banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 ม.ค. 2547
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ผู้จัดการรายสัปดาห์, Monday, January 05, 2004  

   ผวาเมืองใหม่ นครนายก "ร้าง" หลังรองนายกฯ บินดูงานมาเลย์
โดยMGR ONLINE

"เมืองใหม่นครนายก" เจอโจทย์หินที่ต้องเร่งแก้ หลัง รองนายกฯ วิษณุ ควงอธิบดีกรมโยธาฯ บินดูงานเมืองใหม่ มาเลย์ "ปุตราจายา" เพื่อนำมาประยุกต์กับโครงการนี้ ระบุสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทำอย่างไรให้เมืองมีชีวิตชีวา ขณะที่ ม.ค.47 เตรียมออกพ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน 2 แสนไร่ เผยราคาเวนคืนประชาชนไม่เสียเปรียบ ส่วนงานวางผังฯนายกฯยังไม่ตัดสินว่าจะจ้างที่ปรึกษาไทยหรือเทศ

โครงการก่อสร้างเมืองใหม่นครนายก ที่ถูกขีดวงไว้จะครอบคลุมพื้นที่ อำเภอบ้านนา อำเภอวิหารแดง ของจ.นครนายก และคาบเกี่ยวอำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ไปดูแลเรื่องการก่อสร้าง คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และสว่าง ศรีสกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำเมืองใหม่

ศึกษาจุดอ่อนมาเลย์สร้างเมืองใหม่นครนายก

สว่าง ศรีสกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า การดูงานครั้งนี้เพื่อศึกษาแนวคิดการจัดสร้างเมืองใหม่โดยดูสถานที่จริง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเรา

"ที่มาเลเซียเราได้ไปที่เมืองปุตราจายา และไซเบอร์จายา โดยปุตราจายาจะเป็นเมืองศูนย์กลางราชการของมาเลย์ฯ ส่วนไซเบอร์จายา คือเมืองอุตสาหกรรมไอที โดยเป็นเมืองคู่แฝดที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีถนนกั้นกลาง ที่สำคัญคือเป็นเมืองที่ได้รับการวางผังที่ดีมาก และวางไว้เผื่ออนาคต 20 ปีข้างหน้า"

ภายใต้สิ่งปลูกสร้างอาคารที่งดงาม ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมดีเยี่ยม แต่สิ่งที่สัมผัสได้ คือเป็นเมืองที่ขาดชีวิตชีวา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน แม้จะมีประชากรมาใช้ชีวิตในเวลากลางวันถึง 3 หมื่นคน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เมืองเงียบเหงาอาจเป็นเพราะเมืองใหม่ ซึ่งเป็นเมืองบริวารอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง สามารถเดินทางไปกลับโดยรถไฟ

อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวว่า เมืองใหม่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การก่อสร้าง แต่ประเด็นที่ต้องทำการบ้านอย่างหนักคือ"สร้างแล้วใครจะเอาใครไปอยู่"และทำอย่างไรให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา และมีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เมืองใหม่นครนายก ไม่ได้เป็นเมืองศูนย์ราชการ แต่จะมีหน่วยราชการเพียงบางส่วนซึ่งเป็นกรมที่ตั้งใหม่ หรือเป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่แออัดเท่านั้นที่ย้ายออกไป ทำให้เป็นโจทย์ที่ยากกว่าปุตราจายา ซึ่งมีการย้ายทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงไปอยู่เกือบทุก กระทรวง เว้นกระทรวงกลาโหม และรัฐสภา ทำให้มีต้นทุนประชากรที่จะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่แล้วส่วนหนึ่ง

นั่นหมายความว่านครนายกไม่มีประชากรต้นทุนน้อยกว่ามาก การดีไซน์เมืองเพื่อดึงคนเข้าไปอยู่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง

"ตั้งแต่ท่านนายกฯเรียกเข้าพบ จากนั้นก็ไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูพื้นที่ ก็คิดทุกวันว่าจะเอาคนที่ไหนไปอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ยิ่งไปดูปุตราจายาแล้วยิ่งรู้ว่าเป็นงานที่ยากมากๆ ทำเนียบรัฐบาลของเขาสวยที่สุดในโลกก็ว่าได้ กระทรวงต่างประเทศอยู่บนภูเขา สวยมากอาคารทุกหลังออกแบบเป็นลักษณะให้มีกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรมของมาเลเซีย"

ขณะนี้ในส่วนของการทำงานยังไม่ได้มีการลงลึกไปถึงขนาดที่ว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน แต่มีแนวคิดกว้างๆว่า เมืองนี้จะเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นที่น้ำไม่ท่วม เป็นเมืองที่ไม่มีมลพิษทางอากาศไม่มีน้ำเสีย การจราจรไม่ติดขัด และเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมสะอาด 100% มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประชากรไม่แออัดอย่างน้อยต้องหลวมกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า

ในส่วนของการปลูกสร้างอาคารได้วางกรอบไว้ว่าต้องออกแบบในเชิงอนุรักษ์ ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ประการต่อมาจะต้องกำหนดแม้กระทั่งสีของอาคารเพื่อคุมให้อยู่ในโทนเดียวกัน เช่น โซนที่อยู่อาศัยหลังคาจะต้องสีอะไร สิ่งปลูกสร้างริมถนนสายหลักไม่ควรสูงเกิน 5 ชั้น ตึกสูงต้องออกไปอยู่นอกเมือง

ในตัวเมืองถนนต้องตัดใหม่ทั้งหมด จะมีถนนสายเมนหลักลักษระเดียวกับถนนราชดำเนิน มีเขตทางกว้างเป็น 100 เมตร และต้องเริ่มปลูกต้นไม้ทันที ที่มีการเริ่มลงเข็มก่อสร้างเพื่อให้โตทันเมื่อเมืองสร้างเสร็จ

ภายใต้แนวคิดเมืองในฝัน (Heaven City) เป็นความตั้งใจของนายกฯที่ต้องการสร้างพระราชวังถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุครบ 7 รอบ ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2554 เพื่อให้เป็นเมืองประจำรัชกาล ดังนั้นแม้แต่การคัดเลือกต้นไม้ก็จะต้องมีความหมาย

"ต้นไม้อาจจะปลูกต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำเมือง เพราะพระราชวังของพระเจ้าอยู่หัวอยู่ที่นี่ ในที่สุดเมืองใหม่จะต้องรองรับคน 2.5 แสนคน แต่ต้องอาศัยระยะเวลานับสิบปี กว่าจะถึงจุดนั้น อาจจะเริ่มต้นที่หลักหมื่นเพื่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเมืองแต่ละเมืองอย่าง ทามะของญี่ปุ่น หรือ แคนเบอร่า ของออสเตรเลีย หรือเมืองเชงดองของจีนก็ดีใช้เวลาเป็นสิบๆปีเช่นกัน"

ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนม.ค.47

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน ปัจจุบัน กรมที่ดินกำลังสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดแนวเวนคืนที่ดินเพื่อให้แล้วเสร็จทันปลายปี 46 เมื่อร่างเสร็จแล้วต้องเสนอคณะกรรมการที่นายกฯตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจะประกาศเขตและสำรวจแนวที่ดินที่จะก่อสร้างเมืองใหม่ จึงตราร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินประมาณเดือนมกราคม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

โดยพื้นที่ซึ่งอยู่ในแนวเวนคืนทั้งหมดมีประมาณ 2 แสนไร่ แต่บริเวณที่จะเป็นเมืองจริงๆแค่ 5-6 หมื่นไร่ ประกอบด้วยเขตชุมชน ย่านที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และจะมีการขุดทะเลสาบขนาดหลายร้อยไร่ขึ้นมาในเมืองด้วย

ส่วนการพิจารณากำหนดค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดินนั้น อธิบดีกรมโยธาธิการฯ กล่าวว่า จะเป็นราคาที่ยุติธรรม การจ่ายค่าเวนคืนไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ในรูปพันธบัตร และเชื่อว่าเป็นราคาที่ประชาชนไม่เสียเปรียบ เพราะมีการนำราคาประเมิน ราคากลาง ราคาซื้อขาย ครั้งสุดท้าย 3-4 แห่งมาเฉลี่ยมาประกอบ อีกทั้งมีการตั้งกรรมการฝ่ายประชาชนขึ้นมาพิจารณาด้วย

ยังไม่ฟันธงใช้ที่ปรึกษาไทย/เทศ?

ในส่วนของการจัดวางผังฯ ใช้เวลาอีก 3-4 เดือนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต้องว่าจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษามาจัดทำผังเมืองหรือไม่ ข้อดีของการใช้มันสมองจากนักวางผังเมืองในประเทศคือสามารถประหยัดเงินตราได้ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักวางผังต่างชาติมีแนวคิดและประสบการณ์ มากกว่า การดีไซน์เมืองไม่ว่าจะเป็นที่จีน ญี่ปุ่น หรือที่มาเลเซีย ล้วนแต่ใช้นักวางผังระดับโลกทั้งสิ้น

นอกเหนือจากระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ทั้งถนนหนทาง รถไฟความเร็วสูง ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งรัฐเป็นผู้ลงทุนแล้ว รัฐบาลจะจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมือง หรือ UDC (Urban Devellopment Co-Operation) ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ และจัดทำสัญญากับเอกชนที่จะเข้ามาพัฒนาที่ดินในเมืองใหม่

"วิธีการพัฒนาพื้นที่จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เช่น บริษัทพัฒนาที่ดินที่สนใจ เข้ามาทำที่อยู่อาศัย ก็รับไปเลย 3 พันยูนิต โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐ ซึ่งรัฐจะเปิดการประมูลระดับ INTER BID สิ่งที่ควรมี คือศูนย์ประชุมนานาชาติ สนามกอล์ฟ 5 สนามในบริเวณเดียวกัน โรงแรม 5 ดาว รีสอร์ต มีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับการประชุมระดับนานาชาติ เป็นต้น ที่ผ่านมามีนักลงทุนให้ความสนใจสอบถามเข้ามามาก ในเรื่องของรูปแบบที่จะเข้าไปลงทุนทั้งนักพัฒนาที่ดิน ซึ่งสนใจว่าจะไปทำอะไรได้บ้าง"

การจูงใจให้มีการย้ายฐานการลงทุน รัฐบาลจะใช้มาตรการทางภาษี หรือมี Incentive ในรูปแบบอื่นเพื่อกระตุ้น เช่น ถ้าจะให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค รัฐอาจจะให้ไลเซ่นแบงก์ต่างชาติมาตั้งได้ กรณีมาสร้างสำนักงานใหญ่ที่นี่

ส่วนตัวเลขประมาณการลงทุนบื้องต้นในการจัดสร้างเมืองใหม่จะใช้เงิน 1 ล้านบาท ต่อประชากร 1 คน ดังนั้นหากมีคนไปอยู่ 2.5 แสนคน เท่ากับว่าโปรเจกต์นี้ต้องใช้เงินลงทุน 2.5 แสนล้านบาท

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า