry Bassidy และ Ram Charan ในที่ประชุม ครม.ว่า เป็นหนังสือทางธุรกิจที่เขานำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานและเป็นขั้นตอน นำเอาสิ่งที่คิดฝันไปปฏิบัติให้เป็นความจริง นำมาบอก ครม. เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของซีอีโอ ทุกคนมีหน้าที่ต้องวางเป้าหมายและทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมาย การทำงานให้เป็นผลสำเร็จถือเป็นหัวใจของการทำงานที่แท้จริง

และในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ต.ท.ทักษิณยกหนังสือ "What the Best CEOs Know: 7 Exceptional Leaders and Their Lessons for Transforming any Business" ที่เขียนขึ้นโดย Jeffrey A. Krames ขึ้นมาประกอบวาระ ครม.เรื่องผู้ว่าฯซีอีโอ

จากนั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม แนะนำ "Winning the Merger Endgame: A Playbook for Profiting From Industry Consolidation" เขียนโดย Graeme K. Deans, Fritz Kroeger และ Stefan Zeisel เนื้อหาแนะนำถึงการรวมภารกิจทั้งหมดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ แนะนำผู้บริหารต้องดูที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่เหมาะสม คือต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเอื้ออำนวยให้แก่วงการอุตสาหกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างเหมาะสม

Nano Custom แนะนำเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ซึ่งนายกฯบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าติดตาม เพราะถือเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ โดยช่วยย่อยข้อมูลจากห้องสมุดใหญ่ๆ มาอยู่ในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร เป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่ควรศึกษา

ตามมาด้วย IT is Alive ที่แนะนำเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม โดย คริสโตเฟอร์ เมเยอร์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทุกอย่างเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ดังนั้น จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัย โดยเป็นการเน้นย้ำถึงเทคโนโลยีที่สำคัญคือ โมลิกูลาเทคโนโลยี ที่ประกอบด้วย นาโนเทคโนโลยี, ไบโอเทคโนโลยี และแมตทีเรียลเทคโนโลยี โดยในทุก 10 ปีข้างหน้าจะมีอัตราเร่งทางเทคโนโลยีจะเร็วมากขึ้น 2 เท่าของในอดีต ดังนั้น อย่าคิดวางแผนให้สมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ต้องมีความเร็วด้านการบริหารจัดการด้วย รวมทั้งการดูแลบริหารส่วนล่าง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ต.ท.ทักษิณแนะนำหนังสือให้แก่ ครม.อีก 2 เล่มคือ "พุทธทาสทางการเมือง" ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้เขียนและเคยนำไปปาฐกถาเมื่อครั้งตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ได้ศึกษาธรรมะจากหนังสือของท่านพระพุทธทาสแล้วเห็นว่า เป็นหลักปรัชญาชั้นสูง จะทำความเข้าใจได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจแล้วนำมาปฏิบัติจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตได้อย่างมาก ทำให้ปล่อยวางเรื่องต่างๆ ได้มาก ถ้าไม่มีหลักธรรมะดังกล่าวยึดเหนี่ยว การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย คงไม่ลุล่วงมาได้ถึงทุกวันนี้

อีกเล่มชื่อ Leading at the Speed of Growth : Journey from Entrepreneur to CEO โดย Katherine Catlin คือให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างรวดเร็ว โดยรายละเอียดในหนังสือจะกล่าวถึงการตั้งองค์กรใหม่ๆ ที่จะต้องมีผู้นำที่เป็นผู้กระทำเอง และเป็นคนที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในองค์กร เมื่อองค์กรพัฒนาไปอีกขั้นก็จะเป็นผู้ที่มอบหมายงานให้ผู้อื่นไปปฏิบัติ และเมื่อพัฒนาต่อไปก็จะเป็นผู้กำหนดทิศทางองค์กรว่าจะไปในทิศทางใด

ต่อจากนั้น จะเป็นการสร้างทีมงานขึ้นมาสานต่อในงานให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้ เป็นคนคอยแนะนำ และเป็นผู้วางแผนให้องค์กรในการก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้ติดต่อสื่อสารให้แก่องค์กร เป็นผู้เร่งการเปลี่ยนแปลงขององค์กร รวมถึงการเป็นผู้สร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากบริหารองค์กรอย่างเป็นระบบก็จะทำให้องค์กรพัฒนาและเข้มแข็ง อีกทั้งยังสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาได้

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า