banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 28 พ.ย. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 เดลินิวส์ 28 พ.ย. 46  

วาไรตี้ : ร้านลาบปลาตะเพียน...ที่นครนายก โชว์ฝีมืออาหารปลาท้องนา...ได้ยอดเยี่ยม
หมีกแดง

ผมเพิ่งอ่านหนังสือพิมพ์ว่าจะมีการสร้างเมืองใหม่ เป็นเมืองไอทีที่นครนายกเรียกว่า นครนายกนิวทาวน์ ซึ่งผมก็เพิ่งกลับมาจากนครนายก ซักเดือนมาแล้วเพื่อไปถ่ายทำและได้เขียนเกี่ยวกับร้านอาหารอร่อยที่นั่น สงสัยว่าเมื่อโครงการนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างร้านต่าง ๆ ที่ผมได้เคยไปชิมมาคงจะขายดียิ่งขึ้นและอาจจะเป็นร้านใหญ่โตอยู่ในตึกแทนที่จะเป็นร้านตามข้างทางเหมือนตอนผมไปชิม

ครั้งที่ไปเที่ยวนครนายกผมก็ได้ไปชิมร้านอาหารอยู่ 2 ร้าน ร้านแรกเขียนไปให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปชิมแล้ว คือ “ร้านลุงยัง” คิดว่าเพื่อน ๆ น่าจะชอบอาหารของเขา เพราะผมเองก็ติดใจ ปลาช่อนอบฟางกับเนื้อเค็มมาก แต่วันนี้ผมจะพูดถึงร้านที่ 2 ซึ่งชื่อว่า “ร้านลาบปลาตะเพียน” ร้านนี้อาหารอร่อยพอสมควรเลย ปลาก็เป็นปลาที่มาจากนาสด ๆ เรื่องอาหารจะอร่อยหรือไม่นั้น คุณภาพของวัตถุดิบก็เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เลย

นอกจากนี้ร้านนี้ยังมีส้มตำลาวให้เรากินด้วยนะครับ ซึ่งก็อร่อยถูกใจผมมาก ผมแนะนำว่าถ้าใครจะมากินส้มตำที่นี่ ให้สั่งตำปูนะครับ แล้วก็บอกเขาว่าไม่เอาหวานมาก พูดถึงเรื่องหวาน น้ำตาลของผมก็ขึ้นอีกแล้ว ตอนนี้คุณหมอก็กำลังโกรธผมอยู่ แต่ทำไงได้ล่ะครับมันอดไม่ได้จริง ๆ

เรื่องเบาหวานนี่ คนที่เป็นต้องระวังตัวหน่อยนะครับเพราะว่ามันจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกเยอะ เรื่องม่านตาบ้าง เรื่องเส้นเลือดเปราะบ้าง เป็นแผลก็หายยาก เพราะฉะนั้น เพื่อน ๆ ที่เป็นเบาหวานแบบผมก็ต้องระวังดูแลตัวเองให้ดีนะครับ

เอาล่ะโม้เรื่องอื่นซะนานมาพูดถึงเรื่องอาหารต่อดีกว่า วันนั้นผมสั่งส้มตำมากินเป็นอันดับแรก ซึ่งก็อร่อยพอสมควรเลย จากนั้นก็เหลือบไปเห็นแกงคั่วหอยขม ซึ่งผมก็ชอบมากและหอยขมของที่นี่เขาก็แกะมาให้เรียบร้อยแล้วน่ากินจริง ๆ รสชาติก็ไม่เผ็ดจนเกินไปและไม่มันจนเกินไป เอามาคลุกกับข้าวกิน ก็อร่อยดี

แต่ถ้าใครคิดว่ามันยังมันอยู่ก็ให้กินส้มตำแกล้มไปด้วย เพราะส้มตำมีความเปรี้ยวและมีรสจัดจะตัดความเลี่ยนได้ดีครับ นอกจากนั้นก็ยังมีแกงป่ากบ ซึ่งก็ทำออกมาดีมากแต่ต้องกินกับไข่เจียวด้วยนะครับ จะอร่อยยิ่งขึ้น เพราะว่าแกงป่าเป็นแกงที่ไม่มีไขมันเนื่องจากไม่ใส่กะทิ

เป็นแกงโบราณที่เราทำกินกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพระนารายณ์ซะอีก แกงป่ากบของเขาเข้มข้นดี กินกับไข่เจียวยิ่งอร่อยเพราะมันจะไปลดความเผ็ดของแกงลง และเพิ่มความมันให้อีก พูดไปพูดมาก็ต้องบอกซักหน่อยว่าที่ร้านนี้ชื่อ “ร้านลาบปลาตะเพียน” ก็เพราะว่าอาหารขึ้นชื่อของเขาคือ “ลาบปลาตะเพียน”

ซึ่งเขานำปลาตะเพียนมาย่างก่อน แล้วก็เอาเนื้อปลาตะเพียนไปรวนในหม้อหาง คลุกเคล้าเครื่องปรุงทำเหมือนลาบทั่วไป เสร็จแล้วเขาเอาเกล็ดปลาตะเพียนไปทอดให้กรอบแล้วเอามาโรยหน้า เวลากินแทนที่จะได้กลิ่นข้าวคั่วก็ได้ความกรอบของเกล็ดปลาตะเพียนแทน อร่อยไปอีกแบบครับ

แต่เกล็ดปลาตะเพียนต้องทอดเดี๋ยวนั้นนะครับ อย่าทอดทิ้งไว้ไม่งั้นมันหายกรอบแล้วมันจะเหนียวทิ่มฟันเราและจะกลายเป็นกินไม่ได้ไป แถวนั้นมีปลาแม่น้ำมากมาย โดยเฉพาะปลาเนื้ออ่อนซึ่งเป็นปลาที่เนื้อไม่เยอะนะครับ แต่เนื้อของปลาเนื้ออ่อนนั้นอร่อยมาก เอามาทอดกระเทียมพริกไทยก็ดี

หรือเอามาทำเป็นฉู่ฉี่แบบที่นี่เขาทำก็อร่อยดี เครื่องเคราของเขาครบครันจริง ๆ เขาเอาปลาเนื้ออ่อนไปทอดให้กรอบ หลังจากนั้นค่อยทำเครื่องแกงฉู่ฉี่ราดบนปลา และโรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอยเยอะ ๆ เนื้อของปลายังนุ่มอยู่ จึง อมรสของน้ำแกงเข้าไปด้วย กัดเข้าไปจะมีน้ำหวานของปลากับรสชาติแกงไหลออกมา ข้างนอกจะกรอบ ข้างในจะยังนุ่มอยู่ หลังจากนั้นผมก็ต้องหาอะไรมาซดล้างปากซักหน่อย ก็เลยสั่งต้มยำปลาช่อน ปลาช่อนก็เป็นปลาช่อนที่เขาเลี้ยงในบ่อตัวใหญ่มาก

ต้มยำเขาน้ำไม่ใสนะครับข้น ๆ ดี มีพริกขี้หนูแห้งทอดโรยหน้า รส ชาติเข้มข้นมากเลย เปรี้ยว เค็ม และหวานเนื้อปลาโดยธรรมชาติ และยังมีผักชีฝรั่งตัดเป็นท่อน ๆ โรยหน้ามาด้วย อร่อยไปอีกแบบครับ ใครที่ผ่านไป แถวนครนายก ก็ลองแวะไปชิมอาหารที่ร้านลาบปลาตะเพียนดูนะครับ.

เข้าครัวกับหมึกแดง : ปลาหิมะทอดกับซอสขิง

เครื่องปรุง

  • ปลาหิมะหั่นเป็นแว่น 1 ชิ้น
  • น้ำมันพืช พอประมาณ - ต้นหอมหั่นเป็นท่อนประมาณ 2 นิ้ว ทุบ 2 ต้น
  • ขิงหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ทุบ 3 แว่น
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • เหล้ามิลิน 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า พอประมาณ - เนยจืด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. นำปลาหิมะมาล้างทำความ สะอาด ซับน้ำด้วยกระดาษซับ พักไว้
  2. นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมันลงไปนิดหน่อย พอร้อนนำปลาหิมะที่ล้างทำความสะอาดแล้วลงทอดให้เหลือง ทั้งสองด้าน แต่เนื้อปลายังไม่สุก ตักปลาขึ้นซับด้วยกระดาษซับ พักไว้
  3. ในกระทะเดียวกันใส่น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว เหล้ามิลิน ขิง และต้นหอมลงไปผัดให้เข้ากัน เติมน้ำเปล่าลงไปนิดหน่อย ให้เป็นน้ำขลุกขลิก ตั้งไฟต้มจนน้ำซอสเริ่มเดือด นำปลาหิมะที่ทอดเตรียมไว้ลงไปต้มในน้ำซอสจนปลาสุก และน้ำซอสในกระทะเกือบแห้ง
  4. ก่อนเสิร์ฟใส่เนยจืดลงไปเพื่อทำให้ปลามีกลิ่นหอม ตักใส่จานเสิร์ฟร้อน ๆ
[Top]

 ผู้จัดการรายสัปดาห์, Friday, November 28, 2003 

   เปิดโปรเจกต์แก้จราจร 4 แสนล้านบาท
โดยMGR ONLINE

เปิดโครงการยักษ์รองรับนโยบาย "ทักษิณ" แก้จราจรในกทม.และปริมณฑลภายใน 6 ปี ลงทุน 4 แสนล้านบาทเพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้า ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพิ่ม 4 แห่ง มูลค่า 11,060 ล้านบาทระบายการจราจร 2 ฝั่งกทม.ลงทุน 7,899 ล้านบาท สร้างสะพานข้ามทางแยก 11 โครงการ ลดจุดตัดกระแสจราจร ฟื้นโครงการรถเมล์ชิดเกาะกลางเชื่อมรถไฟฟ้า 1,780 ล้านบาท พัฒนาเทคโนโลยีควบคุมจราจร 673 ล้านบาท

การประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2546 โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็น ประธาน ได้มีการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรใน 5 ประเด็นหลักอย่างชัดเจน โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาการจราจรให้ได้ภายใน 6 ปี คือ 1.การแก้ปัญหาจราจรเร่งด่วน ประกอบด้วย

  1. การปรับปรุงเบ็ดเสร็จบนถนนสายหลัก (Comprehensive Route Improvement) เช่น สภาพกายภาพ ป้ายเครื่องหมาย สัญญาณ ผิวจราจร และการจัดจราจร โดยจากการสำรวจความเร็วรถยนต์บนถนนสายหลัก 14 เส้นทาง ความเร็วเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งด่วน (06.00-09.00 น.) ปี 2546 ลดลงจาก 17.9 กม./ชม.เป็น 16.8 กม./ชม.จากปี 2545 ช่วงเย็น (16.00-19.00 น.) ความเร็วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก23.7เป็น 24.4 กม./ชม. ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็น แกนกลางในการนำผลศึกษาไปใช้อย่างบูรณาการ
  2. การลดจุดตัดจราจรบริเวณทางแยกโดยปรับปรุงสภาพทางกายภาพ (Grade Separation) เช่น การก่อสร้างทางลอดสะพานลอยหรือทางยกระดับรวม 11 โครงการ มูลค่า 7,899 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกลาดพร้าว มูลค่า 455 ล้านบาท กทม.อยู่ระหว่างการขออนุมัติประกวดราคา โครงการที่กทม.ออกแบบเสร็จแล้วพร้อมที่จะก่อสร้าง คือ 2. โครงการทางลอดใต้ทางแยกบรมราชชนนี ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ มูลค่า 800 ล้านบาท 3. โครงการทางยกระดับข้ามแยกบางขุนนนท์-ทางรถไฟและสามแยกไฟฉาย มูลค่า 996 ล้านบาท 4. โครงการทางลอดใต้แยกมไหสวรรค์ ตามแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน มูลค่า 788 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกศรีอยุธยา (พระราม 6- ถ.ศรีอยุธยา) มูลค่า 400 ล้านบาท 6. โครงการสะพานข้ามทางแยกถนนศรีอยุธยา-ถนนพญาไท มูลค่า 300 ล้านบาท
  3. โครงการสะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 3- ถนนสาธุประดิษฐ์ มูลค่า 360 ล้านบาท 8. โครงการสะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 3- ถนนรัชดาภิเษก (ใต้สะพานพระราม 9) มูลค่า 360 ล้านบาท 9. โครงการสะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 3- ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มูลค่า 360 ล้านบาท 10. โครงการทางยกระดับถนนรัชดาภิเษก (อโศก-สุขุมวิท) มูลค่า 1,550 ล้านบาท ค่าจัดสิทธิ์ที่ดิน 500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,050 ล้านบาท จะต้องศึกษาออกแบบ Conceptual Design วงเงิน 20 ล้านบาท 11. โครงการก่อสร้างเชื่อมต่อถนนสารสิน-รัชดาภิเษก มูลค่า 1,530 ล้านบาท

เพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำ 4 แห่ง มูลค่า 11,060 ล้านบาท

นอกจากนี้ จะต้องมีการกระจายปริมาณจราจรจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยเพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการศึกษาเบื้องต้นแล้ว คือ 1. โครงการข้ามแม่น้ำบริเวณท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง มูลค่า 1,000 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 100 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 900 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 20 ล้านบาท 2. โครงการข้ามแม่น้ำบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม มูลค่า 2,400 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 800 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 50 ล้านบาท 3. โครงการข้ามแม่น้ำบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร มูลค่า 3,260 ล้านบาท ค่าจัด กรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,760 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 50 ล้านบาท 4. โครงการข้ามแม่น้ำบริเวณเกียกกาย มูลค่า 4,400 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,400 ล้านบาท

ของบกลาง 673 ล้านบาท พัฒนาเทคโนโลยีควบคุมจราจร

การปรับปรุงระบบควบคุมและสั่งการการจราจรโดยการประยุกต์ใช้ระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport System/ITS) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารกับการปฎิบัติงานด้านการขนส่งและจราจร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินความสะดวกในการปฏิบัติงาน เพิ่มความปลอดภัย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประยุกต์ใช้ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) ครอบคลุมพื้นที่ 31 ตารางกิโลเมตร และขยายเป็น 150 ตารางกิโลเมตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกทม.ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ถ่ายสภาพการจราจรในแต่ละทางแยกเพื่อสนับสนุนการสั่งการและอำนวยการจราจร รวม 65 จุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ติดตั้งระบบบัตรทางด่วน (TAG) ทำให้สามารถจัดเก็บค่าผ่านทางได้ 1,200 คัน/ชม./ตู้ รวมถึงกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ติดตั้ง CCTV เพื่อควบคุมและอำนวยการจราจรทางน้ำ

โดยในปีงบประมาณ 2547 สนข.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอขอรับจัดสรรงบกลาง เพื่อศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะ รัศมี 100 กม. จำนวน 30 ล้านบาท ดำเนินงานโครงการรายงานสภาพการจราจรแบบ Real Time จำนวน 48 ล้านบาท โครงการ ติดตั้ง CCTV เพิ่มเติมอีก 77 ทางแยก จำนวน 400 ล้านบาท โครงการติดตั้งระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ 30 ทางแยก วงเงิน 195 ล้านบาท

ลงทุนรถไฟฟ้า 4 แสนล้านบาท

แนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งที่ประชุมเคยให้ความเห็นชอบโครงข่ายเบื้องต้นภาพรวมระยะทาง 296 กม. (โครงข่ายใหม่ 252 กม.และที่มีอยู่แล้ว 44 กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 397,800 ล้านบาท ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจในภาพรวมเท่ากับ 14.61 ประกอบด้วย เส้นทางสายสีแดง ระยะทาง 121 กม.เงินลงทุนรวม 130,100 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 81,300 ล้านบาท ค่าเดินรถ 59,300 ล้านบาท ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 1,133,700 เที่ยว

สายสีเขียว ระยะทาง 41 กม. เงินลงทุนรวม 74,800 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 49,700 ล้านบาท

สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 27 กม. เงินลงทุนรวม 47,700 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 31,800 ล้านบาท

สายสีม่วง ระยะทาง 40 กม. เงินลงทุนรวม 81,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 57,800 ล้านบาท

สายสีส้ม ระยะทาง 24 กม. เงินลงทุนรวม 63,700 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 49,500 ล้านบาท

ฟื้นรถเมล์ชิดเกาะกลาง ลงทุน 1,780 ล้านบาท

เพื่อความสอดคล้องในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบราง ดังนั้น จะต้องพัฒนาศูนย์คมนาคมขนส่งชานเมืองที่พหลโยธิน, มักกะสัน, ตลิ่งชันและศูนย์ตากสิน พัฒนาระบบตั๋วร่วม พัฒนาระบบ Single Operation และจะต้องเชื่อมโยงระบบรถโดยสารประจำทางซึ่งเป็นขนส่งสาธารณะหลักให้มีความสะดวกรวดเร็ว โดยจะมีการพิจารณาจัดช่องทางพิเศษเฉพาะรถโดยสารประจำทางชิดเกาะกลาง (Bus Rapid Transit System) อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมเส้นทางสายหลักภายใน 6 ปี ใน 6 เส้นทาง ระยะทาง 198.6 กม.วงเงินลงทุน 1,780 ล้านบาท ประกอบด้วย

แนวเหนือ-ใต้ เส้นทางฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต-ดินแดง ระยะทาง 27 กม. ค่าก่อสร้าง 270 ล้านบาท เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางคลองบางหลวง-พิษณุโลก ระยะทาง 27 กม. ค่าก่อสร้าง 64 กม. เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว แนวตะวันออก-ตะวันตก เส้นทางมีนบุรี-ตลิ่งชัน ระยะทาง 52.5 กม. ค่าก่อสร้าง 525 ล้านบาท เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สีส้ม และสีเขียว แนวตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทาง แยกลำสาลี-พระราม 5 ระยะทาง 15.9 กม. ค่าก่อสร้าง 159 ล้านบาท เชื่อมสายสีน้ำเงิน สีเขียว เส้นทางสมุทรปราการ-แยกพัฒนาการ ระยะทาง 16.9 กม.ค่าก่อสร้าง 169 ล้านบาท แนวตะวันตกเฉียงใต้ เส้นทางพระราม 2-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 14.6 กม. ค่าก่อสร้าง 146 ล้านบาท เชื่อมสายสีม่วง สีเขียว สีแดง เส้นทางพระสมุทรเจดีย์-ประชาธิปก ระยะทาง 24.6 กม.ค่าก่อสร้าง 246 ล้านบาท เชื่อมสายสีม่วง สีเขียว สีแดง แนวตะวันตกเฉียงเหนือ เส้นทาง วงแหวนรอบนอก-ติวานนท์-แยกเกษตร ระยะทาง 20.1 กม.ค่าก่อสร้าง 201 ล้านบาท เชื่อมสายสีม่วง สีเขียว สีแดง

โดยค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจะประกอบด้วย การก่อสร้างป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และทางขึ้น-ลงสะพานลอย การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิม การจัดช่องทางเดินรถประจำทาง ก่อสร้างเกาะกลางใหม่ งานตีเส้นจราจร การจัดจราจรระหว่างก่อสร้าง ค่าดำเนินงาน กำไรและภาษี (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) 30% และงบสำรองจ่าย 10% เป็นต้น

การพัฒนาโครงข่ายถนนและทางด่วน ภายใต้หลักการแก้ปัญหาจราจรในกทม.และ ปริมณฑลแบบยั่งยืน ดังนั้นจึงวางแผนระบบขนส่งมวลชนไปพร้อมกับโครงข่ายถนนและทางด่วน และพิจารณารวมไปถึงการเดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิที่จะเปิดในปี 2548 และเชื่อมโยงสนับสนุนการจัดตั้งเมืองใหม่นครนายก ซึ่งการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเร่งรัดพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบราง ระยะ 6 ปี (2547-2552 ) ได้ให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดดำเนินการใน 4 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษศรีรัช-ดาวคะนอง 2. โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนS 2 โครงการทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก 4.โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (ทดแทนโครงการทางด่วนสายรามอินทรา-พุทธมณฑล) และเชื่อมกับโครงการทาง ยกระดับลาดพร้าวของกทม.บริเวณถนนรัชดาภิเษก และให้กทม.เร่งรัดปรับแผนงานการก่อสร้างโครงการทางยกระดับลาดพร้าว จากเดิมสะพานยกระดับแบบสั้น 2 แห่ง เป็นทางยกระดับแบบยาวจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกไปถึงถนนวงแหวน รอบนอก ระยะทาง 16 กม.ซึ่งต้องของบประมาณเพิ่มจากเดิม 1,400 ล้านบาท เป็น 8,400 ล้านบาท (สัดส่วนลงทุน กทม.40% รัฐบาล 60% )

โดยโครงข่ายถนนและทางด่วนในแนวตะวันออก-ตะวันตกที่สำคัญประกอบด้วย 1. โครงการเชื่อมต่อถนนหมายเลข 345 บรรจบถนนหมายเลข 3100 (บริเวณสะพานนวลฉวี) กรมทางหลวงเป็นเจ้าของ ออกแบบแล้ว อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2548 จำนวน 2,000 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยก ปากเกร็ดและถนนเชื่อมต่อแนวเหนือ-ใต้ บรรจบถนนหมายเลข 345 กรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าของ อยู่ระหว่างลงนามว่าจ้าง 3. โครงการพัฒนาโครงข่ายถนนบนแนวถนนรัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก กรมทางหลวงกำลังศึกษาความเหมาะสม เป็นต้น

โครงข่ายถนนและทางด่วนแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนสุขสวัสดิ์-พระราม 2-ถนนตากสิน เพชรเกษม กรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างการออกแบบ 2. โครงการ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ตอน S2 กทพ.กำลังขออนุมัติโครงการ ระยะทาง 7.8 กม.มูลค่าลงทุนประมาณ 17,390 ล้านบาท เชื่อมโยงวงแหวนด้านใต้และวงแหวนอุตสาหกรรม 3. โครงการทางด่วน สายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก อยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสม เป็นโครงการรองรับปริมาณ จราจรจากพื้นที่ชั้นในไปยังเมืองใหม่นครนายก ระยะทาง 9.5 กม. มูลค่าลงทุนประมาณ 16,938 ล้านบาท

[Top]

 ผู้จัดการรายสัปดาห์, Friday, November 28, 2003 

   ผ่าอาณาจักร 'เมืองใหม่นครนายก' ผุดศูนย์กลางการเงิน - ICT ดับเครื่องชนสิงคโปร์
โดยMGR ONLINE

เพียงไม่กี่วันกระแส "เมืองใหม่" ก็ดังเป็นพลุแตกทั้งไทยและเทศ หลายคนยังมองไม่ออกว่าภาพเมืองใหม่ที่คนไทยจะได้ยลโฉมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร...?

นี่จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ใช้"ผังเมือง"อย่างเต็มที่ ขณะที่ก่อนหน้าไม่เคยมีการนำผังเมืองมาใช้ก่อนที่จะมีการผุดโครงการ ส่วนใหญ่ผังเมืองจะเกิดขึ้นหลังจากชุมชนเมืองโตแล้วทั้งสิ้น

ผ่าอาณาจักรเมืองใหม่บ้านนา นครนายก นอกจากจะเป็นเมืองแห่งดิจิตอลไอเทค เมืองไร้มลพิษชนิดสมบูรณ์แบบแล้ว

แต่ทว่าเบื้องหลังจริงๆนายกฯทักษิณวางแผนที่จะปลุกปั้นเมืองใหม่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคเลยทีเดียว เพื่อแข่งกับสิงคโปร์โดยตรง...!!!อีกไม่เกิน 8 ปีคนไทยจะได้เห็นเมืองใหม่ไอเทคเกิดขึ้น...!

ทำให้มีนัยที่ส่อให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องนั่งเก้าอี้ตัวนี้จนถึงวันนั้น !!!

เพราะทุกย่างก้าวในการเกิดขึ้นของเมือง ใหม่หลายคนต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องอาศัยมันสมองและการ"สั่งการ"ของเขาคนเดียวเท่านั้น มิเช่นนั้นเมืองใหม่แห่งนี้ก็จะไม่แตกต่างจากเมืองใหม่ช่วงที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยคิดและทำในพื้นที่ท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

"ผมบอกได้เลยว่าการทำเมืองใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จังหวะนี้มันมีปัจจัยที่เอื้อที่จะทำให้เมืองใหม่เกิดขึ้นได้"นักวิชาการและนักการเมืองให้ความเห็นตรงกัน

แต่หากมองในแง่คนทำผังเมืองและนักปกครองเมืองมาก่อนอย่าง สว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว เขาระบุว่า การทำเมืองใหม่จะต้องมีปัจจัยสำคัญๆ 3 ประการ จะขาด อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ นั่นคือ

  1. เศรษฐกิจของประเทศต้องแข็งแกร่ง
  2. เสถียรภาพของรัฐบาลมั่นคง
  3. นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำสูง

"เมืองใหม่อย่างเมืองทามะที่ญี่ปุ่น เมืองปูตราจายา ของมาเลเซีย ต่างเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศเติบโต ผู้นำมีภาวะผู้นำสูง"เขากล่าวและมั่นใจว่า นายกฯทักษิณ ชินวัตร จะทำให้เกิดเมืองใหม่ได้ ด้วยความที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ไกล ประกอบกับเป็นช่วงที่รัฐบาลมีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการประเทศ

คนในรัฐบาลต่างคาดหวังว่า เมืองนี้จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับความสดใสในช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังรุ่งโรจน์ อย่างที่นายกฯทักษิณ ชินวัตร เคยประกาศเอาไว้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2547 จะมี GDP อยู่ที่ 8% ปี 2548 เติบโต 10% และหลังจาก นั้นก็จะอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง

"ไทยรักไทยจะเป็นรัฐบาลถึง 20 ปี"เขาพูดในวันปิดงานประชุมหอการค้าไทยทั่วประเทศที่พัทยา ซึ่งทำให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการทั่วประเทศปรบมือกันเกลียว

ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ทุกอย่างที่ทำวันนี้ จะออกดอกออกผลในวันหน้า เหมือนอย่างมาเลเซีย ที่ใช้เมืองใหม่ปูตราจายาเป็นหัวหอกผลักดันขึ้นสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

เผยเบื้องหลังเกิดเมืองใหม่

เมืองใหม่ที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ต้นตอความคิดเกิดจากใคร เหตุใดรัฐบาลถึงได้ลงมือทำแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีเค้าลางให้ทราบล่วงหน้าแม้แต่น้อย อีกทั้งนโยบายนี้ก็ไม่ได้อยู่ในแผนของพรรคไทยรักไทย เสียด้วย?

ว่ากันว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฟังว่า ในหลวงเคยปรารถไว้ว่าต้อง การเห็นเมืองใหม่ที่เป็นเมืองสะอาดไร้มลพิษ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯเพื่อลดความแออัดเมืองหลวง

เพียงพระราชดำริไม่กี่คำเท่านั้น นายกฯทักษิณได้เดินหน้าหาทำเลก่อสร้างเมืองใหม่ในทางลับทันที ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทะเลาะกันว่า รัฐสภาแห่งใหม่จะอยู่ที่ไหน แต่กลับไม่มีใครพูดเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น

หลังจากนั้นพ.ต.ท.ทักษิณก็เรียกหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องไปศึกษาการทำเมืองใหม่ โดยเฉพาะกรม โยธาธิการและผังเมือง

จากคำสั่งเพียงไม่กี่คำ เขาและทีมงานต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เท่าไร จะต้องมีอะไรในเมืองบ้าง เมืองต้นแบบที่ต่างประเทศเคยทำแล้วเป็นอย่างไร

"ผมรับคำสั่งว่าท่านจะสร้างเมืองใหม่ อยู่ไม่ไกล จากกรุงเทพฯคือขับรถแค่1ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ผมก็เริ่มจัดทีมงานสำรวจพื้นที่ โดยมุ่งไปที่บ้านนาทันทีเพราะเห็นว่า น่าจะเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด" สว่าง ศรีศกุน เล่า

สำหรับสว่าง ศรีศกุน นั้นก่อนหน้าที่จะมานั่งเป็นอธิบดีกรมโยธาฯเขาเคยเป็นผู้ว่าฯจ.อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการและลงท้ายที่ชลบุรี ก่อนจะมาตรงนี้เขาเป็นคนเสนอ โครงการแปลงสิทธิเป็น ทุนให้นายกฯ

"ผมเป็นคนแรกที่เสนอต่อที่ประชุมผู้ว่าฯซีอีโอ ให้มีนโยบาย แปลงสิทธิเป็นทุน ซึ่งท่านนายกฯฟังแล้วสนใจ ผมพูดต่อสาธารณะเลย เพราะเห็นว่า ทำไมโฉนดนส. 3ก.กับสปก.ซึ่งเป็นที่ดินทำ กินเหมือนกันแต่ทำให้ได้รับสิทธิต่างกัน เพราะสปก.ไม่สามารถ นำไปจำนองแบงก์ได้ แต่นส.3 ทำได้" สว่าง ย้อนความ ให้ฟังขณะนั่งเป็นผู้ว่าฯชลบุรี

น่าจะเป็นแนวคิดแปลงสิทธิเป็นทุนที่ไป "โดนใจ" กระมังทำให้ ผู้ว่าฯสว่าง ศรีศุกน เข้าตา นายกฯทักษิณ จึงได้นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และเป็นคนร่วมปลุกปั้นเมืองใหม่บ้านนา นครนายก

ผุดศูนย์กลางการเงิน

สำหรับเมืองใหม่เอง เขายอมรับว่า นายกฯไม่เคยคิดว่าเป็นแค่เมืองใหม่ไฮเทค ผู้คนอาศัยด้วยระบบดิจิตอล ทันสมัย ไร้มลพิษอย่างเดียว แต่ต้อง มีมากกว่านั้นแน่นอน

แล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้เป็น อะไร ?

มันเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่เคยฟังจากปากของทักษิณ ชินวัตร แน่นอน! เพราะเขายังไม่เคยบอก ยุทธศาสตร์ของเมืองใหม่แม้แต่ น้อย เพียงแต่บอก ว่าเป็นเมืองไฮเทค

แต่จากการสอบถามบุคคลใกล้ชิด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เล่าว่า นายกฯต้องการให้เมืองใหม่ บ้านนาแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางไอที ศูนย์กลางพลังงาน โดยมองเป้าหมายที่คู่แข่งอย่างสิงคโปร์

"ผมจะล้มสิงคโปร์ให้ดู"นายกฯ บอก

คำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้มองเห็นภาพเมืองใหม่ชัดเจนขึ้นเพราะภายในจะต้องมีอินฟาร์-สตรัคเจอร์สมบูรณแบบ และหากจะให้เป็นศูนย์ กลางการเงินในภูมิภาคก็จะต้องให้สิทธิอำนวยความ สะดวกแก่สถาบันการเงินต่างประเทศ

"ตัวอย่างเช่นฟูตง เชี่ยงไฮ้ ซึ่งแบงก์ต่างประเทศที่ต้องการจะเข้ามาเปิดเป็นโลคัลแบงก์ คือเปิดสาขาแบงก์ด้วยก็จะต้องมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่ ท่านคงคิดเหมือนกันคือแบงก์ต่างชาติที่จะมาเปิดใน ไทยจะต้องมาตั้งสำนักงานเปิดออฟฟิศที่เมืองใหม่นี้ ทำให้ต้องมีการลงทุนด้วย และภายในเมืองใหม่จะมีถนนที่กว้างใหญ่และมีทัศนยภาพที่ดีเหมือนที่เขต เศรษฐกิจฟูตง เซียงไฮ้ "คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เล่า

ทั้งนี้ในการนับหนึ่งเมืองใหม่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องเมืองใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯและตั้งอนุกรรมการ 14 คณะ (อ่านสั่งตั้งอนุกรรมการ"14ชุด)

"ทั้งหมดจะทำงานไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่มารอแบบผังเมืองใหม่เสร็จสิ้นก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมืองหรือที่เรียกว่า Urban Development Coperation หรือ UDC ซึ่งจะทำหน้าที่ในการระดมทุนเพื่อจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน การออกพันธบัตรต่างๆ รวมทั้งการการเสนออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เป็นต้น"

คาดปี 48 ยกเสาเอกเมืองใหม่

พื้นที่เมืองใหม่บ้านนา 2 แสนไร่จะแบ่งเป็นเขต ตัวเมือง 50,000 ไร่ แต่อาจจะเพิ่มเติมอีก 1-2หมื่นไร่เพื่อรองรับอนาคต เป็นอ่างเก็บน้ำ 3-5% มีมหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าจะมีกี่แห่ง แต่ที่แน่ๆจุฬาลงกรณณ์มีที่ดินอยู่ในแถบนี้เช่นกัน รวมทั้งหน่วยราชการบางหน่วย ซึ่งยังไม่กำหนดเช่นกัน นอกจากนี้จะมีพื้นที่ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังราชวัง ซึ่งจะเป็นพระราชวังขององค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวโดยตรง

"ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกสรรทำเลว่าจะอยู่ตรงไหน เท่าที่ตกลงตอนนี้น่าจะเป็นริมอ่างเก็บน้ำ จากเดิมที่วางแผนว่าจะก่อสร้างบนเขาชะโงก แต่มีปัญหาเรื่องอากาศเบาบาง"สว่าง อธิบาย

ภายในเมืองใหม่ประกอบด้วยที่พักอาศัย ซึ่งกรมโยธาฯจะใช้แบบก่อสร้างบ้าน อาคารที่เน้นความ เป็นไทย ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบเพื่อแจกจ่ายฟรีให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่นี้ ตอนนี้ยังไม่ตกลงว่าจะนำที่ดินมาพัฒนาแล้วให้เอกชนก่อสร้างหรือว่าจะยกให้เอกชนไปดำเนินการเอง ซึ่งกำลังการศึกษากันอยู่

"เราจะนำแบบก่อสร้างที่เราแจกมาใช้ในเมืองใหม่ เพื่อให้เห็นความเป็นไทย ขณะเดียวกันผมก็เสนอว่า ภายในเมืองใหม่จะต้องมีโรงแรมหรู มีภัตตาคาร มีฟิตเน็ต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อย่างประธานาธิบดีจีน-สหรัฐฯมาประชุมก็สามารถพักได้เลย เราจะมีศูนย์ประชุมนานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้าหรุหราทันสมัย"

ในด้านสาธารณูปโภคนั้นได้มีการวางแผนไปพร้อมๆ กันการออกแบบสำรวจและกำหนดเขตพื้นที่ ซึ่งกรมโยธาฯอยู่ระหว่างทำสำรวจแผนที่ โดยกำหนด 1 ต่อ 4000 พร้อมกับวางแนวเขตเส้นทางต่างๆ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับเมืองใหม่ สว่าง กล่าวว่า ประมาณการณ์คร่าวๆ 1 คนต่อ 1 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีคนอาศัยในเมืองใหม่ 2.5 แสนคน จะตกประมาณ 2.5แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 8 ปีถึงจะเป็นเมืองสมบูรณ์

"สำหรับเสาเอกต้นแรกของเมืองใหม่จะลงปักประมาณปี 2548" เขาระบุ

ดูต้นแบบเมืองทามะ-ปูตราจายา

อย่างไรก็ตามสำหรับเมืองใหม่ที่รัฐบาลเคยบอกว่าใช้เมือง ทามะ ญี่ปุ่น เป็นต้นแบบนั้น พบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศตั้งเมืองใหม่ทามะ เมืองปี 2511 โดยญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง UDC ในการบริหารจัดการระยะเริ่มต้น โดยทามะห่างจากโตเกียว 60 กิโลเมตรการคมนาคมมีรถไฟฟ้า ทางด่วนเดินทางสะดวก ขณะนี้ก็ยังมีการพัฒนาเมืองใหม่อยู่ตลอดเวลา

"เป้าหมายคือการขยายเมือง เพราะโตเกียวแออัด ซึ่งต้องยอมรับว่า พื้นที่ประเทศญี่ป่นเป็นเกาะ 70% ทำให้พื้นที่มีน้อย การตั้งเมืองใหม่จึงแตกต่างจากของไทย"เพราะเมืองใหม่ที่คนต้องการเห็นจะต้องเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามีการอาศัยอยู่จริงไม่ใช่เช้า ไปเย็นกลับ จนหลายคนเกรงว่าจะเป็นเมืองร้างในตอนกลางคืน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเมืองที่รับบาลนำมาศึกษาไปพร้อมๆกันได้แก่ ฟูตง เชี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่เน้นเรื่องศูนย์กลางการเงิน การค้าและอุตสาหกรรมของจีน ขณะที่ออสเตรเลีย มีเมืองใหม่แคนเบอร่า โดยย้ายสถานที่ราชการมาอยู่ที่นี่

ต้นแบบเมืองใหม่อีกแห่งก็คือ ปูตราจายา ของมาเลเซีย เมืองใหม่แห่งนี้จะเสร็จสิ้นในปี 2010 โดยจะมีเมืองคู่แฝดคือเมือง ไซเบอจายา เป็นเมืองไอที ซิลิคอนวอลเล่ เพราะประเทศมาเลเซียประกาศว่าจะให้ปี 2020 มาเลเซียจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เมืองใหม่ปูตราจายาเป้นพระเอกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเมืองใหม่นี้ห่างจาก เมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ 25 กม.

"ในกลางเดือนหน้าคณะท่านรองนายกฯวิษณุ (เครืองาม) และผมจะไปดุเมืองใหม่ปูตราจายา มาเลเซีย ซึ่งเราจะนอนที่เมืองนี้ด้วย เราจะไม่นอนที่กัวลาลัมเปอร์เพราะต้องการเห็นสภาพการ ใช้ชีวิตจริงๆของคนในเมืองใหม่ ดูสถานที่ท่องเที่ยว บันเทิงต่างๆแล้วนำมาวิเคราะห์"สว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าว

คนมาอยู่ต้องมีรายได้ 3.5 หมื่นบาท

สำหรับคนที่จะเข้ามาอยู่เมืองใหม่ของไทยเขายอมรับว่า จะต้องเป็นคนที่มีความรู้สูง ทำงานขายมันสมองเป็นหลัก เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ขายแรงงานอย่างปกติ

"เราคาดว่าคนที่จะมาอยู่จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 35,000 บาทเพราะราคาบ้านที่อยู่อาศัยมีต้นทุนสูงกว่า ซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะมีอาชีพโปรแกรมเมอร์ ประกอบวิชาชีพ บริหารการเงินต่างๆ"

จุดเด่นก็คือเส้นทางสู่เมืองใหม่ นครนายก มีสถานศึกษาเปิดขึ้นมารองรับจำนวนมากก่อนหน้านี้แล้วไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต ธรรม-ศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น จึงน่าจะเป็นการ รองรับคนทำงานที่มีการศึกษาสูงได้ทันที

บูมพื้นที่"4แห่ง"สร้างเมืองบริวาร

"ทักษิณ"สั่งผังเมืองให้เข้าไปศึกษาและพัฒนาพื้นที่โดยรอบของโครงการเมืองใหม่นครนายก ในรัศมี 30 กม.จากศูนย์กลาง เป็นเมืองบริวาร คาดจะมีพื้นที่ ได้อานิสงส์เป็นเมืองบริวาร "4แห่ง" ที่มีความโดดเด่นในด้านที่อยู่อาศัยและสถาน ศึกษาล่าสุดมูลนิธิ จุฬาฯเตรียมพัฒนาที่ 8,000 ไร่ สร้างมหาวิทยาลัยพร้อมที่พักแล้ว

หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้น โดยวางรูปแบบไว้ว่าต้องเป็นเมืองที่สะอาดปราศจากมลพิษหรือ "Modern City"ทำให้ต้องมีการวางระบบของเมืองที่อยู่รายรอบในรัศมี 30 กิโลเมตรหรือ"เมือง บริวาร"ไปพร้อมๆกับการสร้างเมืองใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาในอนาคต

กำหนดพื้นที่เมืองบริวาร

แม้จะไม่มีใครสามารถ"ชี้จุด"อย่างชัดเจนลงไปว่าพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่นั้นจะอยู่ที่ใด แต่มีการคาดการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการเมืองใหม่ ระบุว่า จะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียนนายร้อย จปร.ที่เขาชะโงก จากนั้นจะมีการขีดวงออกไปซึ่งภายในพื้นที่ที่ถูกขีดวงไว้นั้น จะถูกพัฒนาเป็นเมืองใหม่ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและไอซีที ส่วนบริเวณที่จะจัดทำเป็น"เมืองบริวาร"จะอยู่ในเป้าหมายดังนี้

  1. อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก จะเป็นเมืองที่อยู่อาศัยและการศึกษา
  2. อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี จะถูกกำหนดให้เป็นเมืองบริวารที่เน้นด้านอุตสาหกรรม
  3. พื้นที่บริเวณองค์รักษ์ ประมาณคลอง 19 ที่ติดกับอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี จะเป็นเมืองด้านการศึกษาและสาธารณสุข
  4. พื้นที่อำเภอเมืองนครนายก จะเป็นเมืองท่องเที่ยว

จุฬาปัดฝุ่นที่ 8 พันไร่รองรับเมืองใหม่

แหล่งข่าวอธิบายต่อว่า มีการวางรูปแบบของเมืองบริวารไว้ว่าอำเภอบ้านนา จะใช้เป็นเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยจะใช้รองรับคนที่ทำงานในเขตอุตสาหกรรมทับกวางและคนที่ทำงานในโรงปูนซิเมนตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้ของอำเภอบ้านนาซึ่งใกล้กับที่ตั้งของเมืองใหม่จะเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมูลนิธิจุฬาลงกรณ์ได้เข้าไปซื้อที่ดินบริเวณนี้ จำนวน 8,000 ไร่ โดยจุฬาฯมีแผนที่จะย้าย"แคมปัส"ที่จะเปิดใหม่มาที่นี่ทั้งหมด

"จุฬาฯได้ซื้อที่ตรงนี้ไว้นานแล้ว โดยจะอยู่ห่างจากพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติประมาณ 8 กม.(จากถนนตัดสายสระบุรี-โคราช)ประมาณ 5 กม.จะเป็นที่ดินของการเคหะแห่งชาติตั้งอยู่ซ้ายมือ"

สำหรับรูปแบบของจุฬาฯ ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบแน่นอนจุฬาฯจึงเตรียมแผนรองรับโดยการวางระบบการศึกษาแบบครบวงจร เช่นคณะสัตวแพทย์ จะมีทั้งโรงพยบาลสัตว์ ห้องทดลอง คณะวิศวกรรมศาสตร์เขาก็จะมีห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการของตัวเอง

"จุฬาฯจะใช้พื้นที่บริเวณนี้พัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของเขาทั้งหมด บางส่วนจะจัดสรรที่ดินแบ่งขายให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนทั้งที่ทำงานอยู่และที่เกษียณไปแล้วเพราะพื้นที่นี้เป็นของมูลนิธิจุฬาฯ"

สำหรับอำเภอองครักษ์กับอำเภอหนองเสือ จะเป็นเมืองบริวารที่เน้นให้เป็นสถานศึกษาและศูนย์กลางสาธารณสุข โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของอำเภอองครักษ์ซึ่งเป็นรอยต่อกับหนองเสือเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และโรงพยาบาลของสมเด็จพระเทพฯ

"ด้านเหนือมหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ บริษัทโคคา-โคลา ได้ไปกว้านซื้อที่ดินไว้กว่า 1,000 ไร่ เพื่อจะสร้างเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่จะผลิตสินค้าป้อนในภูมิภาคอินโดจีน"

นครนายกเมืองท่องเที่ยว

ด้านพื้นที่อำเภอเมืองนครนายกฝั่งตะวันออก จะถูกปรับปรุงเป็นเมืองบริวารด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในพื้นที่นี่จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ น้ำตกสาริกา สวนสีดา น้ำตกนางรอง วังตะไคร้ น้ำตกเหวนรก เป็นต้น

ส่วนเมืองบริวารที่จะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมได้แก่อำเภอวิหารแดงทางด้านทิศเหนือซึ่งมีพื้นที่ติดกับอำเภอแก่งคอย ปัจจุบันวิหารแดงมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ตั้ง10 แห่ง

"เมืองบริวารที่ถูกจัดตั้งขึ้นมานี้จะมีกิจกรรมของตัวเองแต่เป็นกิจกรรมขนาดเล็ก เช่นมีย่านการค้าของตัวเองเป็นช้อปปิ้งมอลล์ขนาดเล็ก มีโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีโรงเรียนมัธยม อนุบาลและมีสถานที่เพื่อพักผ่อนหรือออกกำลังกายเล็กๆแต่จะไม่ใหญ่เหมือนเมืองแม่"

ดังนั้นทิศทางการขยายของเมืองในอนาคตจะเริ่มขยายขึ้นไปตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันการขยายของเมืองจะหยุดอยู่ที่อำเภอลำลูกกา ซึ่งทิศทางการขยายตัวของเมืองนั้นจะดุได้จากโครงการเมืองใหม่ของกรมการปกครอง ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอนไม่เกินปี 2547

เจาะแผนสร้าง "ศูนย์กลางไอซีที" แห่งเอเชีย

กระทรวงไอซีที เร่งจัดทำระบบโครงสร้าง เทคโนโลยี่สารสนเทศในเมืองใหม่นครนายก เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมีที่มีศักยภาพเหนือกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งคนสำคัญ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลระบบโครง สร้างเทคโนโลยีสารสนเทศให้พื้นที่เมืองใหม่นครนายก กล่าวว่าเมืองใหม่นครนายกที่จะเกิด ขึ้นจะทันสมัยยิ่งกว่าจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่และขอนแก่น 3 เมืองนำร่องโครงการไอซีทีซิตี้อย่างมากมาย และเป็นเหมือนศูนย์กลางไอซีทีแห่งใหม่ของประเทศ

ในเมืองใหม่นครนายกจะมีการวางระบบโทรศัพท์พื้นฐานและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่จะให้ผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรมทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐ-เอกชน นักธุรกิจ และประชาชนได้ใช้อย่างกว้าง ขวาง ตามแผนการที่วางไว้ถ้าวางระบบจนเมืองใหม่เป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้ว จะกลายเป็นเมืองในฝัน เพราะเป็นการออกแบบตั้งแต่พิมพ์เขียว ต่างกับเมืองไอซีทีเป็นเมืองที่มีโครงสร้างเดิมอยู่แล้ว การไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิมยากกว่า การเริ่มต้นจากศูนย์

ศูนย์กลางไอซีทีแห่งภูมิภาคเปรียบเสมือน จิ๊กซอว์สำคัญตัวเติมเต็มแนวคิดการสร้างเมืองใหม่ให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งแนวยุทธศาสตร์หรือคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ กลางไอซีทีของไทยนั้น จะต้องเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการโทรศัพท์ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีการขยายเครือข่ายต่างๆ อาทิ เคเบิลใยแก้ว เคเบิลใต้น้ำ และดาวเทียม ไว้รองรับการสื่อสาร ที่ต้องเชื่อมโยงกับทุกประเทศได้โดยตรง พร้อมๆ ไปกับการสื่อสารกับคนทั้งโลกได้อย่างง่ายดาย

ภายในศูนย์กลางไอทีนี้ ยังต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาครัฐและเอกชน โดยการจัดทำแผนแม่บทสารสนเทศ ติดตั้งระบบข้อมูลและเครือข่ายสนับสนุนระบบข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาคน โดยการเพิ่มหลักสูตรในสถานศึกษา (School net) ฝึกอบรมบุคลากร ผลิตบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ในระดับต่างๆ ให้เกิดศักยภาพและมีประสิทธิ ภาพพร้อมที่จะรองรับการใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยในอนาคตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ศูนย์กลางไอซีทียังต้องมีการพัฒนาทางด้านธุรกิจ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และการสนับสนุนการพัฒนาอื่นๆ ไปพร้อมกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดยการลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการใช้สารสนเทศในภาคเอกชนให้ใช้สารสนเทศติดต่อกับหน่วยงานรัฐ (E-commerce)

หัวใจของศูนย์กลางไอซีทีแห่งภูมิภาค จะต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมหาศาล ในการยกระดับ พัฒนา และลงทุนในโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น โครงการจัดทำแผนที่ฐาน (Base Map) ของเมืองใหม่ โครงการจัดตั้งสารสนเทศของเมืองใหม่ โครงการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ โครงการบริการเบ็ดเสร็จ โครงการติดตั้งอุปกรณ์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว โครงการบริการเพื่อการลงทุน โครงการการค้าอิเล็กทรอนิกส์ โครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และโครงการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับการเป็นศูนย์กลางไอซีทีแห่งภูมิภาคจะต้องถูกเชื่อมโยง เข้ามาจัดสร้างให้เป็นระบบและพร้อมที่จะใช้งานได้ทันที

"ศูนย์กลางไอซีทีจำเป็นที่จะต้องมีโครง สร้างการให้บริการด้านโทรคมนาคมที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันจะต้องมีการขยายโอกาสการเรียน รู้ให้ทั่วถึงครอบคลุมไปยังทุกพื้นที่ รวมทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ให้เกิดขึ้นในศูนย์กลางไอซีทีแห่งนี้ เพราะจะสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศในอนาคตเหมือนอย่างเช่นประเทศอินเดีย" รมว.ไอซีทีกล่าว

ดังนั้นนโยบายในการพัฒนาเมืองใหม่นครนายกให้มีความสมบูรณ์และมีความทัน สมัยด้านเทคโนโลยี่สารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง กว่าประเทศมาเลเซียและสิงค์โปรได้สำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุน ในเมืองใหม่ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตตามที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ไว้

สั่งตั้งอนุกรรมการ "14 ชุด" คาดโทษทำไม่ได้เปลี่ยนตัว

ตั้งคณะกรรมการ 14 ชุด เร่งสร้างเมืองใหม่ตาม"ประกาศิต"นายกฯชี้อนุฯทุกคณะต้องทำงานแบบคู่ขนานด้วยการวางแผนพร้อมกับการลงมือปฏิบัติ ระบุทุกคนต้องทำงานให้ทันกำหนด หากทำไม่ได้พร้อมหาคนอื่นทำแทน

นโยบายการ"สร้างเมืองใหม่"ถือเป็นงานที่ "หิน" ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการต่างๆที่เคย ทำมาแล้วเนื่องจากหน่วยงานที่รับไปปฏิบัติเช่นกรมโยธาธิการและผังเมืองต้อง"วางแผน"และลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆกันเพื่อให้ทันกำหนดที่นายกรัฐมนตรีมี "ประกาศิต"ให้แล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า

ผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงต้องทำหน้าที่ สำรวจ วางผังเมือง การกำหนดเขตพื้นที่ วางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ทำรายละเอียดของอาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อุตสาหกรรม โรงแรม พร้อมกันนี้กรมโยธาธิการ ได้เสนอต่อที่ประชุมให้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาใหม่ทั้งหมด 14 คณะเพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วและเห็นผลตาม กรอบระยะเวลาที่กำหนด

นายสว่าง ศรีสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ"ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าใน ระหว่างมีการประชุมพิจารณาการสร้างเมืองใหม่ได้มีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อบริหารเมืองใหม่ขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ และจะแยกเป็นคณะอนุกรรมการอีก 14 ฝ่าย เช่น 1.อนุกรรมการฝ่ายผังเมือง 2. อนุ-กรรมการฝ่ายสาธารณูปโภคซึ่งจะต้องเข้า ไปดูแลในเรื่องประปา ไฟฟ้า บำบัดน้ำเสีย 3.อนุ-กรรมฝ่ายสิ่งแวดล้อม 4.อนุกรรมการฝ่ายอุตสาหกรรมสะอาด 5.อนุกรรมการฝ่ายการศึกษา 6.อนุกรรมการจัดการปกครองเมืองใหม่ 7.อนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ที่จะต้องดูแลมาตรการภาษีต่างๆ เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุน 8.อนุกรรมการฝ่ายการสาธารณสุข 9.อนุกรรมการฝ่ายการขนส่งระหว่างเมือง 10. อนุกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม 11.อนุกรรมการฝ่าย ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเพื่อให้กรอบการทำงานเป็นไปตามแผนงานที่นายกรัฐมนตรีกำหนดไว้นั้นคณะทำงานที่มีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหลักนั้น ได้กำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้คร่าวๆว่า ใน ระหว่างที่กำลังยกร่างจัดตั้งคณะกรรมการนั้นกรมโยธาธิการต้องทำการสำรวจพื้นที่ วางผังเพื่อลงแผนที่ 1:4000 ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน

จากนั้นจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรม การชุดใหญ่เพื่อประชุมพิจารณาผังเมืองรวมและเสนอกฎหมายเพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎี กาเวณคืนที่ดินให้ทันการเปิดสภาในสมัยหน้าหรือในราวเดือนพฤษภาคม 2548 ส่วน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเวณคืนแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปีนับจากนี้ไป

ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการที่เกี่ยว ข้องจะต้องเร่งศึกษาและออกทีโออาร์เพื่อสามารถเปิดประมูลหาบริษัทที่ปรึกษามาทำการออก แบบเมืองใหม่เพื่อที่จะดำเนินขั้นตอนต่อไปได้

"ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตื่นตัว โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสำรวจ วางผัง ต้องเร่งปฎิบัติ เพราะโครงการนี่นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว เพราะถ้าทำไม่ได้ นายกฯก็ต้องหาคนที่ทำได้มาทำแทน "อธิบดีกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าว

"คลัง" ยันไทยพร้อมแข่งสิงคโปร์

"ที่ปรึกษารมว.คลัง"ยัน ไทยพร้อมเดินหน้าเป็น ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคแข่งกับสิงคโปร์ เพราะมีขนาดการค้าขายมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจรวมของประเทศ อีกทั้งยังมีธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลาย แบบไม่ต้องพึ่งสถาบันต่างชาติ พร้อมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางสั่งซื้อ-สั่งขายหลักทรัพย์แข่งฮ่องกง...

ดร.รุ่งเรือง พิทยะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการที่เป็นประเทศศูนย์กลาง ทางการเงินได้นั้น มี 2 รูปแบบ แบบหนึ่งคือมีธุรกรรม ทางการค้ามาก ทั้งการนำเข้า การส่งออก มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติ และมีนโยบายรัฐบาลเอื้อต่อการเป็นประเทศศูนย์กลางทาง การค้า โดยจะเป็นประเทศที่ให้ประเทศอื่นมาอาศัยการเติบโตของประเทศนั้น ๆ เป็นแหล่งลงทุน

แบบที่ 2 คือเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับบน โดยประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมานานแล้ว อาจจะไม่ใช่่เป็นประเทศมีการทำธุรกรรมในประเทศมาก ทั้งการนำเข้าและส่งออก แต่เนื่องจากเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยี มีความเป็นธรรมทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่ำ มีระบบภาษีที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทาง การเงิน และที่สำคัญต้องเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาก เช่น ประเทศนั้นมีการค้าขายตลาดอนุพันธ์ที่เป็นเรื่องของการซื้อขาย ความเสี่ยงในอนาคตเพื่อปกป้องความเสี่ยงในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศเหล่านี้จะเป็นปััจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ประเทศอื่นมีความสนใจทำธุรกรรมผ่านประเทศนั้น ๆ โดยไม่ได้เข้าไปค้าขายในประเทศนั้น แต่เข้ามาทำ clearing เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ดร.รุ่งเรือง กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมมากที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในแบบแรก คืออาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของธุรกรรมทางการค้าขายที่ไทยมีความเด่นชัด ทั้งมีขนาดการค้าขายมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจรวมของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติเอื้อต่อการเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิต ด้านนโยบายด้านภาษีก็มีแผนจัดตั้งเขตสินค้าปลอดภาษี

ส่วนนโยบายของรัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจ ไทยก็มีระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย คือมีระบบหักล้างทางบัญชีที่รวดเร็ว มีระบบบัญชีสมัยใหม่ รวมทั้งจะมีการปฏิรูปกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่จะยิ่งทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือจากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น

"ถ้าเทียบกับสิงคโปร์แล้ว ตอนนี้ไทยก็ดีกว่า ส่วนจีน คงจะไปเปรียบเทียบด้วยไม่ได้ เพราะจีนเป็นประเทศที่ปิดมานาน พอเปิดประเทศก็เป็นการเติบโต แบบก้าวกระโดด เพราะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เร็ว และแรง"

ดร.รุ่งเรือง ยอมรับว่า อดีตรัฐบาลเคยมีแนวคิด ที่จะนำสถาบันการเงินของต่างประเทศมาเปิดขยายสาขาในประเทศไทย แต่ปัจจุบันระบบสถาบันการเงิน ของไทยมีความทันสมัยมากขึ้นมาก หลังจากรัฐบาลได้ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินของไทยมีทิศทางทางการเงินแบบ Universal banking คือแบบครอบจักรวาล มีการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่เงินฝาก เงินกู้ และก็มีการทำ L/C เล็กน้อย มาปัจจุบันที่มีทั้งการประกันความเสี่ยง มีการทำการซื้อขายล่วงหน้า มีการทำ Securitization มีสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่หลากหลาย มีทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อแบบ personal Loan สินเชื่อแบบเช่าซื้อ ด้านอสังหาริมทรัพย์ก็มีสินเชื่อแบบตลาดแรก ตลาดรอง ซึ่งมีความหลากหลายมาก

โดยเมื่อเทียบระหว่างสถาบันการเงินของไทยกับต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีธุรกรรมทางการเงินไม่ต่างกันนัก อีกทั้งสถาบันการเงินของไทยไม่ต่ำกว่า 3 ปัจจุบันยังมีหุ้นส่วนเป็นชาวต่างประเทศอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ไทยสามารถนำเทคนิคทางการเงินจากต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ไทยจึงไม่จำเป็นต้องดึงสถาบันการเงิน ของต่างชาติมาขยายสาขาในไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อ ถือตามที่คิดไว้แต่แรก เพราะมีความพร้อมด้วยตัวเอง

นอกจากนี้รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะให้สถาบันทาง การเงินเข้าไปช่วยประกันความเสี่ยงให้กับตราสารทุน ของบริษัทเอกชนอีกด้วย ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง

สำหรับเรื่องการเป็นศูนย์กลางการสั่งซื้อ-สั่งขายหลักทรัพย์ นั้น ดร.รุ่งเรืองยอมรับว่า ไทยยังสู้ฮ่องกงไม่ได้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนของฮ่องกงมีความมั่นคงกว่าของไทย ดังนั้นจะต้องพัฒนาให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทมีความมั่นคงและแข็งแรงกว่าจึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการสั่งซื้อ-สั่งขาย หลักทรัพย์แข่งกับฮ่องกงได้

สนข.สร้างด่วนถนด่วนเชื่อมบ้านนา

สนข.สำรวจพื้นที่สร้างทางด่วนเชื่อมกทม.-เมืองใหม่ -โคราช พร้อมก่อสร้างถนนใหม่และรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ส่วนกรมทางหลวง วางแผน ขยายรังสิต-องค์รักษ์ เป็น 8-10 ช่องจราจร

คำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า สนข.เตรียมหาแนวทางการเดินรถให้มีความสะดวกไว้แล้ว โดยจะทำการตัดถนนใหม่ไปยังอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งจะตัดถนนใหม่จากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จังหวัดนครนายกตรงยังกรุงเทพฯได้เลย จะมาออกบริเวณถนนรามอินทรา ประมาณกม.5-8 ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ทหารได้สำรวจไว้แล้ว และนับตั้งแต่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะสร้างเมืองใหม่ ทางสนข.ได้ทำการสำรวจพื้นที่จากภาพถ่ายทางอากาศและดูพื้นที่จากที่สูงแล้ว แต่การสำรวจพื้นที่จริงยังไม่ได้สำรวจ คาดว่าจะเริ่มสำรวจพื้นที่ จริงในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเห็นเป็นเส้นทางที่ดีน่าจะตัดใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปยังเมืองใหม่บ้านนา

"โครงการตัดถนนเส้นนี้ น่าจะผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล เพราะจะเป็นเส้นทางที่สะดวก และใช้เวลาในการเดินทางไม่นานมาก ซึ่งตรงตาม นโยบายที่นายกฯทักษิณต้องการทุกอย่าง ซึ่งจะตัดถนนขนาด 6 ช่องจราจร"

นอกจากการตัดถนนเส้นใหม่แล้ว จะมีระบบทางด่วนต่อจากทางด่วนอาจณรงค์-ราม อินทรา ที่เดินทางไปนครราชสีมาเป็นเส้นทางลัดที่ผ่านอำเภอบ้านนา นครนายกด้วย ในส่วนของระบบราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะทำรถไฟความเร็วสูง เฉลี่ยที่ 140-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเส้นทางนี้ อาจจะมีช่วงเบี่ยงเข้าสนาม บินสุวรรณภูมิด้วย เพื่อให้การเดินทางเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ ขยายรังสิต-องค์รักษ์ 10 ช่องจราจร

ปัญหานี้กรมทางหลวง .พยายามที่จะหาแก้ปัญหาอยู่แล้ว อาจจะต้องขยายช่องจราจรออกเป็นอย่างน้อย 8-10 ช่องจราจร เพื่อลดปัญหาการ จราจรติดขัด ซึ่งการขยายถนนทำได้ไม่ยาก เพราะมีแนวทางไว้แล้ว

สำหรับถนนรังสิต-วังน้อย-แก่งคอย-บ้านนา ปัจจุบันเป็นถนนขนาดใหญ่ 8 ช่องจราจร ไม่จำเป็นต้องขยายอีก เพราะสามารถรองรับการเดิน ทางได้อยู่แล้ว แต่ถนนชำรุดมาก จำเป็นต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

คำรบลักขิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากแผนการรอง รับการเติบโตของศูนย์ราชการแห่งใหม่ หรือเมือง ใหม่แล้ว ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทางสนข.ก็เตรียมการหาทางแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยการแก้ไขระบบทางเดินรถแบบวันเวย์ ทูเวย์ และจุดตัดบริเวณสี่แยกทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้การเดิน รถคล่องตัวมากที่สุด รวมถึงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก และทำอุโมงค์ต่างๆ เป็นต้น

[Top]

 พิมพ์ไทย, 28-11-46  

   กทพ.เร่งเชื่อมโยงโครงข่ายทางด่วนเพื่อพัฒนาสู่เมืองใหม่

สำนักข่าวพิมพ์ไทย/// นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. กล่าวว่า การทางพิเศษฯ มีแผนเชื่อมโยงโครงข่ายทางด่วนที่ยังไม่เสร็จอย่างเร่งด่วน 3 โครงการ ได้แก่ ทางด่วยขั้นที่ 3 บางนา-อาจณรงค์ ระยะทาง 47 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือน ก.พ.ปีหน้า ทางหลวงพิเศษสายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ เชื่อมสุขสวัสดิ์-บางพลี เพื่อเชื่อมต่อกับพระราม 2-สุขสวัสดิ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา และทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก ซึ่งสามารถขยายต่อไปจนถึง จ.นครนายก เพื่อรองรับโครงการเมืองใหม่ของรัฐบาล.

[Top]

  มติชนสุดสัปดาห์ ฉ. 1215 28 พ.ย. พ.ศ. 2546 ปีที่ 2, หน้า 72  

 สิ่งแวดล้อม 
เมืองใหม่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com

ข่าวโครงการสร้างเมืองใหม่ ที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศออกมาเมื่อวันวานก่อน ปลุกกระแสประชาชนให้ตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีแล้วมีภาพโครงการชัด มีขั้นตอนการเตรียมแผนรายละเอียดกฎหมายออกมารองรับ ค่อนข้างเชื่อได้ว่าคงจะไม่ทำให้ประชาชนฝันค้างเหมือนกับโครงการเมืองใหม่ที่รัฐบาลชุดก่อนๆ เคยคิดเอาไว้

โครงการเมืองใหม่ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สรุปก็คือต้องการสร้างเมืองใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมสวยงาม เป็นเมืองแห่งสุขภาพ ไร้มลพิษ มีเทคโนโลยีทันสมัย การคมนาคมสะดวก ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างบริเวณโดยรอบต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเทคโนโลยีสะอาด ตึกใหญ่มีบ้างแต่ไม่มาก สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน หน่วยราชการ สถานศึกษาก็มีอยู่ด้วย

เป้าหมายหลักของโครงการเมืองใหม่นี้ หวังจะทำให้เป็นเมืองตัวอย่าง ป้องกันการแออัดยัดเยียดของกรุงเทพมหานครและสกัดการหลั่งไหลของประชากรจากต่างจังหวัด

พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า โครงการนี้ใช้เงินราวๆ 1 แสนล้าน แต่การจัดการบริหารโครงการเป็นรูปแบบของบรรษัท มีการขายพันธบัตรเพื่อระดมทุนมาก่อสร้างโครงการ

พื้นที่ของโครงการเมืองใหม่คาดว่าครอบคลุม อ.บ้านนา จ.นครนายก และพื้นที่ใกล้เคียง อ.วิหารแดง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ราว 150,000 ไร่ ถ้ารัฐบาลผลักดันกฎหมายเรื่องเวนคืนที่ดิน กฎหมายกำหนดพื้นที่เมืองใหม่ และการจัดตั้งบรรรษัทบริหารโครงการเสร็จสิ้นในสมัยประชุมสภาครั้งหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่าจะลงมือก่อสร้างในปีหน้าได้เลย

นับเป็นข่าวที่มีสีสันฉูดฉาดของสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีเดียว

ผมอ่านข่าวโครงการเมืองใหม่แล้วก็เห็นด้วยทันทีและอยากให้รัฐบาลรื้อระบบผังเมืองทำเมืองไทยให้เป็นเมืองน่าอยู่ทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำไป

ระบบผังเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ สรุปได้คำเดียวว่า "เละ" ซึ่งไม่รู้เหมือนกันเละมาตั้งแต่สมัยไหน หรืออาจเป็นเพราะว่าสมัยก่อนนั้นไม่มีการใช้ระบบผังเมืองมากำหนดเลยทำให้ชุมชนแต่ละแห่งจึงกลายเป็นถังขยะใบใหญ่ ที่มีทุกอย่างรวมกันทั้งโรงงาน บ้าน ฟาร์มเลี้ยงหมู เป็ดไก่ ฯลฯ เมื่อชุมชนโตขึ้น คนมากขึ้น โรงงานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นขยะที่มีของเสียเพิ่มเป็นเงาตามตัว

วันนี้ สภาพแวดล้อมในชุมชนเมืองเกือบทั่วประเทศ แทบจะปนเปื้อนด้วยของเสียมลพิษ ไล่มาตั้งแต่ลำคลองที่ดำคร่ำ เน่าเหม็น ขยะกระจายอยู่เกลื่อนกลาด โรงงานปล่อยน้ำเสีย กลิ่นเหม็นคละคลุ้ง หรือถ้าไม่มีโรงงานก็มีฟาร์มกระจุกตัวอยู่รอบๆ หมู่บ้าน

สิ่งแวดล้อมเป็นพิษเกิดขึ้นนั้น นอกจากจะกล่าวโทษระบบผังเมืองที่ไม่เอาไหนแล้ว ผมว่าต้องตำหนิคนในชุมชนด้วยกันที่อยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว คิดแค่บ้านใครบ้านมันเพียงเท่านั้น ขณะที่ระบบการจัดการความสะอาดของรัฐก็เหลวแหลก ปล่อยให้ชาวบ้าน โรงงาน ฟาร์ม ทิ้งน้ำเสียลงในที่สาธารณะกันอย่างสบายอกสบายใจโดยไม่ได้ใช้กฎหมายเข้าควบคุม

ถึงที่สุดแล้ว ผลลงเอยก็คือชุมชนนั้นๆ ไร้ความน่าอยู่น่าอาศัย

ผมยังจำติดตาภาพของทะเลสาบใสราวกระจกของเมืองซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ ไม่แค่ใสอย่างเดียวแต่ยังมีหงส์ นกเล่นน้ำอย่างร่าเริง ส่วนถนนหนทางสะอาด หน้าบ้าน ร้านค้าหรืออพาร์ตเม้นต์ มีสนามหญ้าเขียวปลูกต้นไม้ร่มรื่น ทั้งที่เมืองซูริกเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงินที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น

ข้อน่าสงสัยก็คือ ทำไมซูริกจึงสามารถอนุรักษ์แหล่งน้ำให้ใสสะอาดได้อย่างยั่งยืนแล้วทำไมชุมชนในเมืองไทยไม่สามารถรักษาสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ ?

ผมว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้คิดจะทำเมืองใหม่ไฮเทคหรือไร้มลพิษอย่างที่วาดฝันเอาไว้ ต้องคิดเรื่องของการสร้างระบบที่จะทำให้คนในเมืองใหม่แห่งนี้มีสำนึกความเป็นสาธารณะ ไม่เพียงเฉพาะบ้านตัวเองน่าอยู่ แต่ต้องช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองไปพร้อมๆ กันด้วย

ถ้ารัฐบาลสามารถทำเมืองใหม่ให้เป็นเมืองตัวอย่างที่น่าอยู่ ไร้มลพิษและขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศได้แล้ว ผมว่าการท่องเที่ยวเมืองไทยในอนาคตข้างหน้า ไม่ต้องเร่ขายบัตรพิเศษ "ไทยแลนด์ อีลิต" หรอกครับ ใครๆ ทั่วโลกก็อยากมาอยู่มาเที่ยวเพราะมีที่สวยๆ ให้ดูมากกว่าสวิสเป็นไหนๆ

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า