banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 1 ธ.ค. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 324, หน้า 52 

   รายงานพิเศษ - แผนยุทธศาสตร์นครนายก

นครนายก เป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีพื้นที่หนึ่งล้านสามแสนไร่ และทำการเกษตรเพียงเก้าแสนกว่าไร่เท่านั้น นอกนั้นก็เป็นพื้นที่ป่าและเขาใหญ่

พื้นที่กว่าหกแสนเจ็ดหมื่นไร่เป็นที่นากุ้งกุลาดำประมาณ 1 หมื่นไร่ ปศุสัตว์ 9 หมื่นไร่ ประมง 2 หมื่นไร่ ที่เหลือเป็นพืชไร่ พืชผัก ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ

นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า "ในเรื่องปศุสัตว์จะมีไก่เนื้อ สุกร ประมงที่มีมากคือ กุ้งกุลาดำ ปลาสลิด ปลากินพืช ปลาดุก ก็ทำรายได้พอสมควร จากพื้นที่ดังกล่าวจะเห็นว่า จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดแห่งการเกษตร อุตสาหกรรมจะมีน้อยมาก แม้ว่าจังหวัดนี้มีดินเปรี้ยวประมาณ 5 แสนไร่ และประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเองเพียง 45% นอกนั้นก็เป็นพื้นที่เช่าก็ตาม แต่มีการนำความรู้มาเป็นฐานในการดำเนินงาน ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง"

วิสัยทัศน์ของจังหวัดนครนายก

นายเชิดวิทย์ กล่าวว่า เราจะพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ ส่วนเรื่องการเกษตรนั้นพัฒนาให้ก้าวหน้าและยั่งยืน โดยสร้างสังคมฐานความรู้มุ่งให้เกษตรกร ซึ่งจะปรับปรุงระบบวิธีการผลิตหรือแม้กระทั่งการคุมมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะออกสู่ภายนอก นั่นเป็นจุดที่เรามองในส่วนที่จะเชื่อมโยงกันหมด

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตร โดยเฉพาะเรื่องข้าวต้องยอมรับว่ามีปัญหาความไม่แน่นอนของการตลาด ซึ่งจากการที่ได้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสในด้านต่าง ๆ แล้ว ทางจังหวัดนครนายกจึงได้วางวิสัยทัศน์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และรองรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ ดังนี้คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมทางด้านเกษตรที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

"ในเรื่องนี้ก็มองในรูปปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น มีพื้นที่นาน้ำลึกประมาณแสนกว่าไร่ ก็มีปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวที่ใช้ไปแล้วกลายพันธุ์เป็นข้าวแดงราคาก็ไม่ดี จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนจากนาน้ำลึกมาเป็นนาน้ำตื้นได้มั้ย ซึ่งในช่วงระยะสั้นทำไม่ได้ เพราะต้องมีระบบชลประทานมีการวางชั้นดินกั้นน้ำอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ระยะสั้นจึงมีแนวความคิดเปลี่ยนเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับนาน้ำลึก กับสองพันธุ์ที่เหมาะอยู่แล้วคือ พันธุ์ที่เป็นของจริง คือพันธุ์แท้ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์ข้าวที่ปราจีนบุรี มาคุยกันและดำเนินเปลี่ยนแปลงพันธุ์ข้าวโดยให้ อบต. สนับสนุนให้เกิดศูนย์แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกันขึ้น หรือศูนย์ช่วยเหลือก็อาจเป็นเงินไม่มากแต่ก็ได้เปลี่ยนพันธุ์ก็เชื่อว่าพันธุ์ระยะสั้นก็ให้เขาเลือกว่าเอาเป็นพันธุ์ปราจีนบุรี 1 หรือข้าวที่นำไปทำขนมจีนหรือก๋วยเตี๋ยว ซึ่งตลาดก็อยู่แถวฉะเชิงเทรา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้"

"นอกจากนั้น ก็มีเรื่องเกษตรปลอดภัยสารพิษก็พยายามสนับสนุนให้ทำมากขึ้น เพราะตลาดยังมีอยู่ จากนั้นก็เป็นเรื่องการตรวจมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ"

นายเชิดวิทย์ กล่าวว่า อีกอย่างที่จะส่งเสริมคือ มะยงชิด มะปรางหวาน เพราะของเราลูกใหญ่ราคาดี นอกจากนี้ยังมีส้มโอ ขณะนี้ได้รวมกลุ่มส่งเสริมให้เป็นตลาดใหญ่ส่งออก

"นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องชลประทาน การพัฒนาชลประทาน จังหวัดนครนายก มีระบบชลประทานที่ดี 5 แสนกว่าไร่ ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มากกว่า 50% ก็ว่าได้ ก็ถือว่าพื้นที่ได้รับน้ำหลังจากเขื่อนคลองด่านเสร็จในปี 48 ทำให้มีพื้นที่เพิ่มประโยชน์มากขึ้นแสนกว่าไร่ที่ได้รับน้ำเพิ่มมากขึ้นหลังจากเขื่อนคลองด่านเสร็จในปี 47 ส่งน้ำปี 48 ระบบส่งน้ำเสร็จก็จะทำให้เป็นทางเลือกอย่างองครักษ์ ทำนา 2 ปี 5 ครั้ง รายได้ดีขึ้นเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้ น้ำถึงก็อยู่ได้ นอกนั้นก็มองว่าจากการที่เรามีชลประทานเยอะอย่างน้ำหน้าแล้งพอเราวิเคราะห์แล้วน้ำเหลือพอสมควร เราจะต้องขยายพันธุ์ปลาปล่อยลงในแหล่งน้ำอย่างน้อยก็ให้เป็นอาหาร นอกนั้นก็เป็นรายได้ให้ผู้ยากไร้" นายเชิดวิทย์ กล่าว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจรากหญ้า โดยสนับสนุนในด้านความรู้ การใช้เทคโนโลยี รู้จักวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตตำบล

ยุทธศาสตร์ที่ 3 นอกจากฝึกอบรมก็เป็นเรื่องของการทำบัญชีฟาร์ม ในขณะนี้ได้ทำนำร่องเรื่องทำบัญชีฟาร์ม ที่หมู่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง ได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

"หลังจากอบรมที่หนึ่ง เราก็ได้ขยายต่อไปอบรมครูอาสาบัญชีฟาร์ม 40 ตำบล เพื่อให้ 40 คน ไปสอนหมู่บ้านต่อไปอีก 1 ตำบล เราไปช้าเพราะอยากให้เกิดผลดี" นายเชิดวิทย์ กล่าว

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การพัฒนาฐานข้อมูลและสารสนเทศ โครงการก็ต้องมีการเก็บฐานข้อมูล เพราะการมีฐานข้อมูลมันง่ายต่อการแก้ไข นายเชิดวิทย์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีมันจะยาก เช่น นาน้ำลึกมีแสนไร่ก็พยายามรวมที่จะเข้าสู่ระบบที่จะโยงเข้าสู่รัฐบาล เก็บตัวเลขที่วิเคราะห์ได้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้

นั่นคือ นโยบายที่ให้ไว้หรือแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหา เพื่อให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

เตรียมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ

นายเชิดวิทย์ กล่าวว่า อีกอันหนึ่งคือ ไม้ดอกไม้ประดับของนครนายก เป็นแหล่งผลิตใหญ่ โดยเฉพาะที่คลองสิบห้า เราอยากให้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งต่อไปจะเน้นเรื่องประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา เพราะมันจำเป็นต้องมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์หรือพัฒนาพันธุกรรมใหม่ ๆ

"นอกจากนี้ ก็จะมีเรื่องกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ดินเพาะ ถุงดำ ถ้าส่งเสริมให้ผลิตที่นี่ได้ก็จะถูก และง่ายในการซื้อขาย คือถ้ามีไม้ดอกไม้ประดับและมีอย่างอื่นครบ คือครบวงจร มันก็คงจะดี สามารถทำให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งสถานที่ทำคงอยู่ในเขตชลประทาน เพราะระบบชลประทานอย่างกับแพลนนิ่งถนนของต่างประเทศ ซึ่งเป็นระบบมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 นี่คือ 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเราตั้งไว้ที่จังหวัดนครนายกได้ยกระดับทั้งรายได้และขีดความสามารถต่าง ๆ ขึ้นมา" นายเชิดวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

ประเด็นศักยภาพที่สำคัญ

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นครนายก มีที่ตั้งและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดี คือเป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคม มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 105 กิโลเมตร สามารถประชาสัมพันธ์เป็นทางผ่านไปสู่ประเทศกัมพูชา มีขนาดพื้นที่เล็ก (2,122 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,326,250 ไร่) สะดวกกับการพัฒนา มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ถึง 378,966 ไร่ ร้อยละ 28.57 ของเนื้อที่จังหวัด มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญสามารถพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น อ่างเก็บน้ำท่าด่าน มีระบบชลประทานที่ทั่วถึงเกือบทั้งจังหวัด และมีแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี เช่น บ้านดงละคร มีอากาศที่ดี เหมาะเป็นที่รับรองการขยายตัวของเมืองหลวง (กทม.)

กลุ่มเศรษฐกิจ/กิจกรรมการผลิต นครนายก เป็นแหล่งปลูกไม้ผลที่สำคัญและมีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลาย ที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอย่างมาก ได้แก่ ส้มโอเขียวหวาน กระท้อน มะม่วง ขนุน ลองกอง มังคุด มะปราง และมะยงชิด ฯลฯ เป็นแหล่งปลูกพืชผักปลอดสารพิษและไม้ดอกไม้ประดับ มีแหล่งผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรม และของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมาก

"การใช้พื้นที่และการถือครองที่ดินทางการเกษตร"

จังหวัดนครนายก มีพื้นที่ทั้งหมด 1,326,250 ไร่ จากข้อมูล ปี 2536 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 746,083 ไร่ (56.26%) พื้นที่ป่าไม้ (ที่มีสภาพเป็นป่า) 302,812 ไร่ (22.83%) ที่เหลือเป็นพื้นที่ไม่ได้จำแนก 277,355 ไร่ (20.91%) การถือครองที่ดินทางการเกษตร ส่วนใหญ่พื้นที่เกษตรเป็นของเกษตรกรเอง 345,880 ไร่ (46.36%) และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองโดยสมบูรณ์ (ไม่ได้จำนอง/ขายฝาก) 279,012 ไร่ (37.40%) ได้จำนอง/ขายฝาก ไว้แล้ว 66,868 ไร่ (8.96%) ที่เหลือเป็นพื้นที่ของคนอื่น 400,203 ไร่ (53.64%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าผู้อื่น 389,540 ไร่ (52.21%) การออกเอกสารสิทธิ ปี 2541 มีพื้นที่นอกเอกสารสิทธิแล้ว 809,527-0-37 ไร่ (61.04% ของพื้นที่จังหวัด) เป็นเอกสารสิทธิประเภทโฉนด 632,077-0-17 ไร่ (78.08%) และเป็นเอกสารสิทธิอื่น (นส.3 กนส.3 และใบจอง) 177,450-2-17 ไร่ (21.92%)

สภาพทางเศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด

สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายกในปี 2540 พบว่า ประชากรมีรายได้ เฉลี่ยต่อหัว 38,628 บาท ต่อปี เป็นอันดับ 47 ของประเทศ โดยทั้งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 9,618.461 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาการค้าส่งและค้าปลีกมากที่สุดถึงร้อยละ 26 คิดเป็นมูลค่า 2,415.208 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาการเกษตรกรรม ร้อยละ 22 คิดเป็นมูลค่า 2,097.062 ล้านบาท และสาขาการบริหาร ร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 1,374.397 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 18.5

[Top]

 เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 324, หน้า 56 

   รายงานพิเศษ พานิชย์ ยศปัญญา มะยงชิดทูลเกล้า อีกหนึ่งของดี นครนายก

นครนายก เป็นจังหวัดที่น่าอยู่อาศัยไม่น้อย ทั้งนี้เพราะอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญทางด้านวัตถุ อย่างกรุงเทพมหานคร หากพิจารณาทางด้านภูมิประเทศ จังหวัดนี้มีความหลากหลาย นับตั้งแต่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จากนั้นพื้นที่ค่อย ๆ ลาดลง จากสูงจนกลายเป็นที่ราบลุ่ม มีคู คลอง หนองบึง ด้วยเหตุฉะนี้เอง ถึงแม้พื้นที่ไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น แต่ถือว่าจังหวัดนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

ด้านการเกษตรอื่น ๆ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย

เนื่องจากนครนายก มีแหล่งน้ำ จึงมีชื่อเสียงทางด้านปลาช่อน ทุกปีมีการจัดงานประจำปีสร้างชื่อเสียงให้ไม่น้อย

พืชสวน นครนายก ไม่เป็นรองจังหวัดอื่น ผลผลิตที่เห็นกันอยู่ประจำคือ เงาะ ทุเรียน มะม่วง ไผ่ตง และที่ฮิตสุด ๆ นั้นคือ พืชตระกูลมะปราง ทุกปีซึ่งเป็นต้นฤดูร้อน มักมีงานให้คนได้ไปเลือกซื้อเลือกหาผลผลิตกัน

จังหวัดนครนายก มีการปลูกพืชตระกูลมะปรางใกล้เคียงกับทางจังหวัดพิจิตร สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ทั้งนี้เพราะถิ่นฐานเดิมของพืชตระกูลนี้ อยู่แถบกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี จากนั้นกระจายไปตามลำน้ำ เป็นการแพร่พันธุ์ทวนกระแสน้ำ สมัยเก่าก่อน ผู้คนใช้เรือแทนที่จะใช้รถ เรือวิ่งในน้ำ แทนที่จะวิ่งตามถนนเมื่อมีการสัญจรไปตามลำน้ำ สิ่งดี ๆ ก็ถูกนำขึ้นไปด้วย แล้วก็ปลูกไว้ไม่ไกลจากริมฝั่งน้ำมากนัก

พืชอย่างหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์ในลักษณะเดียวกับมะปรางคือ ส้มเกลี้ยง

ส้มเกลี้ยง มีปลูกมากครั้งแรกทางฝั่งธนบุรี จากนั้นก็ถูกนำขึ้นไปทางเรือ ปลูกมากที่นครสวรรค์ พิจิตร ส่วนหนึ่งทวนไปกับสายน้ำยม แม่น้ำวัง จุดสุดท้ายมีปลูกมากที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

หากต้องการศึกษาประชากรส้มเกลี้ยง ต้นฤดูหนาวมีจำหน่ายที่ท่ารถ อำเภอเถิน แถบจังหวัดพิจิตรก็มีปลูกมาก ซึ่งทางศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร เคยศึกษาเอาไว้

ที่นี้มาดูมะปรางกันบ้าง มีหลักฐานการปลูกมะปรางต้นขนาดใหญ่ อยู่ริมน้ำน่าน แถบอำเภอตรอน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

ส่วนที่ริมแม่น้ำนครนายก ที่วัดแห่งหนึ่ง มีต้นมะปรางขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

แน่นอนเหลือเกิน สมัยเก่าก่อน สิ่งที่ดี ๆ มักนำไปถวายพระ เมื่อพระท่านได้ฉันก็นำเมล็ดเพาะปลูกไว้ เนื่องจากปลูกด้วยเมล็ด จึงพบว่ามะปรางมีความหลากหลาย ทั้งรูปทรงของผลและรสชาติ

ปัจจุบัน จึงมีการแบ่งพืชตระกูลมะปรางออกเป็น มะปรางหวาน มะยงชิด มะยงห่าง และกาวาง

มะปรางหวานนั้น พบว่า ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดโต เนื้อน้อย รสชาติหวานสนิท มีเหมือนกันที่พบว่า มะปรางผลเล็ก แต่รสชาติเปรี้ยวจี๊ด ส่วนใหญ่ปลูกด้วยเมล็ด ไม่ค่อยมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีสมัยใหม่ คือทาบกิ่งและเสียบยอด

มะยงชิด เป็นพืชตระกูลมะปราง ที่ผลขนาดใหญ่ และถือว่า ปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกมากกว่าอย่างอื่น ในบรรดาญาติพี่น้องตระกูลเดียวกัน มะยงชิดมีเมล็ดเล็ก เนื้อมาก เสี้ยนน้อย รสชาติหวาน มีเปรี้ยวผสมอยู่บ้าง

มะยงชิดบางสายพันธุ์ มีขนาดเท่าไข่ไก่พันธุ์ ซึ่งใหญ่กว่าไข่ไก่แจ้อย่างแน่นอน

มะยงห่าง ลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับมะยงชิด แต่ต่างกันที่รสชาติ คือเปรี้ยวเสียมาก มีหวานผสมอยู่เพียงเล็กน้อย มะยงห่างไม่ค่อยอยู่ในทำเนียบการปลูกเพื่อการค้า

สุดท้าย กาวาง รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนมะยงชิด และมะยงห่าง แต่มีรสเปรี้ยวจัดใกล้เคียงกับมะดัน กาที่หิวโซ เห็นสีเหลืองสวยของไม้ผลชนิดนี้ ลองจิกเพื่อลิ้มรสดู ต้องรีบวาง จนไม้ผลลักษณะอย่างที่แนะนำมาเรียกว่า "กาวาง"

เนื่องจากมะยงชิด เป็นไม้ที่ได้รับความนิยม จึงมีการเสาะหาสายพันธุ์ที่ดี ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมาก คุณทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ เป็นผู้หนึ่งที่เสาะหาเรื่องราวมาเล่าสู่กันให้ได้รับรู้ แหล่งมะยงชิดที่สำคัญของบ้านเรา อยู่ที่สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี เป็นต้น

มะปรางหวานนั้น เนื่องจากผลเล็ก จึงไม่นิยมขยายพันธุ์ จึงมีเฉพาะต้นเดิมเท่านั้น แต่ต้นเดิมก็อายุยืน เป็น 100 ปี ทรงพุ่มมะปรางนั้นสวยงาม โดยเฉพาะต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด ช่วงที่มีผล พบว่า ผลสีเหลืองสวยอร่าม เต็มต้นไปหมด

มะยงห่าง อยู่ในข่ายเดียวกับมะปรางหวาน ส่วนกาวาง หากขึ้นอยู่ในที่ดินที่ต้องใช้ประโยชน์ มักจะถูกขวานและมีดโค่นลงมาทำฟืนเสียส่วนใหญ่

พืชตระกูลมะปราง ออกให้คนได้ลิ้มรส ราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ตลาดในแหล่งที่กล่าวมา มักพบเห็นผลจำหน่ายอยู่มีขนาดเล็ก

ผลผลิตส่วนใหญ่ ที่มีขนาดใหญ่ มักมีการขายตรง รวมทั้งซื้อกันเป็นของฝาก

ผลมะยงชิดยังมีราคาแพงอยู่ เข้าทำนองคนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ

ทีมข่าวเทคโนโลยีชาวบ้านก็เช่นเดียวกัน ผลผลิตกิโลกรัมละ 200-300 บาท เหลือบดูแล้ว ราคาแพงกว่าแอปเปิ้ล ยามใดที่อยากลิ้มรสมะยงชิด ก็ออกตระเวนเยี่ยมคนรู้จักที่ปลูกมะยงชิดกัน ชิมกัน 2-3 ลูก พอให้พูดได้ว่า ปีนี้ได้ชิมแล้ว ส่วนจะกินกันเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนอย่างกินกล้วยกินขนุนนั้น ไม่ค่อยปฏิบัติกันนัก เข้าทำนองรู้จักอยู่รู้จักกิน

มะยงชิดทูลเกล้า ที่นครนายก

นครนายก มีปลูกมะยงชิดได้ผลดีหลายรายด้วยกัน แต่ที่ลือลั่นและยืนยงมากที่สุดคนหนึ่ง เห็นจะได้แก่ คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล เกษตรกร อยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ 3 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26000

ผู้ที่อยู่ในแวดวงจะรู้จักสวนคุณวชิระดี ในนาม สวนละอองฟ้า 2 ยาวนานทีเดียว สำหรับพัฒนาการของสวนละอองฟ้า ซึ่งมีตั้งแต่ละอองฟ้า 1-3

คุณวชิระ เล่าว่า นายชม โสวรรณะตระกูล พ่อของตนเองซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เล็งเห็นว่า ทุเรียนทางเมืองนนท์และกรุงเทพฯ บางส่วนสูญพันธุ์แน่ จึงมีการรวบรวมพันธุ์ไปปลูกไว้ที่ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก (ใกล้กับวังรี รีสอร์ท)

ยุคสมัยก่อน การปลูกทุเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่นายชมและลูก ๆ ก็ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ จนสามารถรักษาพันธุกรรมทุเรียนไว้ได้มากกว่า 40 สายพันธุ์ เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดิน ที่หายากมาก

ประสบการณ์อย่างหนึ่งของคุณวชิระนั้น มีอยู่ปีหนึ่งฝนแล้งขนาดหนัก นายชมให้ลูกไปเสาะหาน้ำมารดต้นทุเรียน ซึ่งต้องไปแบ่งน้ำจากแหล่งน้ำของชาวบ้าน บางครั้งมีการกระทบกระทั่ง แทบต้องลงแรงกัน

ลูก ๆ เกรงว่าจะมีการเลือดตกยางออก จึงเข้าหารือกับพ่อ

นายชมพูดกับลูก ๆ ว่า "ไม่เป็นไร เอาต้นทุเรียนไว้ก่อน"

นายชมเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่สวนทุเรียนยังอยู่ รู้จักกันดีในนาม สวนละอองฟ้า 1

ลูก ๆ ของนายชม ออกเรือนสร้างงานกันหลายรูปแบบ คุณวชิระออกไปทำสวนมะยงชิด ในนามสวนละอองฟ้า 2

น้องคุณวชิระ ปลูกทุเรียน มะม่วง เงาะ ดาหลา และขิงแดง รู้จักกันในนาม สวนละอองฟ้า 3

เหตุที่คุณวชิระไม่ได้ดูแลสวนทุเรียนนั้น นายชมมองว่า คุณวชิระ มีแววที่จะพัฒนาที่ดินตรงสามแยกสาริกาได้ จึงมอบที่ดินผืนใหม่ให้ ซึ่งเป็นจริงอย่างที่นายชมคาดคะเน เพราะคุณวชิระสร้างงานปลูกมะยงชิดอย่างได้ผล

ปัจจุบัน เขามีมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า แก้วกลางดง และแม่ระมาด ผลผลิตที่มี เป็นที่ถูกใจของผู้ซื้อไม่น้อย

ทูลเกล้าดีอย่างไร

คุณวชิระแนะนำมะยงชิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ดังนี้

มะยงชิดทูลเกล้า เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรี ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองออกแดง ใส ทรงรูปไข่ เนื้อมาก เมล็ดเล็ก เปลือกหนา เนื้อแข็ง ผลเคยคัดได้ 10 ผล ต่อกิโลกรัม แต่โดยทั่วไปมีขนาด 12-15 ผล ต่อกิโลกรัม

แก้วกลางดง สายพันธุ์ไปจากนนทบุรี ผลใกล้เคียงกับทูลเกล้า คุณสมบัติเด่นที่พบอยู่คือ เนื้อแข็ง เมื่อสุกผลสีส้ม ไม่ออกแดงอย่างทูลเกล้า

แม่ระมาด สายพันธุ์นี้ นายชมซื้อมาจากแม่ค้าที่เมืองนนท์ ชื่อ คุณระมาด จำนวนที่ซื้อมาราว 50 ผล เมื่อเพาะแล้วได้ต้นที่คุณสมบัติดีเด่นเพียง 1 ต้นเท่านั้น จึงตั้งชื่อว่า แม่ระมาด คุณสมบัติแม่ระมาด ไม่โดดเด่นเท่าทูลเกล้านัก

พระเอกของสวนนั้น คุณวชิระบอกว่า เห็นจะได้แก่ทูลเกล้า ซึ่งต้นที่อายุ 5 ปี มีความสมบูรณ์ เคยเก็บผลผลิตได้ต้นละ 30-50 กิโลกรัม ราคาที่ขายนั้น เคยขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท บางปีผลผลิตมีน้อย ขายได้ราคามากกว่านี้

ปลูกและดูแลอย่างไรให้ได้ผล

คุณวชิระแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นในการปลูกมะยงชิดว่า งานขยายพันธุ์ต้องใช้วิธีสมัยใหม่ นั่นก็คือ การทาบกิ่ง ซึ่งจะได้ลักษณะตรงตามพันธุ์

สมัยก่อนทาบกิ่งแล้วชำ จากนั้นปลูก ถือว่าเป็นการเพียงพอ แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอเสียแล้ว

คุณวชิระแนะนำว่า เมื่อได้ต้นทาบกิ่งปลูกชำในกระถาง ให้ถอนต้นตอปลูกตามขอบกระถาง 3 จุด ด้วยกัน จากนั้นทำคล้ายการทาบกิ่ง ซึ่งเรียกกันว่าการเสริมรากนั่นเอง การเสริมรากเข้าไป 3 ต้น เรียกกันว่า เสริมเข้าไป 3 ขา

การขยายพันธุ์ในลักษณะอย่างนี้ ช่วยให้การปลูกมีความแข็งแรง ให้ผลผลิตเร็ว

กรณีเกษตรกรที่ปลูกกิ่งทาบลงดิน สามารถเสริมรากเข้าไปได้ โดยปลูกต้นใหม่รอบ ๆ เมื่อต้นโตได้ที่ก็เสริมรากเข้าไป

รากช่วยให้การหากินดีขึ้น ต้นจะเจริญเติบโตดีกว่าต้นทั่วไป

ดิน ที่คุณวชิระปลูกมะยงชิด ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นัก แต่เจ้าของแก้ไขโดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นการปรับปรุงบำรุงดิน

"ที่นี่ ไม่ค่อยใช้ปุ๋ยเคมี ส่วนสารเคมีไม่ใช้นานแล้ว ดีที่สุดปุ๋ยชีวภาพ เราทำเอง" คุณวชิระบอก

แนวทางหนึ่ง ที่ทำแล้วได้ผลดีมาก คือการปลูกพืชบำรุงดิน

คุณวชิระไปที่สถานีพัฒนาที่ดินนครนายก ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า ควรปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด เขาเลือกถั่วพร้ามาปลูกรอบ ๆ ต้นมะยงชิดที่ปลูกไว้ เมื่อมีผลผลิตส่วนหนึ่งเป็นเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ส่วนหนึ่งตัดให้ทับถม จึงเป็นปุ๋ยที่ดีมาก ต้นเติบโตแตกต่างจากต้นที่ไม่ได้ทำ

ซื้อขายอย่างไร

ทำเลที่ตั้งของสวนละอองฟ้า 2 อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครนายก หากมุ่งจากตัวเมือง ถึงสามแยกสาริกา เลี้ยวขวาไปทางวังตะไคร้ สวนคุณวชิระอยู่ซ้ายมือ

หากตรงไป เพื่อไปยังน้ำตกสาริกา สวนคุณวชิระอยู่ขวามือ

ด้วยทำเลที่เหมาะสม ใครที่ผ่านไปมา เห็นผลผลิต จึงแวะซื้อ จนผลผลิตไม่ต้องนำไปจำหน่ายที่ไหน

เรื่องของกิ่งพันธุ์ คุณวิไล หรือคุณแดง ภรรยาของคุณวชิระ จะนำกิ่งพันธุ์ที่มีอยู่ ตระเวนไปจำหน่ายไกล ๆ ในงานเกษตร เช่นที่ชลบุรี กรุงเทพฯ และทางภาคเหนือหลายจังหวัด ทำให้มะยงชิดของสวนละอองฟ้า เป็นที่รู้จักกันดี

ผู้สนใจ ถามไถ่กันได้ตามที่อยู่ หรือโทร. (037) 328-129 และ (01) 481-4287

แนวทางการผลิตมะยงชิดของคุณวชิระในปัจจุบัน เน้นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ได้ใช้สารเคมี

ใครที่อยากลิ้มรส ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ลองถามไถ่กันได้

[Top]

 เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 324, หน้า 74 

   รายงานพิเศษ วิชาญ สาริกา กับงานแกะสลักไม้ไผ่ ที่นครนายก

หากเอ่ยถึงจังหวัดนครนายก ทุกคนมักนึกถึงน้ำตกนางรอง น้ำตกวังตะไคร้ น้ำตกสาริกา และมะปรางเป็นอันดับต้น ๆ แต่ใครจะรู้บ้างว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายกคือ ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่แกะสลักจากภูมิปัญญาของคนนครนายกโดยแท้ ฝีมือประณีต รูปแบบแปลกตา

ใครจะคิดบ้างว่า? เหง้าไม้ไผ่ที่ทุกคนมองว่าไม่มีค่าอะไรวันนี้จะกลายมาเป็นหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ขายดิบขายดีของจังหวัดนครนายก

จากคำบอกเล่าของ คุณวิชาญ สาริกา อยู่บ้านเลขที่ 45/1 หมู่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร. (06) 143-4231, (01) 577-1789 ซึ่งเป็นงานหนึ่งที่ได้สรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เดิมมีอาชีพเป็นช่างแกะสลักหินอ่อนจำหน่ายมาก่อน แต่ต่อมากิจการไม่ค่อยดีแถมมีหนี้อีกเกือบ 600,000 บาท เพราะไปกู้เงินมาลงทุน เลยคิดมาลองแกะสลักไม้ไผ่ดูเพราะมีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว

"ก่อนที่จะทำผลิตภัณฑ์นี้ก็มีคนอื่นทำกันอยู่ก่อนแล้ว จะมีการร่วมกลุ่มกันทำและจัดวางจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวแต่ตอนหลังก็เลิกกันไป ต่อมาทางจังหวัดก็เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ" วิชาญกล่าว

การแกะสลักไม้ไผ่

ไม้ไผ่ลำหนึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เริ่มแรกในการแกะนั้นเมื่อได้ไม้ไผ่มาขั้นตอนแรกเลยต้องนำไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อประมาณ 15 วัน และตากแดดอีก 15 วัน (สำหรับเหง้าไม้ไผ่) แล้วนำไปเจียน นำไปขัด แกะขึ้นรูป ตรงนี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และความชำนาญในการทำ เสร็จแล้วนำไปขัดเก็บรายละเอียด สุดท้ายลงสีเพิ่มความสวยงาม ส่วนลำไม้ไผ่ต้องผ่านการอบรมควันก่อนประมาณ 15 วัน แล้วจึงนำมาแกะสลักได้

"ปกติผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ที่ทำแบบผ่ากลางมีฝาปิดเปิดค่อนข้างเรียบ ๆ เป็นรูปแบบธรรมดามีคนทำกันเยอะมาก ผมก็เลยมาลองแกะรูปแบบต่าง ๆ ใส่ลงไป ปรากฏว่าตลาดดีมาก ๆ ก็เลยกลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไปแล้ว ตลาดมีแนวโน้มสูง ทำกันหลายเจ้า"

"เฉพาะเหง้าไม้ไผ่แต่ก่อนไม่ได้แกะอะไร ขายถึง 500-600 บาท ขายได้แบบสบาย ๆ เดี๋ยวนี้ขายยากมากราคาลดเหลือแค่ 150 บาท พักหลังกลายมาเป็นงานโคมไฟกันมาก ส่วนใหญ่เป็นลายฉลุธรรมดา ๆ ก็เลยมาแกะลายใส่เข้าไปเป็นงานโชว์ก็มี ส่วนมากผมจะเน้นลวดลายเพราะเป็นลายฉลุธรรมดา"

ระยะเวลาในการทำ

ในการทำงานชิ้น ๆ ใช้เวลานานพอสมควร ตกประมาณ 2-3 อาทิตย์ เนื่องจากเป็นงานฝีมือต้องใช้ความละเอียดอ่อน งานไม้ไผ่ไม่เหมือนงานเศษไม้สัก งานเศษไม้สักได้วัตถุดิบมาชิ้นหนึ่ง สามารถแกะสลักได้เลย งานไม้ไผ่ไม่เหมือนกันต้องผ่านการตากแดด แช่น้ำยา นำไปตัดแต่ง อบรมควัน ถึงจะนำมาแกะได้ แกะเสร็จนำไปเจียน นำไปเกา ขัด และทาน้ำยา จะเห็นว่ามีหลายขั้นตอน กว่าจะได้งานชิ้นหนึ่งออกมา

วัตถุดิบส่วนมากยังอยู่ในเขตนครนายก ไม้ไผ่พันธุ์หลัก ๆ ที่นำมาแกะเป็นพันธุ์ไผ่ตง แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ หนัก กลาง เบา อย่างที่แกะอยู่จะเป็นไผ่ตงกลาง ไผ่ตงหนักค่อนข้างลำใหญ่ มีเหง้าใหญ่ และไม่นิยมกินหน่อกัน ไผ่ตงกลางกับไผ่ตงหนักใช้ลำและเหง้าในการแกะสลัก ส่วนไผ่ตงเบานิยมกินหน่อ ส่วนต่าง ๆ ของไม้ไผ่สามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้หมดไม่ค่อยได้ทิ้ง เป็นเงินทั้งนั้น

ลวดลายขึ้นอยู่กับตลาดเพราะตลาดเป็นตัวบังคับอยู่แล้ว ต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย กับการแข่งขันกับเจ้าอื่น ๆ เพราะเริ่มแรกส่วนมากจะแกะเป็นลวดลาย เดี๋ยวนี้มีคนเลิกกันไปเยอะแล้ว คิดว่าคงอิ่มตัวไปเอง ถ้าแกะแบบธรรมดาก็ไม่คุ้มกับค่าแรง ไม่คุ้มกับค่าน้ำยาที่เสียไป ต่างกับไม้สักเพราะไม้สักแกะแล้วสามารถขายได้เลยจะง่ายกว่า สามารถตีราคาได้เลย 80% เป็นงานโคมไฟ

การจำหน่าย

คุณวิชาญไม่ได้ไปวางขายเป็นร้านแต่จะเป็นตลาดขายตรงที่ลูกค้าส่วนมากมารับซื้อถึงบ้าน ที่นี่จำหน่ายราคาส่งตกชิ้นละ 300 บาท ส่วนขายปลีกตกชิ้นละ 500 บาท โคมไฟจำหน่ายราคาตั้งแต่ 120 บาทขึ้นไป แต่โชคดีนิด ๆ คือเวลาไปแสดงออกงานปีหนึ่ง ๆ ก็จะได้ลูกค้าใหม่ ๆ มา 2-3 เจ้า ก็พออยู่ได้ ถ้าลูกค้าสั่งรูปแบบอื่น ๆ ก็ต้องดูรูปแบบก่อนและราคาก็แพงขึ้นตามความยากง่ายของแบบ ส่วนโคมไฟนี้เพิ่งเริ่มทำจริง ๆ เริ่มทำได้ไม่ถึง 100 ชิ้น เพราะทำคนเดียว

โคมไฟตอนนี้ที่ทำออกมาก็มีประมาณ 4 แบบด้วยกัน ก็จะมีแบบดอกไม้บาหลี ช้าง ปลา และต้นมะพร้าว ส่วนมากจะเป็นรูปช้างที่ขายดีเพราะส่งที่ภูเก็ต ลูกค้าส่วนมากเป็นลูกค้าชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

"ส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหามาก ที่หนักใจอยู่มีเรื่องมอดอย่างเดียว ถ้าเป็นไม้บาง ๆ จะไม่กลัวเลย ถ้าเป็นหัวไม้นั้นน่ากลัวไม่รู้ว่ามอดอยู่ตรงไหน ก็แค่ทาน้ำยาตามปกติ เริ่มแรกไม้ไผ่ที่ได้ต้องผ่านการแช่น้ำยา 15 วัน และตากแดดประมาณ 15 วัน อยู่แล้ว"

"ถ้าเป็นกระบอกต้องนำไปอบรมควันก่อนค่อยนำมาแกะสลักได้ แต่ระยะเวลาในการอบก็นานพอสมควรประมาณ 15 วัน การอบก็ไม่ได้อบแห้ง 100% เลย คือได้ประมาณ 60% จะนำออกมาผึ่งแดด ถ้าแห้งเกินเวลาแกะไม้จะกรอบและแตกได้ง่าย ลักษณะการอบก็จะเป็นแบบก่อไฟด้านนอกห้องอบแล้วต่อท่อปล่อยควันเข้าไป ประโยชน์ของการอบรมควันเพื่อทำให้ไม้แห้งเร็วขึ้น เนื้อไม้ไม่เหนียว ฆ่าเชื้อราป้องกันมอดไปในตัว การดูแลรักษาเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ไปแนะนำให้ใช้ผ้าบาง ๆ หรือฟองน้ำชุบน้ำบิดพอมาด ๆ แล้วเช็ดตามที่ต้องการได้" นายวิชาญกล่าวในที่สุด

หากใครผ่านไปแถว ๆ จังหวัดนครนายก หรือไปเที่ยวแถว ตำบลสาริกา อำเภอเมือง นครนายก ก็ลองไปอุดหนุนหรือเข้าไปเยี่ยมชมได้ ติดต่อได้ที่ คุณวิชาญ สาริกา โทร. (06) 143-4231, (01) 577-1789

[Top]

 เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 324, หน้า 50 

   รายงานพิเศษ นครนายก

นครนายก เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดี สมัยพระเจ้าอู่ทอง ในปี พ.ศ. 2437 เคยเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออก เป็นดินแดนแห่งน้ำตก ซึ่งมีชื่อเสียงหลายแห่ง เมืองนี้เคยเป็นเมืองท่าข้ามของโขลงช้างในอดีต

นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี กรมศิลปากร สันนิษฐานว่าจังหวัดนครนายก เป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยทวารวดี ทั้งนี้จากหลักฐานการขุดค้นตัวเมืองเก่า ที่ตำบลดงละคร หรือเมืองลับแล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองนครนายก ในปัจจุบันพบว่า ตัวเมืองเก่ามีลักษณะเป็นรูปทรงกลม อันเป็นลักษณะตัวเมืองของสมัยทวารวดี

สำหรับชื่อจังหวัด "นครนายก" นี้ ยังไม่มีการยุติได้แน่นอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่พอสรุปผลการใช้ชื่อนี้ได้ 3 แนวทางด้วยกันคือ นครนายก มาจากคำว่า "โกระยก" เป็นคำพื้นเมืองเดิมสมัยขอม ซึ่งเคยมีอิทธิพลอยู่ในแถบนี้ไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด ต่อมาได้เพี้ยนเป็น ครยก (คอนยก)-คอนยก-และนครนายก

นครนายก มาจากคำว่า "สมุหนายก" คือการปกครองแผ่นดินฝ่ายหนึ่งของสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสมุหกลาโหม และฝ่ายสมุหนายก สมุหนายกมีหน้าที่ในการจัดหาเสบียงอาหาร สัตว์พาหนะ และผู้คน เพื่อไว้ใช้ในพระนคร นครนายกเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยา ได้รับการดูแลใกล้ชิด จากสมุหนายก จึงได้เรียกว่า "เมืองนครนายสมุหนายก" และกลายเป็น "นครนายก"

นครนายก มาจากคำว่า "นา-ยก" หมายถึงการยกภาษีที่นาให้แก่ราษฎร เนื่องจากเดิมเมืองนครนายกมีสภาพเป็นป่าดง การทำมาหากินลำบากไม่พอเลี้ยงชีพ เจ้าเมืองแจ้งให้เมืองหลวงทราบ จึงให้ยกเว้นภาษีที่นาให้แก่ราษฎร เมื่อมีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานขึ้น จึงเรียกว่า "เมืองนายก" และกลายเป็น "นครนายก"

ในปี พ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล นครนายก ได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี และเมื่อ พ.ศ. 2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง และให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทน

จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 107 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2,122 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,326,250 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา

ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี

พืชเศรษฐกิจของจังหวัด

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครนายกมี 4 ชนิด ได้แก่

  1. ข้าวนาปี จากสถิติการเพาะปลูก ปี 2542-2543 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี รวม 677,283 ไร่ มีผลผลิตรวม 318,114 ตัน
  2. ข้าวนาปรัง จากสถิติการเพาะปลูก ปี 2542-2543 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง รวม 151,518 ไร่ มีผลผลิตรวม 84,010 ตัน
  3. การปลูกพืชไร่ จากสถิติการเพาะปลูก ปี 2542-2543 มีพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ รวม 1,416 ไร่ มีผลผลิตรวม 3,928 ตัน
  4. การปลูกพืชผัก จากสถิติการเพาะปลูก ปี 2542-2543 มีพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก 6,097 ไร่ มีผลผลิตรวม 9,488 ตัน
ที่มา : รายงานสภาวะการผลิตพืชที่ปลูก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542 - เมษายน 2543
[Top]

 เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 324, หน้า 68 

   รายงานพิเศษ อุราณี ทับทอง วังรี นครนายก รีสอร์ทนอกกรอบ ยกระดับคนรากหญ้า

หากใครได้ไปเที่ยวเมืองธรรมชาติ เต็มไปด้วยน้ำตกที่สวยงามอย่างจังหวัดนครนายก...โรงแรม ที่พัก รวมถึงรีสอร์ท คือสิ่งหนึ่งที่นักตระเวนธรรมชาติต้องตัดสินใจเลือก

หากได้ที่พักที่พร้อมสรรพไปด้วยกิจกรรมหลากชนิดซึ่งรวมอยู่ ณ ที่เดียวกัน ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คิดดูเอาว่าจะคุ้มค่าแค่ไหน...

ที่ "วังรี รีสอร์ท" คือสถานที่หนึ่ง ที่มีผู้นิยมใช้บริการกันมาก เนื่องจากมีหลากกิจกรรม หลายบรรยากาศรวมกันอยู่ในพื้นที่กว่า 500 ไร่

นอกจากกิจกรรมกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติกลางป่าเขา ล้อมรอบด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยปรือ และ อ่างเก็บน้ำทรายทอง และอยู่ไกลจากน้ำตกนางรอง และน้ำตกสาริกาไม่กี่กิโลเมตร ยังมีกิจกรรมสันทนาการครบวงจรอยู่ภายใน ทั้งสโมสรขี่ม้า สระว่ายน้ำ สวนสุขภาพ ห้องยิมออกกำลังกาย ห้องเซาน่า ดิสโก้เธค คาราโอเกะ แถมยังขับรถเพียง 15 นาที ก็ถึงสนามกอล์ฟในจังหวัด และไหนจะที่พักอีกหลากแบบ ทั้งแบบโรงแรมและบ้านหรูหลังใหญ่ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนพฤกษชาติ...

เท่านี้คงเพียงพอที่จะให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนอย่างสมบูรณ์ และได้ชื่อว่าเป็นรีสอร์ทที่ครบครันด้วยสิ่งบันเทิง...

แต่นั่น ไม่ใช่จุดประสงค์หลักที่ คุณกมลทิพ พยัฆวิเชียร เจ้าของรีสอร์ทนักบริหารแห่งนี้มุ่งหวัง เพราะความตั้งใจที่มีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งนั้น ไม่ใช่การจัดการสถานที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่กลับเป็นการตั้งต้นในการเป็นศูนย์ประชุมสัมมนาครบวงจร หวังพัฒนาบุคคล เพื่อผลสำเร็จขององค์กร ซึ่งมีสถานที่ที่อำนวยความสะดวกรองรับ

"รีสอร์ทแห่งนี้คือศูนย์ประชุม แต่หมายความถึงกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าการประชุมก็คือ การพัฒนาคนให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับประเทศ แม้เศรษฐกิจของประเทศจะดี แต่คนระดับล่างยังยากจนอยู่นั้นก็มีความหมายเท่าเดิม เราจะให้พวกเขาไม่ยากจนโดยขยับฐานะขึ้น เปลี่ยนชีวิตจากผู้ซื้อเป็นผู้ขายคือคอนเซ็ปต์ของเรา ถ้าเขาเปลี่ยนใจ เขาก็จะประสบผลสำเร็จ สามารถเปลี่ยนตัวเองจากผู้ซื้อเป็นผู้ขายที่ยิ่งใหญ่ได้" คุณกมลทิพ กล่าว

ด้วยความเหมาะสมทั้งแนวคิดของผู้บริหารผสานกับสถานที่ที่ลงตัว ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์สัมมนาบรรยากาศรีสอร์ท จนเกิด "สถาบันพัฒนาอาชีพ วังรี" ในที่สุด มีโปรแกรมการอบรมการเรียนรู้ ครอบคลุมด้านการเกษตร การผลิตและการแปรรูป เป็นหน่วยงานเอกชนเพียงแห่งเดียวที่เป็นเครือข่าย "คลีนิคเทคโนโลยี" มุ่งหวังเป็นที่พึ่งของชุมชน ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2541 โดยเริ่มโครงการแปรรูปเนื้อสัตว์และปลา ผัก ผลไม้ ข้าว เบเกอรี่ หัตถกรรมสิ่งทอ เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีการสอนมุ่งเน้นการปฏิบัติ ทั้งการแปรรูป การขาย การตลาดครบวงจร

"คลีนิคเทคโนโลยี มีอยู่ 23 แห่ง ทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นหน่วยงานของรัฐ มีที่วังรีที่เดียวเป็นหน่วยงานของเอกชน ปี 2543 - 2544 ได้อบรมผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 8,000 ราย 50% ของผู้ประกอบการในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้ได้รับการอบรมจากคลีนิคเทคโนโลยี วังรี ความสำเร็จในการฝึกให้เกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการนี้ เกิดมาจากกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนความคิดของผู้เข้าอบรมตามคอนเซ็ปต์ของเราคือ ชีวิตใหม่ เปลี่ยนได้ใน 7 วัน เน้นการสอนแบบจับมือทำ มีการทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการตลาดการขายอย่างแท้จริง" คุณกมลทิพ กล่าวในฐานะของผู้อำนวยการคลีนิคเทคโนโลยีสถาบันพัฒนาอาชีพวังรี

เธอยังบอกต่อว่า ระยะเวลา 2 ปี ที่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตสินค้า OTOP จากเดิมที่ไม่เคยมีสินค้าเป็นของตัวเอง แต่ละรายมียอดขายต่อเดือน 100,000-200,000 บาท สร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน คนละ 5,000-6,000 บาท ต่อเดือน

ล่าสุด เพื่อการต่อยอดกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว และเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดเสรี ผนวกกับความต้องการของผู้ประกอบการในการเพิ่มยอดขาย จึงเกิดโครงการ "เติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า การผลิตและการแปรรูปอาหารให้แก่ OTOP และ SMEs" ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันการส่งออกสินค้าคุณภาพยังต่างประเทศ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายสินค้าอยู่แล้ว มาอบรมหลักสูตรการผลิตและการแปรรูปอาหาร เน้นความรู้ด้านการตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิตและแปรรูปที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษา มีมาตรฐานและความปลอดภัยในการบริโภค มีวิทยากรจากคลีนิคเทคโนโลยีของหน่วยงานในกระทรวงร่วมกับเครือข่าย โดยมีคลีนิคฯ วังรีแห่งนี้ เป็นผู้ดำเนินโครงการ

คุณกมลทิพ กล่าวว่า การพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อยกระดับเป็นผู้ประกอบการ SMEs มีปัจจัยหลายอย่าง

ประการแรก คือ ต้องขายสินค้าให้มากขึ้น โดยพัฒนาสูตรสินค้าให้อยู่ได้นานกว่าเดิม

ประการที่สอง คือ สินค้าต้องมีการส่งจำหน่ายต่างพื้นที่ เช่น ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ โดยต้องพัฒนาหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีคุณภาพ

ประการที่สาม ต้องพัฒนาการบริหารการจัดการการผลิตทั้งระบบ ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่กระทรวงตั้งโครงการนี้ขึ้น อย่างก้าวกระโดดโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

"เนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์มีระบบการทำงานไม่เหมือนกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงเกษตรฯ มีเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล แต่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่มีอย่างนั้น แต่มีศูนย์พัฒนาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่น วว. (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) หรือสถาบันพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ประชาชนไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีหน้าที่ในการฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขณะที่คนไทยก็ทานของดิบ แต่ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัย การฉายรังสี เช่น แหนมฉายรังสี ก็จะปลอดภัย 100% โดยไม่ทำให้เสียรสชาติ และยังสามารถยืดอายุสินค้าได้อีก ทางกระทรวงจึงต้องการให้ศักยภาพเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับประชาชนผู้ผลิตรายย่อย ไม่ใช่รายใหญ่จึงเกิดโครงการนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิต มูลค่าของสินค้า"

ครูแอ๋วกล่าวถึงที่มาของโครงการ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 300 คน

"ในวันแรกเรียนเรื่อง โปรดักส์ วันที่ 2 เรียนเรื่องแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าสินค้าอะไรเหมาะกับวัสดุแบบไหน เช่น หากเป็นสินค้าแช่แข็งจะแพ็กอย่างไร จะขายสินค้าที่เป็นน้ำตัวไหนดีและประหยัดต้นทุนที่สุด หรือหากเป็นสินค้าแห้งไม่ต้องการให้อากาศเข้า เก็บได้นานไปตลอดจะใช้วัสดุอันไหน ส่วนนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงจะมาเป็นผู้สอน ส่วนทางคลีนิคฯ วังรีจะสอนเรื่องดีไซน์จากมืออาชีพโดยตรง วันที่ 3 ต้องเรียนรู้การยืดอายุสินค้า โดยกระทรวงจะรับสินค้าไปเข้าห้องแล็บ สอบถามกระบวนการผลิตเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ต้องตามต่อ"

ส่วนอีก 2 วัน ที่เหลือ ผู้เข้าอบรมจะได้หลักสูตรการผลิตการแปรรูปวัตถุดิบต่าง ๆ ตามประเภท อีก 25-30 สูตร อย่างเต็มที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนตามประเภทวัตถุดิบ เป็นอันครบ 5 วัน ตามกำหนดหลักสูตร

คุณกมลทิพ บอกว่า ตลอดการอบรมไม่มีเวลาเลิกตายตัว ในแต่ละวันผู้เข้าอบรมจะเข้าห้องพักราว 3 ทุ่ม ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้เข้าอบรมที่ต้องการใช้เวลาเรียนรู้ให้มากที่สุดตามกำลัง

ทุกขั้นตอนตั้งแต่วิสัยทัศน์ จนถึงการปฏิบัติจริง คือสิ่งที่คุณกมลทิพคลุกคลีเสมอมา

เวลานี้ใคร ๆ เรียกคุณกมลทิพ ว่า "ครูแอ๋ว"

เพราะทุกครั้งที่มีการสอน เธอจะเข้ามาแนะนำดูแลผู้เข้าอบรมด้วยตัวเอง พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ และสวนที่เห็นส่วนมากนั้นคือหนึ่งในกิจกรรมของวังรี เพิ่มเติมเต็มการอบรม ครูแอ๋วแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนในรีสอร์ทเพื่อปลูกผัก ผลไม้ ผลผลิตที่ได้คืออาหารของพนักงานนับร้อยชีวิตให้อิ่มกันถ้วนหน้า โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อมาทำงานที่แห่งนี้ โดยเฉพาะผักผลไม้นานาชนิดนั้นยังปลอดภัย ไร้สารเคมี เนื่องจากใช้ปุ๋ยชีวภาพทั้งหมด และสิ่งหนึ่งที่ครูแอ๋วต้องการคือ การเป็นแบบอย่างเพื่อถ่ายทอดการผลิตอย่างครบวงจร

"จริง ๆ แล้วผลประโยชน์ของประชาชนในระดับล่าง คือผลของประเทศชาติโดยรวม หากคนส่วนนี้อยู่สบายเราก็จะอยู่อย่างสบายไปด้วย จะเป็นผลพวงทั้งประเทศ สิ่งที่ทำจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจระดับรากหญ้าจริง ๆ จากนั้นคนจะเลิกจน แล้วปัญหาเรื่องยาเสพติดมาฆ่าแกงกัน จิตใจก็จะดีขึ้น จากการติดตามประเมินผล พบว่าผู้คนที่กลับไปมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มยอดขายได้เดือนละ 50,000 บาท จากที่ไม่เคยขายได้มาก่อน บางรายได้ถึงเดือนละ 2 แสน ซึ่งบอกกับเราได้ว่าพวกเขามีจิตใจนักสู้ คิดว่าแม้อาจจะเป็นไปไม่ได้ก็จะทำ แต่ทั้งนี้ต้องมีการกระตุ้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดของเขาให้มีชีวิตใหม่ ชี้ให้เห็นว่าอยู่มา 40 ปี มันยากลำบาก มันเหนื่อยขนาดไหน ต่อไปนี้ถ้าอยากเลิกเหนื่อยต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน อะไรที่ทำไม่ได้ ต้องคิดว่าทำได้"

...นี่คือ สิ่งที่ครูแอ๋ว หรือ คุณกมลทิพ พยัฆวิเชียร แห่งวังรี รีสอร์ท มองการณ์มาตลอด ในฐานะหน่วยงานเอกชน เพื่อสังคมส่วนรวม...

สนใจโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เครือข่ายคลีนิคเทคโนโลยีตามมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถาบันราชมงคล และวิทยาลัยเทคนิค ติดต่อเบอร์กลางได้ที่ หมายเลข (02) 246-0064 ต่อ 621, 640, 642

หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วังรี รีสอร์ท ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก สถานที่ติดต่อ: สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. (02) 641-4816-9 หรือ (037) 386-406-9

[Top]

 ประชาชาติธุรกิจ, ปีที่ 27 ฉบับที่ 3536 (2736), 1 ธันวาคม 2546, หน้า 41 

 เร่งวางผัง"นครนายก"รับเมืองใหม่ ออกกฎคุมเข้มพัฒนาทะเลทอง 
สำนักโยธาธิการและผังเมืองนครนายกระดมสมองวางผังเมืองรวมนครนายกกำหนดกรอบการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ตัวแทนหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นคึกคัก รับกระแสบูมเมืองใหม่ ชี้คนส่วนใหญ่ยังสับสน เหตุจากข้อมูลภาครัฐไม่ชัดเจน ชาวบ้านหวั่นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมเกิดตามมา

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระแสข่าวที่มีออกมาต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลจะเลือกพื้นที่บริเวณอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอใกล้เคียงเป็นที่สำหรับพัฒนาเมืองใหม่ โดยตั้งเป้าให้เป็นเมืองไฮเทคและปราศจากมลพิษ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวและให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก แม้ขณะนี้การดำเนินการในเรื่องนี้จะยังไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรมมากนัก

เห็นได้ชัดเจนในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "การวางผังเมืองรวมจังหวัดให้เป็นเมืองในฝัน" ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสีดา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก และได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน มาร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำผังเมืองรวมนคร นายกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมสัมมนาถึงเกือบ 300 คน จากที่ตั้งเป้าไว้เพียงแค่ 200 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาในการสัมมนาแม้จะเน้นไปที่การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก ซึ่งจะมีการวางผังเมืองรวมทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรก จากเดิมที่มีเฉพาะผังเมืองรวมอำเภอเมือง นครนายกเพียงผังเดียว และหมดอายุไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดนครนายกในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบที่จะตามมา ไม่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ ผังเมืองรวมนครนายกที่จะจัดทำขึ้นใหม่จะครอบคุลมพื้นที่ 4 อำเภอ รวม 2.12 ล้าน ตร.ก.ม. หรือ 1.3 ล้านไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมือง 7.28 แสน ตร.ก.ม. บ้านนา 3.88 แสน ตร.ก.ม. องครักษ์ 4.86 แสน ตร.ก.ม. และปากพลี 5.19 แสน ตร.ก.ม. มีองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด 40 แห่ง ส่วนใหญ่มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร มีชุมชนขนาดใหญ่และใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงพาณิชย์ค่อนข้างน้อย เฉพาะในตัวอำเภอและเขตเทศบาล

นางแสงอรุณ วัฒนวงศ์ หัวหน้าสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำผังเมืองรวมนครนายกครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการครั้งแรก ขั้นตอนจากนี้ไปจะมีการรวมความคิดเห็นทั้งหมด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ก่อนจะเสนอร่างผังเมืองรวมให้คณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติพิจารณา ในส่วนของเมืองใหม่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะเลือกพื้นที่ใด มีข่าวว่านครนายกอาจจะอยู่ในข่ายได้รับเลือก แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับรัฐบาลในการจัดวางผังเมืองรวม เราจึงเน้นให้การวางผังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดเป็นหลักก่อน โดยรวมคือให้นครนายกเป็นเมืองที่น่าอยู่ คือ 1. เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย โดยดำรงรักษาแหล่งประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมที่ดี มีบริการด้านการท่องเที่ยวโดยมีจิตสำนึกในความเป็นเจ้าบ้านที่ดี 2. เป็นเมืองน่าอยู่ น่าภาคภูมิใจ ประชาชนมีการดำเนินชีวิตที่ดี 3. เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีการนำเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่มาใช้ ชุมชนมีความเข้มแข็ง และ 4. เป็นแหล่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

นางแสงอรุณกล่าวว่า ความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาระดมความคิดเห็นทุกครั้ง จะนำไปใช้เป็นกรอบเพื่อให้เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล จัดทำผังเมืองรวมในระดับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจ ภายในปี 2549 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ในนครนายกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น ในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองที่จะจัดทำขึ้น จะยังคงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาตัวแทนของหลายหน่วยงานมีความเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายประการ อาทิ ปัญหาจราจร ขยะ น้ำเสีย การบังคับใช้กฎหมาย การจัดระบบสาธารณูปโภค การจัดระเบียบร้านค้าบริเวณริมทางสาธารณะ การขาดข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะที่เป็นที่สนใจของประชาชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความสับสนของคนในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการเมืองใหม่ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีการหารือเพื่อเตรียมการรองรับเมืองใหม่ด้วย เนื่องจากมองว่าหากมีการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน และอาจจะมีปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ผังเมืองรวมเมืองนครนายกจึงต้องจัดวางผังเพื่อรองรับเมืองใหม่ โดยจะต้องกำหนดกรอบการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในอนาคต

[Top]

 ประชาชาติธุรกิจ, 27 ฉบับที่ 3536 (2736) วันที่ 01 ธันวาคม 2546, หน้า 21  

 ชาวนครนายกเห่อเมืองใหม่ ฝันไกลดึงนักท่องเที่ยวเพิ่ม 
เมืองไหม่นครนายกยังไม่ฟันธงเลือกพื้นที่ ผู้ว่าฯเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ เตรียมตั้งทีมปรับยุทธศาสตร์จังหวัดรองรับ

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินการโครงการเมืองใหม่นครนายกนั้น แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้รัฐบาลจะมีการเตรียมการโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงโครงการเมืองใหม่กับสนามบินสุวรรณภูมิและกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันก็กำลังเร่งพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการวางผังชุมชน สาธารณูปโภคสาธารณูปการในเมืองใหม่ แต่ถึงขณะนี้การคัดเลือกพื้นที่ยังอยู่ในลักษณะของการวางกรอบกว้างๆ ว่าจะอยู่บริเวณใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นโครงการเมืองใหม่ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่ จะอยู่ในเขตตำบลป่าซะ บ้านพริก คลองเรือ เขาเขม ห้วยแห้ว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และตำบลชะอม ท่ามะปราง อำเภอแก่คอย จังหวัดสระบุรี โดยพื้นที่โครงการจะมีส่วนที่กำหนดไว้ให้เป็นแหล่งชุมชนประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตตำบลเขาเขม อำเภอบ้านนา และตำบลชะอม อำเภอแก่ง คอย ส่วนที่เหลือจะใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่น และมีพื้นที่สำหรับการเกษตร ที่ท่องเที่ยว ฯลฯ สำหรับพื้นที่บริเวณรอบเมืองใหม่มีทั้งที่ราบลุ่มและภูเขา

นางแสงอรุณ วัฒนวงศ์ หัวหน้าสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้กระแสข่าวการพัฒนาเมืองใหม่มีเข้ามาในช่วงที่จะมีการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก แต่ขณะนี้จังหวัดเองตลอดจนภาคเอกชนยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการนี้ ที่สำญคือ ยังไม่รู้ว่าพื้นที่ใดจะเป็นที่ตั้งของเมืองใหม่ จึงทำได้เพียงเตรียมพร้อมในเรื่องข้อมูล ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครนายกจัดเป็นที่ดินทำการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ การจัดวางผังเมืองจึงจะให้ความสำคัญในส่วนนี้ และหากมีเมืองใหม่เกิดขึ้นก็คงต้องกำหนดกรอบการพัฒนารองรับด้วย

นายพงษ์เดช วิบูลย์ธนสาร กรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครนายก กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า

ในหลักการแล้วคนนครนายกค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดในการพัฒนาเมืองใหม่ และเห็นว่าพื้นที่จังหวัดนครนายกมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองไฮเทคและปราศจากมลพิษ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงนอกจากจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งแล้ว ยังจะเป็นเมืองตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ อีก 75 จังหวัด

ในส่วนของจังหวัดแม้จะยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเมืองใหม่เช่นเดียวกัน แต่ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการเมื่อ 2-3 วันก่อน นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้ปรารภเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมกับแจังว่าจะตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาติดตามเรื่องเมืองใหม่โดยเฉพาะ เพื่อจะได้เตรียมการในด้านต่างๆ รองรับ และแจ้งข่าวสารที่ชัดเจนให้ชาวบ้านที่สนใจรับทราบได้

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า