banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 15 ธ.ค. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 ประชาชาติธุรกิจ, ปีที่ 27 ฉบับที่ 3540 (2740) วันที่ 15 ธันวาคม 2546, หน้า 6  

 เมืองใหม่นครนายก 
คอลัมน์ จดหมายถึง บก.

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

เรื่องการสร้างเมืองใหม่ที่จังหวัดนครนายก ผมต้องการให้คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา ตั้งทีมปรับยุทธศาสตร์จังหวัดเตรียมการรองรับ มีการเตรียมโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงโครงการเมืองใหม่กับสนามบินสุวรรณภูมิ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกัน ก็กำลังเร่งพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางผังชุมชน มีระบบสาธาร ณูปการในเมืองใหม่ อย่างน้อยผู้ว่าฯ ซีอีโอน่าจะมีบทบาทในการศึกษาพื้นที่นครนายกเสนอ มท.1 ในการวางแผนระบบผังเมือง

นนทภัทร สิงหล

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพ

ใครที่ติดตามอ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" มาโดยตลอดจะเห็นภาพเมืองใหม่นครนายก และแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่ชัดเจน จากการที่ ดร.คำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาให้ความรู้กับ ผู้สื่อข่าวของเรา นั้น สนข.ได้วางแผนไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำถนนมอเตอร์เวย์สายรามอินทราบริเวณปลายทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก (บางพลี-บางปะอิน) เชื่อมกับเมืองใหม่ ระยะต่อไปจะก่อสร้างจากเมืองใหม่ไปเชื่อมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี-นครราชสีมา

จะทำทางรถไฟรางคู่ มีการก่อสร้างจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังเมืองใหม่ และอีกด้านหนึ่งจะมีถนนไฮเวย์เมืองใหม่เชื่อมกับถนนรังสิต-สระบุรีที่บริเวณหินกอง นอกจากนี้ จะมีการขยายถนนสายรังสิต-นครนายกให้กว้างกว่าเดิมจากปัจจุบันที่มี 6 เลนในช่วงต้นสาย และ 4 เลนในช่วงกลางและปลายสาย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ปี

เมื่อมองโดยรวมก็เห็นว่าดีที่จะมีเมืองใหม่ใกล้กรุงเทพฯอีกเมืองหนึ่ง แต่สิ่งที่เห็นว่าควรรีบทำควบคู่กันไปด้วย คือ การสร้างเมืองศูนย์กลางแต่ละภูมิภาคเพื่ออย่างน้อยก็ยันคนแต่ละภูมิภาคให้อยู่แถบบ้านของตัวเอง เพราะตอนนี้คนก็ยังทะลักเข้ามาแต่กรุงเทพฯและภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งงานจนล้นเกิน จนกลายเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ไปหมดแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ การขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงควรต้องทำแล้ว แม้ต้นทุนสูงก็แค่ลงทุนช่วงแรก แต่ต่อไปก็คุ้มทุนแน่ไม่ต้องอะไรมากแค่เดินทางจาก กทม.ไปถึงเชียงใหม่ภายใน 2-3 ชั่วโมงใครๆ ก็อยากขึ้น วันก่อนเห็นข่าวที่ญี่ปุ่นเขาทดสอบขบวนที่แล่นเร็ว 500-600 ก.ม./ช.ม.กันแล้ว แต่ของไทยยังถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างอยู่เลย

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า