banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 19 ม.ค. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ประชาชาติธุรกิจ, 19 มกราคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3550 (2750), หน้า 36  

   เปิดโมเดลเมืองใหม่ "นครนายก" เจาะลึกพื้นที่ไข่แดง 5.8 หมื่นไร่ - รายงาน

ในที่สุดโครงการเมืองใหม่นครนายก เมืองในฝันของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อใช้เป็นเมืองใหม่รองรับการขยายตัวของคนกรุงเทพฯ เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นทุกขณะ ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นไป

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอ

โดยให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะสำรวจ เพื่อวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ และร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อจัดทำโครงการ เมืองใหม่

วัตถุประสงค์เพื่อเปิดช่องให้กรมโยธาฯสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่ ลงสำรวจพื้นที่จริงในพื้นที่ที่ตีกรอบไว้ ก่อนจะกันพื้นที่บางส่วนที่ประกาศ พ.ร.ฎ.ครอบ คลุมไว้มากถึง 2.5 แสนไร่ออก เพราะพื้นที่เป็นจุดไข่แดงสร้างเมืองใหม่จริงๆ เพียงแค่ 5.8 หมื่นไร่ (ดูแผนที่จุดสีชมพู)

ซึ่งจำแนกออกเป็นที่ ส.ป.ก. 20,000 ไร่ ที่เหลือเป็นที่ราชพัสดุ น.ส.3 ที่ดินมีโฉนดและที่ชาวบ้านบุกรุก ซึ่งจะใช้งบฯเวนคืนไม่มาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของทางราชการอยู่แล้ว

จากการสำรวจในเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าจะมีบ้านเรือนที่ถูกเวนคืนประมาณ 20,000 ครัวเรือน

ส่วนงบประมาณเวนคืนอยู่ระหว่างให้กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน แต่ราคาซื้อขายจะเป็นราคาที่ พ.ร.ฎ.ประกาศใช้ เป็นการป้องกันไม่ให้มีการปั่นราคาที่ดินแพงเกินจริง

โดยเจ้าของที่ดินที่ในแนวเขตสำรวจเพื่อที่จะเวนคืนที่ดินนั้น สามารถซื้อขายที่ดิน เปลี่ยนมือได้ แต่ไม่สามารถประกอบกิจการหรือก่อสร้างอาคารใดๆ ได้ ที่ส่งผลกระทบต่อผังเมืองหรือสิ่งแวดล้อม

ถ้าจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้มีการพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง

ชะอม-เขาเพิ่มแจ็กพอต

จุดไข่แดงต้องเวนคืน

ตามแนวเขตสำรวจที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ จะคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีทั้งหมด 11 ตำบล

แต่พื้นที่ที่จะเวนคืนจริงๆ มีอยู่ 7-8 ตำบล หลักๆ เป็นตำบลชะอมและตำบลเขาเพิ่ม ส่วนตำบลที่เหลือจะมีการเวนคืนเพียงบางส่วนเท่านั้น

จากคำยืนยันของ "สว่าง ศรีศกุน" อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จะไม่มีการเวนคืนเขตอำเภอบ้านนาและวิหารแดง แต่ที่ตีกรอบสำรวจไว้ให้ครอบคลุมถึง

เพื่อต้องการปรับปรุงสภาพของชุมชนเมืองบริเวณใกล้ๆ กับเมืองใหม่ ให้มีระบบสาธารณูป โภคที่ดี สอดรับกับเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะในอนาคตจะกำหนดพื้นที่เขตอำเภอวิหารแดงและบ้านนา ให้เป็นเมืองบริวารของเมืองใหม่นครนายกอีกที

สำรวจ 3 เดือนก่อนเวนคืนที่ดิน

ปี"48 วางศิลาฤกษ์

"เราจะใช้เวลา 3 เดือนในการสำรวจ โดยจะจ้างคนเพิ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว เพื่อสำรวจ กำลังดูอยู่ว่าจะใช้จำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็จะเวนคืน ทำแผนที่ ทำผังเมือง เพื่อกำหนดรายละเอียดการพัฒนา ว่าจะพัฒนาเป็นอะไร อยู่บริเวณไหน

อาทิ ศูนย์การค้า ศูนย์ไอที ย่านที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ ย่านพาณิชย์ ย่านอุตสาหกรรมสะอาด ศูนย์ประชุม โรงเรียน เป็นต้น" นายสว่างกล่าวและว่า

ภายในปีนี้ทุกอย่างจะเห็นเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดมากขึ้น ทั้งการเวนคืน การจัดทำแผนที่ รายละเอียดผังการพัฒนา และวางศิลาฤกษ์ได้ในปี 2548 และจะใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 8 ปี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้

เนื่องจากต้องการให้เมืองใหม่แล้วเสร็จในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระ ชนมพรรษาครบ 7 รอบ หรือ 84 พรรษา

เป็นเมืองสวรรค์สงบเงียบ ร่มรื่น สะอาด ปลอดมลพิษ ไม่มีมลพิษ การจราจรไม่แออัด

ซึ่งภายในเมืองจะรองรับคนเข้าไปอยู่อาศัยได้ประมาณ 250,000 คน แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีคนไปอยู่ประมาณ 10,000-20,000 คน

เหมือนกับเมืองใหม่ที่ไปดูจากประเทศมาเลเซีย โดยคนจะทยอยเข้าไปอยู่อาศัย กว่าจะเต็มคงจะใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี อย่างของทามะเองใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ

เตรียมของบฯ 39 ล้านบาท

สำรวจ-แผนผัง-ตั้ง สนง.เมืองใหม่

นายสว่างกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำแผนดำเนินการโดยของบประมาณจากส่วนกลางประมาณ 39 ล้านบาทไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

งบประมาณก้อนดังกล่าวนี้จะนำมาใช้จ่ายในการสำรวจและวางผัง ซึ่งกรมจะดำเนินการเอง จะไม่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เนื่องจากอาจจะทำให้ขั้นตอนต่างๆ ล่าช้าออกไปอีก เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี จึงต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

"เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว กรมโยธาฯมีแผนจะจัดตั้งสำนักงานเมืองใหม่ขึ้นมาดูแลโครงการนี้โดยเฉพาะ มีบุคลากรประมาณ 20-30 คน และจะมีการทำโมเดลจำลองเมืองใหม่ในอนาคตไว้ให้ดู" นายสว่างกล่าว

ผุดมอเตอร์เวย์-รถไฟความเร็วสูง

เชื่อมเมืองใหม่-กรุงเทพฯ

พื้นที่ภายในเขตสำรวจและเขตที่จะจัดทำเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ จะเป็นทำเลที่มีถนนสาย 305 จากรังสิต ผ่านอำเภอบ้านนา และสายอำเภอบ้านนา-แก่งคอย ซึ่งเป็นถนนเมนหลักผ่าน จึงไม่ต้องสร้างถนนสายหลักตัดใหม่ แต่ต้องสร้างถนนสายรองที่ใช้ในการสัญจรภายในเมืองใหม่อีกจำนวนหนึ่ง

ตามผลการศึกษาโครงข่ายการจราจรเพื่อรองรับเมืองใหม่ ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้และนำเสนอให้รัฐบาลได้พิจารณา มีหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมจากถนนรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก-เมืองใหม่-โคราช โครงการรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ มายังเมืองใหม่และเข้าโคราช รวมถึงโครงการไฮเวย์เชื่อมองครักษ์คลอง 4 ไปเมืองใหม่

ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองใหม่สามารถเดินทางไปกรุงเทพฯได้ภายในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 1 ชั่วโมง จึงต้องสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและสำรวจ ว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการเท่าไหร่

จึงทำให้ตัวเลขที่จะใช้ลงทุนในการเนรมิตเมืองใหม่นี้ ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ไม่เกินปีนี้จะได้รู้สักที เมืองใหม่ในฝัน เมืองสวรรค์ของชาวบ้านนา รูปร่างหน้าตาจะออกมาเป็นยังไง

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า