banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 16 ก.พ. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ประชาชาติธุรกิจ, 16 กุมภาพันธ์ 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3558 (2758), หน้า 37  

   เมืองใหม่ในสายตาชินแส - รายงาน

เรื่องราวของการย้ายเมืองหลวง หรือย้ายราชธานีนั้นเป็นเรื่องที่อ่านพบได้บ่อยๆ ในประวัติ ศาสตร์ภูมิภาคแถบนี้ นับตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ฮั่น หรือสมัยสามก๊ก ที่พระเจ้าเลนเต้ย้ายเมืองหลวงเป็นว่าเล่น สุดแต่ว่าใครขึ้นบริหารราชการแผ่นดิน จะมีซินแสหรือที่ปรึกษาคู่ใจคอยชี้แนะว่าที่ใดเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน บางราชวงศ์เลือกเมืองหลวงโดยเหตุที่ชัยภูมิอยู่ใจกลางประกาศ การคมนาคมสะดวก เช่นเมืองหลวงสมัยราชวงศ์ถัง ถึงกลับมีคำถามว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่ซีอาน" สมัยราชวงศ์ซ้อง ก็ย้ายเมืองหลวง หนีการรุกรานของพวกกิมก๊ก เป็นต้น

ย้อนมาดูประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรา มีการย้ายเมืองหลวงที่สำคัญและน่าสนใจ ตั้งแต่สมัยล้านนา โดย พระเจ้าเม็งรายมหาราช

พระเจ้าเม็งรายที่เรารู้จักว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งแคว้นล้านนา ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ ลวจักราช แห่งแคว้นหิรัญ นครเงินยาง (บริเวณแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน) พระองค์ทรงแผ่พระราชอำนาจลงมาถึงเมืองหริภุญชัย คือ เมืองลำพูนปัจจุบันในปี พ.ศ.1824

ก่อนที่พระองค์จะย้ายราชธานีมายังนครเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางราชธานีของแคว้นล้านนานั้น ทรงประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม นับเป็นเมืองหลวงชั่วคราว เพื่อสำรวจภูมิประเทศที่เหมาะสม และดูทำเลที่ตั้งที่จะสถาปนาราชธานีโดยสมบูรณ์ต่อไป ระยะแรกทรงทำให้เวียงกุมกามเป็นศูนย์กลางก่อน โดยมีการสร้างเวียงวัง วัดวาอาราม โดยมีหลักฐานโบราณคดีให้เห็นในปัจจุบัน ทรงขยายอาณาเขต ทั้งทางสงคราม และทางการทูต ตลอดจนมีการค้าขายกับดินแดนใกล้เคียง พร้อมกับการอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร์ ออกกฎ หมายแบบจารีตที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ เพื่อ ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอย่างเสมอภาค ผู้คนพลเมืองประกอบสัมมาอาชีพและทำบุญสุนทาน ทั้งส่งเสริมเกษตรกรรมทดน้ำแบบเหมืองฝายนั่นคือ ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งของเวียงกุมกาม

หลังจากที่มีประชาชนจำนวนมากอพยพมาสู่เวียงกุมกามแล้ว ในปี พ.ศ.1839 จึงทรงพระราชดำริที่จะย้ายเมืองไปก่อตั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ต่อไป

ในการสร้างนครเชียงใหม่ ในพงศาวดารโยนกมีข้อความรายละเอียดที่เห็นนิมิตรมงคล 7 ประการ และสามในเจ็ดประการนั้นเกี่ยวพันกับทางน้ำ ทะเล และชัยภูมิทั้งสิ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์ขนาดของเมืองก็เป็นไปโดยรอบคอบประกอบไปด้วยความเห็นของมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์พระร่วง ผู้เป็นพระสหายสนิทของพระองค์ว่า การกำหนดขนาดของเมืองนั้น ควรเป็นไปด้วยเหตุสองประการคือ

กาลสุข และกาลวิบัติ ถ้าหากขนาดของเมืองไม่ใหญ่เกินไป เป็นการง่ายต่อการทำนุบำรุงดูแลรักษาให้เจริญ เมื่อถึงกาลวิบัติ ก็ป้องกันดูแลได้ง่าย ควบคุมให้เข้มแข็งได้ทุกทาง

เมื่อกำหนดขนาดของเมืองได้แล้วถึงใช้หลัก "ทักษาเมือง" ซึ่งจะสัมพันธ์กับดวงเมือง คำว่า "ทักษา" เป็นระบบโหราศาสตร์เก่าแก่ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของอัฐเคราะห์คือ ดาว อาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวเสาร์ ดาราหู และดาวศุกร์ ตามลำดับ นำมาจัดเข้าระเบียบเป็นบริวารเมือง อายุเมือง ศรีเมือง มูลเมือง อุตสาหะเมือง มนตรีเมืองและกาลกิณีเมือง โดยเวียนขวาไปตามทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ

จะจริงหรือไม่ ก็ต้องดูความเจริญของนครเชียงใหม่ที่ยืนยาวนานมาถึงปัจจุบันนับได้ก็ 700 ปี

ครั้งสมัยอยุธยาก็มีการย้ายเมืองหลวงจาก "อโยธยา" เดิม มาตั้งยังกรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้าอู่ทองในปี พ.ศ.1893 ทั้งนี้ขอคัดข้อความจากหนังสือ "พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง" ของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ดังนี้

"โรคระบาดที่เรียกรวมว่า "โรคห่า" มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสมัยโบราณ ประชาชนในสมัยก่อนย่อมรู้จักดี โดยหาทางขจัดการระบาดของโรคนี้ได้โดยการย้ายที่อยู่ใหม่ และเหตุที่บริเวณเมืองอโยธยาเดิมมีผู้คนล้มตายมาก ไม่เป็นมงคลในการกลับไปอยู่อีก จึงเลือกหาที่ที่เหมาะสมกว่าสร้างพระนครใหม่ขึ้นแทน คือ หนองโสน บริเวณนี้เป็นที่ดอนใหม่ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านตะวันตก และด้านใต้ แม่น้ำลพบุรีไหลผ่านทางด้านเหนือทำหน้า ที่เป็นคูเมืองธรรมชาติได้ดี เมื่อสร้างพระนครแล้วก็ขุดคูพระนครขึ้นอีกด้านเดียวคือ ด้านตะวันออก"

ก่อนที่พระองค์จะสร้างพระราชวังที่บริเวณหนองโสนนั้น ทรงประทับอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็ก คือ ที่ตั้งของวัดพุธไธสวรรค์ปัจจุบัน อู่สามปี และหนองโสนบริเวณที่ทรงตั้งพระราชวังและสถาปนาเป็นราชธานีนั้นมีชัยภูมิที่เหมาะสมเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองขนาดกลางตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี อุดมสมบูรณ์ทั้งเป็นชุมทางการค้าขายทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ในตำแหน่งปากทางของสุโขทัย ทรงวางรูปทรงของพระนครเป็นรูปเรือสำเภา โดยขุดคูคลองจากแม่น้ำถึงแม่น้ำ และวางดวงเมืองมีลัคนาอยู่ราศีพฤษภในกลุ่มดาวโรหิณี ภูมิปาโลฤกษ์ อันเป็นฤกษ์ที่เข้มแข็งที่สุด ทำให้อยุธยาเป็นราชธานีถึง 400 ปี

การย้ายเมืองหลวงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องที่น่าตระหนกตกใจ ที่ควรคำนึงถึงควรเป็นเรื่องของวิธีการมากกว่า นับตั้งแต่เหตุผลของการย้าย การเลือกทำเลที่เหมาะสม งบประมาณขนาดของเมืองช่วงเวลาที่เหมาะสม การทำให้ผู้คนยอมรับ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยธรรมชาติ การวางแผนระยะยาวมีลำดับขั้นตอนของการย้ายโดยลำดับ ตลอดจนภาคพิธีกรรม การวางฤกษ์ วางดวงชะตาเมือง ที่สร้างขวัญกำลังใจทั้งความมั่นใจ ซึ่งหมายถึงความพร้อมเพรียง และการยินยอมพร้อม ใจของประชาชน เหมือนกับที่พญาเม็งราย สถาปนานครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณา จักรล้านนา หรือพระเจ้าอู่ทองสถาปนา กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผิดกับการย้ายเมืองหลวงของพระเจ้ามินดุง

แม้พระองค์จะสร้างวัดมากเพียงไร มีพระ ทัยใฝ่ในธรรมสร้างพระราชกุศลตลอดรัชกาล ราชธานีนั้นก็อยู่ได้เพียง 28 ปีก่อนจะถึงความเสื่อมในที่สุด

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า