banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 27 พ.ย. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

 คมชัดลึก, 27-11-46  

แนะอุดมศึกษา จับมือพลิกโฉม รับ "เมืองในฝัน"

นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายจะไปจัดตั้งเมืองในฝัน จังหวัดนครนายกว่า มหาวิทยาลัยมีเครือข่ายตั้งอยู่ใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก มาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ทำให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับจังหวัดและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตเมื่อเมืองในฝันเกิดขึ้นมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น มศว องครักษ์, ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า, สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คลองหก, ม.ธรรมศาสตร์, ม.อีสเทิร์นเอเซีย, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT), สถาบันราชภัฏพิทยาลงกรณ์, สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา จะต้องร่วมกันรับผิดชอบด้านการศึกษาเพื่อรองรับการจัดตั้งเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 6-7 ปีข้างหน้า "ผมคิดว่าสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่เพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำการหาแนวทางร่วมกันพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ให้ก้าวหน้าและเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อให้สอดรับแนวทางเมืองใหม่มากที่สุด ซึ่งในส่วนของ มศว ที่มีงานวิจัยในพื้นที่ อ.องครักษ์และพื้นที่ใกล้เคียง คงต้องมาสังเคราะห์งานวิจัยที่มีอยู่ทั้งหมดว่า งานวิจัยชิ้นใดที่เป็นประโยชน์กับแนวนโยบายรัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะคิดค้นงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ ขึ้นมาและนำเสนอต่อสังคมด้วย" นายวิรุณ กล่าว

[Top]

  ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3535(2735) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546, หน้า 4  

 นครนายกถกรับเมืองใหม่ ธุรกิจที่ดิน-รีสอร์ตรอรับส้ม 
สำรวจทำเล "เมืองใหม่นครนายก-สระบุรี" วงในเผยยังไม่มีการกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร เหตุจากนักธุรกิจ, นักลงทุนยังรอความชัดเจนจากภาครัฐ แลนด์ลอร์ด, โรงแรม, รีสอร์ต ในพื้นที่ 2 จังหวัดแจ็กพอต ชี้แนวคิดพัฒนาเมืองใหม่ฉุดกระแสบูมแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานข่าวจากการสำรวจพื้นที่บริเวณอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอวิหารแดงและแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคาดหมายว่ารัฐบาลจะใช้เป็นที่สร้างเมืองใหม่ เมืองเพื่อการอยู่อาศัยปลอดมลพิษ โดยจำลองแบบมาจากทามะ นิวทาวน์ของญี่ปุ่นว่า แม้จะมีกระแสข่าวว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเลือกพื้นที่ในจังหวัดนครนายกและจังหวัดสระบุรีเป็นที่พัฒนาเมืองใหม่ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินผิดปกติ และยังไม่มีการกว้านซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไรแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีกระแสตอบรับจากประชาชน ตลอดจนเจ้าของที่ดินและนักลงทุนทั้งในจังหวัดนครนายกและสระบุรี สนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาเมืองใหม่ของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของจังหวัดนครนายกในปี 2542 พบว่า มีประชากรทั้งจังหวัดรวม 243,235 คน เป็นชาย 120,110 คน หญิง 123,125 คน โดยพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก 98,260 คน รองลงมาได้แก่ อำเภอบ้านนา 65,741 คน และองครักษ์ 53,719 คน สำหรับพื้นที่อำเภอบ้านนา ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นที่สร้างเมืองใหม่ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 388,453 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนหน่วยการปกครองท้องถิ่นรวม 10 ตำบล 115 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล และ 10 องค์การบริหารส่วนตำบล

ขณะที่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรีมี 6 ตำบล 54 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 40 หมู่บ้าน เขตเทศบาล 2 แห่ง ส่วนอำเภอแก่งคอยมี 14 ตำบล 112 หมู่บ้าน มีจำนวนตำบลที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 12 แห่ง 102 หมู่บ้าน 2 เทศบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลประวัติดั้งเดิมของจังหวัดนครนายกระบุว่า นครนายกเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี หลักฐาน คือแนวกำแพงเนินดินและสันคูเมืองที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อ "นคร นายก" ปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาว่า เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง ใน พ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑลนครนายกจัดอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทน และในช่วง พ.ศ. 2486-2489 ได้โอนนครนายกไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี และสระบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็นจังหวัดนคร นายก

จังหวัดนครนายกเดิมชื่อว่า "บ้านนา" สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล และมีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนกลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือดร้อนของชาวเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้เลิกภาษีนาเพื่อจูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิม ทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า "เมืองนายก"

ส่วนจังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดสำคัญในด้านโบราณสถานทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 108 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอบ้านหมอ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอหนองโดน อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก อำเภอวังม่วง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอดอนพุด และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,576 ตารางกิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของพื้นที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก แม้กระแสข่าวจะระบุชัดเจนว่าจะได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของเมืองใหม่ แต่จากการสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด รวมทั้งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ปรากฏว่าส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้พื้นที่ใดเป็นที่ตั้งเมืองใหม่ แต่ต่างสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเหมาะสมที่จะสร้างเมืองใหม่ที่เน้นในเรื่องการปลอดมลพิษ

โดยนางแสงอรุณ วัฒนวงศ์ หัวหน้าสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายกเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนครั้งแรกจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก ที่หมดอายุไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา โดยจะมีการหารือในการพัฒนาเมืองใหม่ในจังหวัดนครนายกด้วย สำหรับการจัดทำผังเมืองรวมจะกำหนดบทบาทของเมืองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่มีอยู่ 4 ด้าน คือ 1.บ้านเมืองน่าอยู่ 2.เรื่องการเกษตร 3.การท่องเที่ยว และ 4.เป็นสังคมฐานความรู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม้จะมีกระแสข่าวเรื่องการสร้างเมืองใหม่ แต่นางมนฤดี เวชภูติ ที่ดินจังหวัดนครนายกยืนยันว่าขณะนี้ความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินในจังหวัดนครนายก ยังอยู่ในระดับปกติ และไม่มีการเก็งกำไร เช่นเดียวกันกับอำเภอวิหารแดงและแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แต่หากมีการสร้างเมืองใหม่ในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอวิหารแดง และบางส่วนของอำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรี น่าจะส่งผลดีต่อเจ้าของที่ดินตลอดจนโครงการโรงแรม รีสอร์ต ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวและในบริเวณใกล้เคียงอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าพื้นที่จังหวัดนคร นายก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันมีโรงแรม รีสอร์ต สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อาทิ กอบเกื้อ พาเลซ, ครัวมะนาว เกสท์เฮาส์, จักรดาว การ์เด้น โฮม รีสอร์ท, ช่อชะมวง รีสอร์ท, นอร์ธ บังกะโล, บ้านพักน้ำตกนางรอ

ปันใจ แพ-แคนู-แคมป์, โพธิ์แดง รีสอร์ท, รอยัลฮิลส์ รีสอร์ท, เรือนรับรองสโมสรนายทหารโรงเรียนนายร้อย จปร. เขาชะโงก, วังตะไคร้, วังรี รีสอร์ท, ไวท์เฮ้าส์, สีดา รีสอร์ท, ชลพฤกษ์ รีสอร์ท เป็นต้น

ขณะที่พื้นที่ตำบลชะอมอยู่ติดกับตำบลท่ามะปราง อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งเหมืองหินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และในย่านคลองชะอม มีนักธุรกิจลงทุนทำรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ และสนามกอล์ฟส่วนตัวหลายราย ส่วนที่อำเภอวิหารแดงก็เป็นฐานการผลิตใหญ่ของบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งมีที่ดินอยู่หลายร้อยไร่ รวมทั้งบริษัทแปดสิบสี่ก็ครอบครองที่ดินจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนโรงแรมและรีสอร์ตในจังหวัดสระบุรี อาทิ เกี่ยวอัน, ถนอมทรง, ทรัพย์สินรุ่งเรือง, สระบุรีอินน์, สระบุรีโฮเต็ล, แสงไทยวิลล่า, แสนสุข, อีง้วน, อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น, แก่งคอย รีสอร์ท จิตรประไพชาเล่ต์, ท้องทอง รีสอร์ท, ไทยนิยม, ไร่หวานสนิท รีสอร์ท, ศิริพร, ศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ท, หาดสองแคว รีสอร์ท, เป็นสุข, ทวีทรัพย์, ธานินทร์โฮเต็ล เป็นต้น

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า