banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 10 ม.ค. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ข่าวสด, วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2547 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4790, หน้า 22  

   ปีใหม่-เมืองใหม่
คอลัมน์ ชมตลาด โดย Khaosodhouse@yahoo.com

เริ่มปีใหม่ก็ขอพูดถึงเมืองใหม่อีกครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ว่าปีใหม่เราจะมีเมืองใหม่ที่นครนายก ขณะนี้กำลังวางแผนอยู่

เหตุที่ต้องพูดถึงเมืองใหม่ก็เพราะเมืองใหม่ตามคำพูดบอกกล่าวของผู้มีอำนาจทั้งหลายก็คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาครัฐเป็นสำคัญ

ตั้งแต่การสำรวจ การวางผัง การเวนคืน การลงทุนในสาธารณูปโภค การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแล้วออกขายให้กับประชาชน โดยประมาณว่าจะเป็นเมืองที่มีพื้นที่ 250,000 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยที่ทำงานทำการ ที่ตั้งอาคารราชการ สาธารณูปโภค ประมาณ 100,000 ไร่

ที่เหลือจะเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นขอบเขตของเมือง ประชากรที่จะเข้าอยู่อาศัยเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลาง เป็นเมืองที่มีวิสัยทัศน์ เป็นเมืองไอที จัดการดูแลด้วยระบบควบคุมเป็นอย่างดี

ฉะนั้น ในที่นี้จึงอยากจะพูดอยากจะเขียนอยากจะบอกผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในเมืองใหม่นี้ อยากจะบอกผู้กำลังออกแบบวางผังว่า เมืองที่ประชาชนจะเข้าไปอาศัยอยู่นั้นเป็นอย่างไร หรือ เมืองน่าอยู่ เป็นอย่างไร

เมืองใหม่ ไม่ใช่เมืองที่มีการจัดวางผังถนนเป็นตารางอย่างที่เข้าใจกันว่า เป็นเมืองที่ดี

เมืองใหม่ ไม่ใช่เมืองที่คิดว่ามีสาธารณูปโภคเพียงพอครบถ้วน แล้วเป็นเมืองที่ดี

เมืองใหม่ ไม่ใช่เป็นเมืองที่มีแต่ข้าราชการเท่านั้นที่อยู่ได้ แล้วมีกฎเกณฑ์ ระเบียบของทางราชการ แล้วเป็นเมืองที่ดี

แต่เมืองใหม่ต้องเป็นเมืองน่าอยู่ คำว่าเมืองน่าอยู่คืออะไร ขอคัดลอกจากการสัมมนาเรื่องการพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องเมืองน่าอยู่ เพื่อให้ประชาชนผู้ตั้งความหวังจะไปใช้ชีวิตในเมืองใหม่ในอีก 6 ปีข้างหน้า เป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ

เมืองน่าอยู่คือ เมืองที่มี

1. การให้บริการพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ อย่างเพียงพอ

2. ประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์

3. บ้านเมืองมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

4. มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีในเมืองและชุมชน

5. สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ยั่งยืนดีงาม

6. ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

7. การบริหารจัดการเมืองและชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

ในหัวข้อทั้งเจ็ดนี้ ประชาชนที่จะเข้าไปมีชีวิตอยู่ในเมืองให้พิจารณาข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 ให้จงดี โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ที่ปรากฏว่าเมืองใหม่ของโลกหลายแห่งเต็มไปด้วยอาชญากรรม ทั้งๆ ที่เข้าใจกันว่าได้สร้างเมืองใหม่ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้คนน่าจะมีความสงบสุข สันติ ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะเกี่ยวโยงกับข้อ 5 คือ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ดีงาม ซึ่งผู้คนที่จะเข้าไปอยู่จะต้องสร้างขึ้นและก็เข้าใจ ในหกปีนั้นน้อยมาก สร้างไม่ได้อย่างแน่นอน

พอมาถึงตอนนี้ไม่ได้แปลว่ากำลังจับผิดเมืองใหม่หรือคัดค้านเมืองใหม่ เพียงแต่ต้องการเตือนผู้ออกแบบวางผังเมืองว่า เรื่องตรงนี้ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการวางผังเมืองแบบตารางแล้วก็ไม่มีผู้คนไปอยู่ จะไปโทษผู้คนว่าไม่รู้จักของดีไม่ได้

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า