banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 18 ธ.ค. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ประชาชาติธุรกิจ, ปีที่ 27 ฉบับที่ 3541 (2741) วันที่ 18 ธันวาคม 2546, หน้า 44  

   ปรับแนวคิดพัฒนาเมืองใหม่ ระวัง! จะซ้ำรอยกรุงเทพฯ - รายงาน
โดย ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเมืองใหม่ลงตีพิมพ์ใน "ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับวันที่ 8-10 ธันวาคมที่ผ่านมาไปแล้ว และคิดว่าจะหยุดไว้เพียงแค่นั้น แต่ข่าว "เมืองใหม่" ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทนไม่ได้ที่ต้องเขียนต่อเพื่อประโยชน์ของประเทศบ้านเมืองโดยรวม

ผมชื่นชมการ "คิดใหม่-ทำใหม่" ของรัฐบาลในโครงการต่างๆ ที่ผ่านมามาก แต่กำลังเป็นห่วงว่าโครงการ "เมืองใหม่" จะไปได้แค่ไหน

การพัฒนาที่ดินเป็นสิ่งที่ผมถนัด และได้เคยศึกษาดูงานเมืองใหม่ทั่วโลกมามาก ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ

"เมืองใหม่" ที่รัฐบาลกำลังคิดจะทำ มีแนวทางหลายประเด็นที่กำลังหลงทาง และจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไข

บทความที่แล้วที่ผมเขียนไว้ ใจความว่า : ผมเห็นด้วยกับการสร้างเมืองใหม่ เพื่อเป็นศูนย์ราชการ และลดความแออัดของกรุงเทพฯ โดยใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การคิดทำเมืองใหม่จะต้องเริ่มคิดจาก "คน" ก่อน ไม่ใช่ "พื้นที่ดิน" เมืองใหม่จะต้องใหญ่พอที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า บันเทิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สวนสาธารณะ วัด ฯลฯ มิฉะนั้นจะหาคนไปอยู่ลำบาก แต่ถ้าจะทำเป็นเมืองเล็กๆ ในลักษณะ "เมืองอยู่อาศัย" ก็ควรจะทำหลายๆ เมือง และอยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯได้มากกว่า

ข่าวที่พบในสื่อมวลชน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏดังนี้

รัฐบาลจะสร้าง "เมืองใหม่" หลายเมือง ทั้งที่ บ้านนา, ป่าสัก และที่อื่นๆ โดยจะทำเป็น "เมืองอยู่อาศัย" โดยใช้พื้นที่ดินประมาณ 1.5-2.0 แสนไร่ จะสร้างวังใหม่ถวายในหลวง จะเป็นเมืองที่ปลอดมลพิษ มีส่วนราชการเพียงส่วนน้อย จะให้เป็นศูนย์การเงิน-พาณิชย์ ด้วย และให้มีอุตสาหกรรมที่ไร้มลพิษ เมื่อเป็นเมืองทันสมัยก็จะแพง จึงจะอยู่ได้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ 35,000 บาท/เดือนขึ้นไป และให้แรงจูงใจคนที่จะไปอยู่ "เมืองใหม่" โดยลดภาษีให้

ผมจึงขอแสดงความเห็นแนวทาง "เมืองใหม่" เพิ่มเติม ที่ควรจะเป็นดังต่อไปนี้ คือ

1.วัตถุประสงค์ต้องชัดเจน

แนวทางในการทำ "เมืองใหม่" มี 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ

1.1 เมืองอยู่อาศัย (Dormitory Town) มีขนาดเล็ก ผู้คนที่อยู่อาศัยจะเดินทางเข้าทำงานในกรุงเทพฯเป็นหลัก

1.2 เมืองสมบูรณ์แบบ (Self Sufficient City) มีขนาดใหญ่ ผู้คนที่อยู่อาศัยทำงานใน "เมืองใหม่" เป็นหลัก

2.เมืองอยู่อาศัย ต้องใกล้กรุงเทพฯ

ถ้ารัฐบาลมีแนวความคิดว่าจะทำเป็น "เมืองอยู่อาศัย" โดยไม่มีแหล่งงานหลักให้คนที่อยู่อาศัยใน "เมืองใหม่" นี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางไปกลับกรุงเทพฯเกือบ 200 กิโล เมตรต่อวัน ซึ่งไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจการลงทุน และความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ของผู้เดินทาง

ถ้าสร้างจริงๆ สงสัยว่า จะหาคนไปอยู่ได้กี่คน ?

ประเทศอังกฤษเคยเป็นประเทศที่มีการสร้างเมืองใหม่มากหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ และปรากฏว่าผู้คนใน "เมืองอยู่อาศัย" จะย้ายกลับไปอยู่ลอนดอน เพราะไม่สะดวกที่ต้องเดินทางไกล แต่เมื่อปรับปรุงแบบให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบที่เพิ่ม แหล่งงานในเมืองใหม่ ก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น

"เมืองอยู่อาศัย" จึงควรจะห่างจากกรุงเทพฯ 30-60 กิโลเมตร ไม่ใช่ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งไกลเกินไป

"เมืองอยู่อาศัย" เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนได้สร้างอยู่แล้ว และมีตัวอย่างให้เห็นในหลายๆ ทำเล เช่น รังสิต แจ้งวัฒนะ สมุทรสาคร เป็นต้น แต่ละแห่งใช้เวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป สภาพของสิ่งแวดล้อม สังคมคนอยู่อาศัย บ้านว่าง...มีตัวอย่างของจริงที่ประจักษ์แก่สายตา

3.เมืองสมบูรณ์ในตัวเองต้องมีแหล่งงานหลัก

ถ้ารัฐบาลจะคิดทำ "เมืองใหม่" ที่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 100 ก.ม. เป็นเมืองสมบูรณ์แบบที่มีแหล่งงานหลัก โดยผู้คนที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าทำงานกรุงเทพฯ

การสร้างแหล่งงานหลักในเมืองใหม่ทำได้หลายลักษณะ เช่น

3.1 ศูนย์ราชการ รัฐบาล จะทำให้ง่ายที่สุดเพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโดยตรง

3.2 ศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทค รัฐบาลทำได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในการลงทุนจากเอกชน

3.3 ศูนย์การเงิน-พาณิชยกรรม โอกาสเกิดขึ้นได้ยาก รัฐบาลควรจะส่งเสริมโครงการของกรุงเทพ มหานคร ซึ่งเคยคิดที่จะพัฒนาย่านพระรามที่ 3 ให้เป็นศูนย์การเงิน-พาณิชยกรรม จะเกิดขึ้นได้ง่ายและเหมาะสมกว่า ประกอบกับมีที่ดินผืนใหญ่ของหน่วยราชการอยู่ด้วย เช่น การท่าเรือ เป็นต้น

ตัวอย่างการพัฒนาในต่างประเทศ เช่น ชินจูกุ ในโตเกียว, LA-DEFENSE ในปารีส, ผู่ตง ในเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

4.เมืองสมบูรณ์ในตัวเองต้องใหญ่พอ

"เมืองใหม่" ที่คนอยู่อาศัยรู้สึกว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ครบครันนั้นต้องใหญ่พอ

ขนาดของเมืองควรจะใหญ่ขนาดไหน ไม่ใช่อยู่ที่พื้นที่ดิน แต่อยู่ที่จำนวนประชากร เช่น ถ้ามีขนาดใกล้เคียงกับเกาะภูเก็ตก็จะประมาณ 300,000 คน

"เมืองใหม่" ที่เล็กเกินไปจะขาดเสน่ห์ที่เมืองใหญ่มี เช่น จะไม่มีโรงละคร พิพิธภัณฑ์ ไม่มีร้านค้า ภัตตาคารบางประเภท และบริการบางอย่าง...ฯลฯ

ดังนั้น "เมืองใหม่" ที่ห่างจาก "กรุงเทพฯ" ประมาณ 100 กิโลเมตร มีจำนวนประชากรมากพอ ที่ไปใช้บริการต่างๆ ที่ประชาชนอยากจะให้มี จึงควรมีจำนวนประชากรประมาณ 300,000-500,000 คน

5.ไม่ควรให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้อยู่ "เมืองใหม่"

การให้สิทธิพิเศษทางภาษี จะเป็นการนำเอาภาษีอากรจากคนทั่วประเทศไปจุนเจือคนส่วนน้อย ซึ่งเป็นคนรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง

"เมืองใหม่" ควรจะมีเสน่ห์เพียงพอที่จะจูงใจให้คนย้ายไปอยู่ เช่น มีงานดี รายได้ดี สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สิ่งแวดล้อมดี น่าอยู่อาศัย เดินทางสะดวก ราคาไม่แพง ฯลฯ

6."เมืองใหม่" ต้องมีคนทุกระดับรายได้ ทุกเพศ ทุกวัย

"เมืองใหม่" ถึงจะมีประชาชนที่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องมีพนักงานที่ทำงานบริการในด้านต่างๆ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน บริการ ฯลฯ

"เมืองใหม่" ในหลายประเทศบางเมืองส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว บางเมืองมีเพศใดเพศหนึ่งมากไป ทำให้ขาดความสมดุลในสังคม "เมืองใหม่"

7. "เมืองใหม่" ปลอดมลพิษ

ปัจจุบันโครงการอาคารชุดอยู่อาศัยเพียง 80 หน่วยขึ้นไป ก็ต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องปลอดจากปัญหามลพิษทั้งปวงอยู่แล้ว ไม่ว่าน้ำเสีย อากาศเสีย ขยะ การจราจร และปลอดจากอุทกภัย และอัคคีภัย ฯลฯ

ดังนั้น การที่คิด-ทำ "เมืองใหม่" ให้เป็นเมืองไร้มลพิษ โดยหวังว่าจะเป็นจุดขายที่ดึงดูดผู้คนให้ไปอยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งที่เหมือนๆ กับคนอื่นๆ ที่ทำอยู่แล้ว ไม่มีอะไรแปลกใหม่แต่อย่างใด

ความคิด ริเริ่ม ที่จะทำ "เมืองใหม่" ดีแล้ว อยู่ที่รัฐบาลจะปรับแนวความคิด กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และเดินไปสู่จุดหมายอย่างไร

[Top]

 มติชน, วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9414,  

   อานิสงส์เมืองใหม่นครนายก แห่ผุดบ้านบนทำเลทอง"รังสิต-พหลโยธิน" "แลนด์ฯ-แสนสิริ"ลงสนามบี้"พฤกษา-วังทอง"

จากประกาศของรัฐบาลที่กำหนดให้อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นที่ตั้งเมืองใหม่ พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องราคาที่ดินเพื่อสกัดการเก็งกำไรจากเจ้าของที่ดิน และศึกษาแนวทางการกำหนดรูปแบบเมืองที่จะประกอบด้วยศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัยชนชั้นกลาง และที่ตั้งหน่วยงานต่างๆ

ความชัดเจนดังกล่าวทำให้กระแสการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในย่านใกล้เคียง หรือทำเลล้อมรอบบริเวณดังกล่าวคึกคักขึ้นทันตา ไม่ว่าจะเป็นทำเลทองในการพัฒนาบ้านจัดสรรหรือบ้านเดี่ยวย่ายปทุมธานีที่เป็นไปอย่างคึกคักอยู่แล้ว รวมไปถึงเส้นทางที่มุ่งไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางคมนาคมเส้นทางหลักสำคัญ 2 เส้นทาง คือ ถนนรังสิต-นครนายก และถนนพหลโยธินที่มุ่งสู่สระบุรี-อยุธยา

ความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนสองเส้นทางหลัก คือ ชุมชนเมืองแห่งใหม่ อันประกอบไปด้วยหน่วยงานและองค์กรเอกชน ศูนย์การคมนาคมและศูนย์พาณิชยกรรมแห่งใหม่ รวมทั้งที่อยู่อาศัยใหม่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก

จากปัจจุบันที่พื้นที่แถบนี้จัดอยู่ในโซนนิ่งที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นน้อย จัดอยู่ในเขตชานเมือง ที่ค่อนข้างใช้เวลาในการเดินทางเข้าเมืองซักนิด ทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่มาก แต่จากนี้ไป ผลพวงของมืองใหม่ จะทำให้ชุมชนขยายตัวกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นปานกลาง พร้อมๆ กับแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยกระดับขึ้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนชั้นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เป็นวัยทำงาน

=พลิกโฉมเมือง"ปทุมธานี"

มีการคาดหมายกันว่านโยบายสร้างเมืองใหม่จะมีส่วนผลักดันให้ทำเลในจังหวัดปทุมธานีถูกพัฒนาจากเมืองเกษตรกรรมให้กลายเป็นเมืองสำหรับอยู่อาศัยแทน โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทำนายว่า กระแสการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยแต่ละรายจะมุ่งเข้าพัฒนาโครงการตามรายทางถนน 2 เส้นหลัก คือ ถนนรังสิต-นครนายก และเส้นทางพหลโยธินบริเวณเลยรังสิต ใกล้เข้าเขตจังหวัดอยุธยา

ปัจจุบันย่านดังกล่าวมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น "เจ้าเก่า" อยู่ไม่กี่ราย เช่น บริษัท เฉลิมนคร เจ้าของโครงการบ้านสถาพร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท เจ้าของโครงการ บ้านพฤกษาและบ้านภัสสร บริษัท วังทอง กรุ๊ป เจ้าของหมู่บ้านวังทอง บริษัท เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด เจ้าของบ้านฟ้า และเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาร่วมชิงตลาด เช่น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โฮมเพลสกรุ๊ป และแสนสิริ เป็นต้น

คาดหมายกันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำเลย่านนี้น่าจะเป็นทำเลทองอีกแห่งหนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตของอสังหาริมทรัพย์น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากปัจจุบันเติบโตในระดับ 8%

ทั้งนี้ ปัจจุบันเมืองปทุมธานีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีหมู่บ้านจัดสรรมากที่สุดในประเทศไทยอยุ่ โดยได้มีการสำรวจพบว่าปัจจุบันปทุมธานีมีหมู่บ้านจัดสรรอยู่ประมาณ 564 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 200 ยูนิต รวมประมาณ 100,000 ยูนิต

ดังนั้น เมื่อตัวเลขการพัฒนาที่อยู่อาศัยกลายเป็นตัวเลข 2 หลัก ในอีก 10 ปีจากนี้ไปก็คาดว่าจะมีหมู่บ้านเกิดขึ้นใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 100,000 ยูนิต รายล้อมเส้นทางรังสิต-องครักษ์ และพหลโยธิน-สระบุรี แต่หากดูจากเส้นทางคมนาคมเส้นรอง อย่างรังสิต-ลำลูกกา และรังสิต-คลองหลวงด้วยแล้วเชื่อว่าจะมีบ้านใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 100,000 ยูนิต หรือเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.5 หมื่นยูนิต

=ราคาที่ดินกระฉูด

จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลราคาที่ดินในบริเวณพื้นที่รอบๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากในข้อเท็จจริงแล้วที่ดินแปลงใหญ่ๆ ที่มีอยู่นั้น อยู่ในมือของเศรษฐีที่ดินเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น เช่น ตระกูล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, หวั่งหลี ,เหวียนระวี, ศิริเวชพันธ์ เป็นต้น ได้โอกาสปรับราคาที่ดินให้สูงขึ้น และจากปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้กลายเป็นทำเลชุมชนเมือง

นายสุนทร สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเฉลิมนคร เจ้าของโครงการบ้านสถาพรกล่าวว่า เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าไปเป็นจำนวนมาก แต่อาจจะมีปัญหาจากราคาที่ดินได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำทุกวิถีทางที่ให้ต้นทุนต่ำสุด ซึ่งหากมองในแง่ดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมน่าจะมีความได้เปรียบ โดยควรนำจุดเด่นที่มีความชำนาญในพื้นที่มาใช้เหมือนแขกย่านนานา ที่มีความกว้างขวางในพื้นที่สร้างความสัมพันธ์กับเจ้าของที่ดินเพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวของการซื้อขายที่ดิน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์หน้าเดิมทั้ง 4 ราย ในฐานะเจ้าถิ่นเก่าย่อมจะได้เปรียบ เพราะแต่ละรายล้วนมีความช่ำชองในทำเลพื้นที่ย่านนี้อยู่เป็นทุนเดิม แถมยังมีการสะสมเก็บตุนที่ดินเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นที่ดินที่มีต้นทุนต่ำ

แต่ก็ใช่ว่ารายใหญ่อย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือแสนสิริ จะเสียเปรียบจนแข่งขันไม่ได้ เพราะบริษัทเหล่านี้สั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาพอตัว

สมรภูมิย่านนี้น่าจะดุเดือดและน่าดูชมทีเดียว!!

[Top]

 มติชน, วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9414, หน้า 13  

   มท.ยันเมืองใหม่ไม่ยึดที่ดินชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นายประมวล รุจนเสรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งดำเนินการยกร่างแนวการเวนคืนที่ดินในพื้นที่เมืองใหม่ "นครนายก" ใน 3 อำเภอที่จะก่อสร้างโครงการ ได้แก่ อ.บ้านนา

จ.นครนายก อ.แก่งคอย และ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี รวม 200,000 ไร่ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านอาจถูกเวนคืนที่ดินว่า ถ้าพูดแบบนั้นจะทำให้ชาวบ้านตกใจ เพียงแต่จะเข้าไปปูสภาพของที่ดินไว้ก่อน แล้วจะเรียกชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินมาตกลงว่าจะปรับที่ดินอย่างไร ไม่ใช่ไปเวนคืนทีเดียว โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะมีการทำผังเมืองให้เจ้าของที่ดินดู หากชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นก็สามารถอยู่ต่อไปได้ ไม่ได้ไปเอาที่ดินของชาวบ้านแต่อย่างใด

[Top]

 มติชน, วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9414, หน้า 18  

   เด้งรับแผนเมืองใหม่ดันโซลาเซลติดทุกหลังคา บิ๊กเหวียงประกาศติดโชว์ก่อนบ้านตัวเอง-ก.วิทย์

วันที่ 17 ธันวาคม ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการ วท.เรียกประชุมผู้บริหารราชการระดับสูง เพื่อหารือเรื่องเร่งด่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งการให้วท.มาดำเนินการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา

พล.อ.เชษฐา ให้สัมภาษณ์ หลังประชุมว่า ปีหน้า วท.จะผลักดันให้สังคมไทยใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะเรื่องเซลแสงอาทิตย์ ให้เป็นประโยชน์เต็มที่เพื่อประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และส่งเสริมเทคโนโลยีการแปรรูปพลังงานชนิดนี้เต็มรูปแบบ หลังจากนี้วท.จะไปร่างแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต และส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีตัวนี้ให้มากที่สุด

"โครงการนำร่องที่เราจะทำคือ บนหลังคาบ้านทุกหลังที่อยู่ในโครงการเมืองใหม่ จ.นครนายก จะต้องใช้เซลแสงอาทิตย์ให้หมด เพราะหลักการของเมืองใหม่จะต้องเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษ และเป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การโซลาเซลจึงเป็นแบบอย่างที่ดีมากๆสำหรับโครงการนี้ นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนราษฎรอีกประมาณ 300,000 หลังคาเรือน ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อาจจะเป็นเพราะความยากจน หรืออยู่ห้างไกลจากสายส่ง คนกลุ่มนี้จึงเป็นอีกเป้าหมายที่เราจะเอาโซลาเซลไปแก้ปัญหาให้"พล.อ.เชษฐา กล่าว

พล.อ.เชษฐา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ วท.เคยพยายามส่งเสริมการใช้โซลาเซลมาพักใหญ่ แต่ไม่ได้ผล เพราะราคาสูงมาก เนื่องจาก มีคนใช้น้อย รวมทั้งอุปกรณ์บางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ถ้ามีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากพอที่จะใช้เทคโนโลยีตัวนี้ ในที่สุดแล้ว ราคาก็จะลดลงไปเองตามกลไกของตลาด ที่สำคัญคือ เวลานี้อุปกรณ์หลายตัวที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศ นักเทคโนโลยีของประเทศไทยสามารถทำได้แล้ว

"พลังงานพวกนี้เราได้มาฟรีๆไม่ต้องซื้อหามาจากไหน เพียงแต่เราใช้ความรู้ที่มีอยู่ดึงมาใช้ประโยชน์ให้ได้เท่านั้น ซึ่งเราก็ทำได้แล้ว เรื่องนี้ต่างประเทศเขาทำมานานแล้ว ได้ผลดี ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10% และเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดๆหลังจาก ส่งแผนเข้าครม.ต้นปีหน้าแล้ว บ้านผมและที่ตึกกระทรวงวิทยาศาสตร์จะเป็นที่แรก ที่จะติดตั้งโซลาเซลเพื่อให้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายๆให้ประชาชนเห็น"พล.อ.เชษฐา กล่าว

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า