banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 15 ม.ค. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ประชาชาติธุรกิจ, 15 มกราคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3549 (2749), หน้า 4  

   "ทักษิณ"ปั้นอีก4เมืองใหม่ คุมจ.นครนายก2.5แสนไร่

"ทักษิณ" เล็งสร้างเมืองใหม่อีก 4 ทำเลรอบ กทม. ส่วนเมืองใหม่นครนายกโครงการนำร่องฉลุย ออก พ.ร.ฎ. 2 ฉบับรวด เปิดทางกรมโยธาธิการและผังเมืองลงสำรวจ และเตรียมเวนคืน 2.5 แสนไร่ "บ้านนา-วิหารแดง-แก่งคอย" แจ็กพอต กระทบ 2 หมื่นครัวเรือน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าไปมาก มีจำนวนประชากรมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ต้องพิจารณาหาพื้นที่ขยายเมืองและสร้างเมืองใหม่เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจะหาพื้นที่ลักษณะเดียวกับที่ จ.นครนายก โดยรอบกรุงเทพมหานครอีก 4 พื้นที่เป็นอย่างน้อย เพื่อพัฒนารูปแบบเมืองให้เป็น satellite town ในระยะต่อไป โดยให้โครงการที่นครนายกเป็นโครงการนำร่อง

ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการเมืองใหม่ ได้รายงานความคืบหน้าพร้อมขออนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อการเวนคืนที่ดิน และพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งเมืองใหม่ เพื่อเปิดทางให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้าไปสำรวจพื้นที่จำนวน 2.5 แสนไร่ ในบริเวณ อ.บ้านนา จ.นครนายก อ.วิหารแดง และ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมทั้งหมด 11 ตำบล ก่อนที่จะกำหนดพื้นที่สร้างเมืองใหม่จำนวน 5.8 หมื่นไร่ รองรับประชาชน 3.5 แสนคน

นายวิษณุรายงานว่า จ.นครนายก ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สร้างเมืองใหม่เพราะมีจุดแข็งประกอบด้วย ใช้เวลาเดินทางจาก กทม.เพียงแค่ 1 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทาง 93 กิโลเมตร ห่างจากสระบุรี 37 กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมหลายรูปแบบ มีพื้นที่ว่างมากพอ มีประชากรน้อย เป็นพื้นที่อยู่อาศัยใกล้เมืองหลวง สะอาด ไม่มีอุตสาหกรรมที่เป็นมลพิษ มีธรรมชาติสวยงาม มีพื้นที่หลายระดับ ทั้งภูเขา น้ำตก ลุ่มน้ำ เป็นแหล่งธุรกิจ สามารถสร้างเป็นเมืองไอที ธุรกิจการเงิน มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หอประชุมนานาชาติ ศูนย์ราชการเท่าที่จำเป็น โรงแรม และศูนย์แสดงสินค้า ฯลฯ ได้

สำหรับวิธีการจัดหาที่ดินเพื่อสร้างเมืองใหม่ จะใช้วิธีการเวนคืน ซื้อจากประชาชน และดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดรูปที่ดิน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา หรืออาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนที่ดินกับเอกชน ซึ่งหลังจากมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการการสำรวจศึกษาและออกแบบ พร้อมทั้งจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมืองใหม่ขึ้น เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย โดยเจ้าของที่ดินเดิมสามารถซื้อ-ขายและเช่าที่ดินได้ตามปกติ แต่หากดำเนินกิจการที่จะกระทบกับระบบผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ต้องแจ้งหรือขออนุญาตจากทางการก่อน เช่น การสร้างโรงงาน การสร้างอาคารสูง อาคารชุด

ส่วนราคาที่จะใช้ในการเวนคืนจะใช้ราคา ณ วันที่พระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหากไม่มีการดำเนินการจะหมดอายุบังคับใช้ใน 4 ปี จากนั้นจะต้องออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่

ในการดำเนินการ คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 1-2 หมื่นครอบครัว เนื่องจากพื้นที่บางส่วนของเมืองใหม่อยู่ในเขตเทศบาลบ้านนา และเทศบาลวิหารแดง

นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในจำนวนที่ดิน 5.8 หมื่นไร่ที่จะเป็นที่ก่อสร้างเมืองใหม่ อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ประมาณ 2 หมื่นไร่ ส่วนในพื้นที่ที่จะประกาศครอบคลุมนอกเหนือจาก 5.8 หมื่นไร่ อยู่ในเขต ส.ป.ก.ประมาณ 1 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 6 พันไร่ที่อาจจะต้องกันเป็นพื้นที่แนวเขตเมืองใหม่

[Top]

 ฐานเศรษฐกิจ, ปีที่ 24 ฉบับที่ 1,870 วันที่ 15-17 มกราคม 2547  

   ครม.สั่งเวนคืนที่ดินเมืองใหม่ 5.8 หมื่นไร่

"ทักษิณ" สั่งเดินหน้าเวนคืนที่ดินสร้างเมืองใหม่นครนายกภายใน 3 เดือน หลัง ออกพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ กำหนด แนวเวนคืนกินบริเวณ "อ.บ้าน นา- อ.วิหารแดง-อ.แก่งคอย" เนื้อที่ 5.8 หมื่นไร่ ลั่นหากสำเร็จผุดต่อเมืองใหม่ 4 มุมเมืองรอบกทม.

ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เสนอข่าวเมืองใหม่บ้านนา โดน "น็อก" รัฐสั่งที่ดินห้ามซื้อ-ขายตีพิมพ์ฉบับที่ 1,839 วันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2546 และข่าวอินไซเดอร์เมืองใหม่บ้านนาปั่นที่ดินรอบนอกพุ่ง 5 เท่า ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 5-8 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดนายสว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในวันนี้ ( 13 มกราคม 2547) คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบและมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะรวม 2ฉบับ คือ เพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ และกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บางส่วนของอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และบางส่วนของอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อก่อสร้างโครงการใหม่ โดยมีเนื้อที่ 250,000 ไร่ ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบที่อยู่อาศัยประชาชนไม่มากนัก เพราะที่ดินดังกล่าวมาจาก สปก.ติดกับป่า อุทยานและเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อยู่เบาบางมาก อย่างไรก็ดีหลังจากประกาศเขตสำรวจแล้วอีกประมาณ 3 เดือนจะดำเนินการเวนคืนที่ดินแน่นอน โดยให้กรมที่ดินสำรวจและเวนคืน เนื่องจากตัวระวางแผนที่และตัวโฉนดอยู่ที่กรมที่ดิน เป็นจำนวนมากซึ่งสามารถจำแนกได้ว่าเป็นที่ราชพัสดุ สปก. โฉนด นส.3 กี่แปลงฯลฯ คาดว่ากลางปีนี้น่าจะแล้วเสร็จ และเริ่มจัดทำแผนที่ จากนั้นจะเป็นการวางผังในแผนที่ซึ่งต้องมีอาณาเขตที่แน่นอนว่าแผนที่อ้างอิงได้ถูกต้อง

อย่างไรก็ดีพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างเมืองใหม่จริงๆหรือเขตไข่แดงจะมีเนื้อที่เพียง 58,000 ไร่ ที่ถูกกำหยดให้เป็นย่านพาณิชย์ ย่านที่อยู่อาศัย ย่านอุตสาหกรรมสะอาด ย่านประชุม โรงเรียน มหาวิทยาลัยศูนย์ราชการ ส่วน พื้นที่รอบนอก จำนวน200,000 ไร่หรือพื้นที่ไข่ขาว จะกำหนดเป็นอาณาเขตโดยรอบของเมืองที่จะขยายไปในอนาคตหรือว่าเป็นขอบของเมือง เพื่อรองรับสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมครม.ว่า เมืองใหม่ดังกล่าวมีระบบผังเมืองเรียบร้อยเพื่อจะเป็นแนวทางในการขยายตัวของเมืองในต่างจังหวัดต่อไปในอนาคตเพราะคาดว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี บ้านเมืองจะพัฒนามากมายและจำนวนประชากรที่มีมากขึ้นในเมืองใหญ่ ยิ่งคนอยู่มากขึ้นมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะมีเมืองใหม่รอบๆกทม.อย่างน้อย 4 มุมเมือง ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญ คิดว่าหลายฝ่ายพยายามทำการบ้านกันมานาน เป็นแนวที่ พจยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานรองนายกที่กำดูแลการสร้างเมืองใหม่ กล่าวว่า กรมโยธาธิการได้เข้าไปสำรวจในที่ดินจำนวน 250,000 ไร่ เพื่อจัดทำผังเมืองและกำหนดแนวเขตที่จะเวนคืจริงซึ่งคาดว่าจะเวนคืนที่ดินจริงไม่มากพื้นที่ที่เหลือก็จะถูกกันออกไป อย่างไรก็ดี แม้พ.ร.ฎ 2ฉบับจะมีผลบังคับใช้ แต่เจ้าของที่ดินทุกแปลงยังคงซื้อ-ขายหรือให้เช่าที่ดินได้เช่นเดิม เพียงแต่การประกอบกิจการบางอย่างที่มีผลกระทบต่อผังเมืองหรือสิ่งแวดล้อมจะต้องแจ้งหรือถูกควบคุมหรือไม่เช่นนั้นจะต้องขออนุญาติทางก่อน เช่นอาจจจะสร้างโรงงาน หรืออาคารชุดที่มีความสูง เกินที่ทางการกำหนดไม่ได้ นอกจากนี้หากมีการเวนคืนที่ดินในส่วนเหล่านี้จริงจะใช้ราคาประเมินที่ดินในวันที่พ.ร.ฎผลใช้บังคับใช้ โดยพ.ร.ฎดังกล่าวจะมีอายุ 4 ปี ถ้าครบ 4 ปียังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้จะพิจารณาออกใหม่ ดังนั้นร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ จะใช้ตามอำนาจตามกฎหมายผังเมืองและกฎหมายเวนคืนให้ทางราชการเข้าไปสำรวจและเป็นการตรึงราคาไว้และจะได้ดำเนินการสำรวจและเป้นการตรึงราคาไว้และจะได้ดำเนินการสำรวจ ศึกษาทำแผนที่โดยละเอียดต่อไปเมือ่ได้ความว่าต้องใช้เนื้อที่ บริเวณใดจำนวนเท่าไร ก็จะนำเสนอครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนที่เป็นตัวพื้นที่เมืองใหม่ 58,000 ไร่ เป็นพื้นที่สปก. อยู่ 20,000 ไร่ ในไข่ขาวมีพื้นที่สปก.อยู่10,000 ไร่ ใน 30,000 ไร่ที่เป็นเขตสปก.จัดสรรสิทธิเพียงแค่ 6,000 ไร่เท่านั้น

ส่วนนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้วางแผนจัดวางโครงข่ายจราจรเชื่อมระบบขนส่งมวลชนระหว่างกทม.และเมืองใหม่จังหวัดนครนายกไว้แล้ว ได้แก่ มอเตอร์เวย์เชื่อมด่วนรามอินทรา-นครนายก-โคราช รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ บ้านนา-โคราช ไฮเวย์เชื่อมองค์รักษ์คลอง 14 บ้านนา รถไฟ คลอง19-บ้านภาชี ฯลฯ

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า