banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 14 ม.ค. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

  ข่าวสด, วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2547 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4794, หน้า 10  

   ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินนครนายก

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ประชุมครม.ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะสำรวจเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อจะทำโครงการเมืองใหม่ (นครนายก)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดเขตและสำรวจที่ดินในการก่อสร้างเมืองใหม่ จำนวน 2.5 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอได้ แก่ อ.บ้านนา จ.นครนายก อ.วิหารแดง และอ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมทั้งสิ้น 11 ตำบล ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ก่อสร้างเมืองใหม่เพียง 5.8 หมื่นไร่ แต่ที่ต้องกันไว้สำหรับบริเวณโดยรอบเพื่อใช้เป็นแนวกันชน และป้องกันการบุกรุกของประชาชน แต่ระหว่างการสำรวจ เจ้าของที่ดินยังซื้อขายหรือให้เช่าได้ตามปกติ ยกเว้นจะเป็นการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องขออนุญาตจากทางราชการ

รองนายกฯ กล่าวว่า การใช้พื้นที่ดังกล่าวก่อสร้างเมืองใหม่นั้น เนื่องจากมีความเหมาะสมหลายประเด็น เช่น เส้นทางคมนาคมสะดวก ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพียง 1 ชั่วโมง ห่างจากกรุงเทพฯ 93 ก.ม. ห่างจากสระบุรี 37 ก.ม. ห่างจากนครราชสีมา 151 ก.ม. นอกจากนั้น จ.นครนายก เคยได้รับการศึกษาการพัฒนาเมืองนครนายกมาก่อนที่รัฐบาลเข้ามารับตำแหน่ง จึงคิดว่ามีความเหมาะสม

นายวิษณุ กล่าวว่า ระหว่างการสำรวจจะยังไม่มีการเวนคืนที่ดิน แต่จะเวนคืนต่อเมื่อการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว และจะใช้ราคาในขณะที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้เพียง 4 ปีเท่านั้น และสาเหตุที่ต้องออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อเป็นการสำรวจและตรึงราคา เมื่อสำรวจเสร็จสิ้นแล้วจึงจะออกแบบและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้ง

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ หนาแน่นมาก ในอนาคตประเทศไทยจะเจริญมากขึ้น มีคนเดินทางเข้ามามาก ทั้งการท่องเที่ยวและการค้า ถ้าโครงการดังกล่าวได้ผลก็น่าจะดำเนินโครงการเมืองใหม่ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 4 มุมเมืองของประเทศก็ควรมี

[Top]

 ผู้จัดการรายวัน, วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2547  

   แม้ววาดฝันทำเมืองใหม่สี่มุมเมืองของกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วานนี้ (13 ม.ค.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเมืองใหม่นครนายก ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการเมืองใหม่ เสนอ คือ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน ที่จะสำรวจเพื่อการวาง และจัดทำผังเมืองเฉพาะ และร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน ที่จะเวนคืน เพื่อทำโครงการเมืองใหม่

นายวิษณุ รายงานที่ประชุมฯ ว่า พื้นที่ที่สำรวจเพื่อทำโครงการเมืองใหม่ ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อ.บ้านนา จ.นครนายก อ.วิหารแดง และอ.แก่งคอย จ.สระบุรี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2.5 แสนไร่ จะประกาศเป็นขอบเขตการสำรวจทั้งหมด แต่พื้นที่ที่ต้องการใช้ก่อสร้างเมืองใหม่ ต้องการเพียงแค่ 5.8 หมื่นไร่

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกจ.นครนายก เพราะมีจุดแข็งคืออยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ มีเส้นทางคมนาคมหลายเส้นทาง และมีพื้นที่ว่างมากพอที่จะใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาพื้นที่ดังกล่าว มาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ ลักษณะโครงการเมืองใหม่นครนายก จะเป็นการก่อสร้างเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใกล้เมืองหลวง เป็นชุมชนที่สะอาด ไม่มีอุตสาหกรรมก่อมลพิษ อาจจะเป็นแหล่งธุรกิจไอที สถานที่ราชการจะมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นการก่อสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่

นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับแล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเข้าไปสำรวจที่ดิน 2.5 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนไม่ได้หมายความว่า จะถูกเวนคืนทั้ง 2.5 แสนไร่ แต่เป็นการสำรวจในภาพกว้างทั้งหมด ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ สปก. จึงไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนมากเท่าไร มีประชาชนได้รับผลกระทบเพียง 1-2 หมื่นคน ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านนา และเทศบาลตำบลวิหารแดง และ ร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน จะมีอายุไม่เกิน 4 ปี ถ้าหลังจาก 4 ปีไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ดินที่ถูกเวนคืนก็จะกลับไปเป็นของเจ้าของเดิม

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า การดำเนินโครงการเมืองใหม่นครนายก รัฐบาลได้ศึกษารูปแบบเมืองทามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ใช้เวลานั่งรถไฟฟ้า 30 นาที และรัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีตั้งบรรษัทขึ้นมาจัดสรรที่ดิน โดยแบ่งเป็น 4 เขต คือ เขตที่อยู่อาศัย เขตการเรียนรู้ เขตวัฒนธรรม และเขตพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังศึกษาเมือง Putrajaya ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวง โดยนั่งรถแค่ 30 นาทีเช่นกัน และพื้นที่ที่นำมาใช้ในโครงการ จำนวน 3.8 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนป่า สวนปาล์ม และสวนยางพารา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การก่อสร้างเมืองใหม่จะมีการวางระบบผังเมืองอย่างเรียบร้อย ถ้าทำสำเร็จจะเป็นการจำลองให้มีการก่อสร้างเมืองในรูปแบบเดียวกัน ให้ครบ 4 มุมเมืองรอบกรุงเทพฯ ต่อไป เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัดในกรุงเทพฯ

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า