banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 24 พ.ย. 2546
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547

  ข่าวสด, วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2546 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4773, หน้า 3  

   ผังเมืองใหม่ยังต้องรอ"แม้ว"

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายประมวล รุจนเสรี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการวางผังเมืองเมืองใหม่ ที่อ.บ้านนา จังหวัดนครนายกว่า ต้องรอความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีว่า จะมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาวางผังเมืองโดยเฉพาะจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยจะให้เอกชนเข้ามาประมูลงานก่อสร้าง ยกเว้นศูนย์ราชการและพระราชวังภูมิพลอดุลยเดช ที่หน่วยงานราชการจะเป็นผู้รับผิดชอบ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 8 ปี เพื่อจะถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา

นายประมวลกล่าวอีกว่า เมืองใหม่ไม่ใช่เมืองของคนรวย แต่จะเป็นเมืองที่มีการผสมผสานอย่างหลากหลายภายใต้การควบคุม และวางผังเมืองที่ดีตั้งแต่ต้น โดยกำหนดพื้นที่ไว้ประมาณ 2 แสนไร่ และพยายามให้มีประชากรประมาณ 2 แสนคน ส่วนการห้ามคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่อาจทำไม่ได้ แต่จะจำกัดการก่อสร้างอาคาร นอกจากนี้อาจจะใช้การปกครองแบบเขตปกครองพิเศษอย่างที่พัทยา

[Top]

  ไทยรัฐ, 24-11-46  

 หมายเหตุประเทศไทย 
แนวคิดเมือง (บริวาร) ใหม่

"ลม เปลี่ยนทิศ"

ในที่สุด นายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ตัดสินใจเลือก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นที่ตั้งเมืองใหม่ เพื่อให้เป็น “เมืองบริวาร” Satellite Town เมืองแรกของกรุงเทพมหานคร อย่างที่ผมฟันธงไปเมื่อเดือนก่อนโน้น หลังจากที่เคยฝันจะทำมาหลายรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จสักที

เป็นเมืองบริวารที่สร้างขึ้นมาเพื่อ ระบายความแออัด ของ กรุงเทพมหานคร ตามแบบมหานครใหญ่ทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเมืองราชการอย่างที่คิดกันแบบเดิม

มาดูรายละเอียดเบื้องต้นกันครับว่า เมืองใหม่บ้านนา หน้าตาจะเป็นอย่างไร จะเป็น “เมืองสวรรค์” อย่างที่ฝันกันหรือไม่ คุณสว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บอกว่า เนื้อที่เมืองใหม่ จะมีประมาณ 200,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เมือง 50,000 ไร่ เพื่อจัดเป็นโซนที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สถานศึกษา อุตสาหกรรมสะอาด สวนสาธารณะ และแหล่งพักผ่อน

งบประมาณก่อสร้างตกประมาณ 250,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย รัฐจะลงทุนเฉพาะ สาธารณูปโภค รถไฟด่วนสาย กรุงเทพฯ-นครนายก-นครราชสีมา และไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ส่วนที่ดินรัฐจะขายหรือให้เอกชนประมูลสร้างเมืองแทน

คุณสว่างบอกอีกว่า เมืองใหม่แห่งนี้จะเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน เป็นเมืองสวรรค์ขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยประมาณ 2.5-3 แสนคน เป็นคนระดับกลางและระดับสูง มีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 35,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

เมืองใหม่จะเป็นเมืองปลอดมลพิษ ไม่มีปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย หรือจราจรติดขัด มีสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา ถ้าจะมีอุตสาหกรรมก็ต้องเป็น อุตสาหกรรมสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น อุตสาหกรรมไอที เป็นเมืองธุรกิจเชิงพาณิชย์ เป็นศูนย์กลางการประชุมระดับชาติ มีรีสอร์ตและสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มีสนามกอล์ฟ 10 สนาม และโรงแรมหรูระดับห้าดาว

นี่คือหน้าตาคร่าวๆของบ้านนาเมืองใหม่ เมืองบริวารแห่งแรกของกรุงเทพฯ

รัฐบาลอังกฤษเคยเชิญผมไปดูการสร้างเมืองใหม่ เพื่อให้เป็นบริวารของ มหานครลอนดอน ซึ่งมีปัญหาแออัดจนต้องขับไล่นักท่องเที่ยว เมื่อ 25 ปีก่อน เมื่อได้ฟัง “แนวคิดเมืองใหม่” จากอธิบดีสว่าง ศรีศกุน เบื้องต้นแล้ว ผมขอฟันธงตรงนี้เลยว่า เป็นแนวคิดที่มาถูกทางแล้ว

การ “กำหนดสังคมพื้นฐาน” ของเมืองใหม่ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คนที่ไม่เข้าใจอาจคิดว่า การกำหนดให้พลเมืองของเมืองใหม่ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 35,000 บาทต่อเดือน เป็นการกำหนดชนชั้น เป็นการรังเกียจคนจน

ผมตอบแทนได้ตรงนี้เลยว่า จริงและถูกต้อง และจะต้องทำอย่างนั้น ไม่งั้นเมืองใหม่ก็จะมี สภาพไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ เน่าๆ อีเหละเขะขะในทุกวันนี้

ในอังกฤษก็เหมือนกัน สังคมของคนเมืองใหม่ จะกำหนดล่วงหน้าให้เป็น สังคมของชนชั้นในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เอาคนจนกับคนรวยไปอยู่ด้วยกัน

เมืองนอกที่เจริญแล้ว แม้แต่สหรัฐฯก็ทำอย่างนี้ คนจนคนรวยต้องแยกย่านกันอยู่ เพราะต้องเสียภาษีทรัพย์สินที่แตกต่างกัน ไม่ใช่อยู่กันอย่างมั่วแบบไทยๆ

การกำหนดชนิดอุตสาหกรรมและการค้า ในเมืองใหม่ก็เช่นกัน เมืองใหม่ทั่วโลกก็กำหนดอย่างนี้ เพื่อให้สังคมคนเมืองใหม่มีพื้นฐานเดียวกัน ทำให้บริหารง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา แรงงาน หรือบริการด้านอื่น อุตสาหกรรมสะอาดกับอุตสาหกรรมสกปรก จะต้องแยกออกจากกันเด็ดขาด เพราะพื้นฐานแรงงานต่างกัน

เมืองใหม่จะต้องดีกว่าเมืองเก่า

เมืองไทยในยุครัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ความคิดความอ่านของคนทั่วไปจะไล่ตามไม่ทัน แม้แต่อารยธรรมใหม่ ของสังคมใหม่ คนไทยก็ยังล้าหลัง ผมว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปการศึกษา คนไทยต้องพัฒนาขึ้น ไม่ใช่อยู่กับที่.

[Top]

  ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3534 (2734) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2546, หน้า 38  

   เมืองใหม่ "นครนายก" ขุมทรัพย์แห่งอนาคต - รายงาน

ทันทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฟันธงเลือกพื้นที่ "นครนายก" เป็นที่ตั้งโครงการ "เมืองใหม่" แห่งอนาคต ความสนใจของนักลงทุนและประชาชนทั่วไปก็พุ่งตรงไปยังจังหวัดเป้าหมายอย่างฉับพลัน หลังจากรีๆ รอๆ เฟ้นหาอยู่หลายจังหวัด นายกฯบอกว่า โครงการเมืองใหม่จะต้องพัฒนาให้อยู่ภายใต้กรอบของความเป็น "เมืองที่น่าอยู่" ต้องปลอดมลพิษ มีความไฮเทค ระบบสาธารณูปโภคครบ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่ท่องเที่ยว กับหน่วยราชการนั้น อาจมีไม่มาก หรือเป็นศูนย์ราชการอย่างที่เข้าใจกัน เพราะต้องการปั้น "เมืองใหม่" ให้เป็นเมืองอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใส่แหล่งงานเข้าไปมากๆ

จุดที่คณะทำงานตัดสินใจเลือก "นครนายก" เพราะตรงสเป็กตามนโยบายรัฐทุกอย่าง อาทิ ห่างจากกรุงเทพฯ 40-60 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งรถแค่ 1 ช.ม. มีเนื้อที่เหมาะสมกว่า 1.5 แสนไร่ ซึ่งครอบคลุม 3 อำเภอใหญ่ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวแพลมๆ ออกมาจาก ครม.ทักษิณแล้วว่า จะขีดเส้นใต้เลือกที่นี่ แต่ไม่มีใครกล้ายืนยัน กลัวล้ำหน้าท่านนายกฯ เมื่อโฟกัสพื้นที่เด่นๆ มีรายงานข่าวระบุว่า น่าจะเป็นอำเภอบ้านนา อำเภอแก่งคอย และอำเภอเมือง นครนายก ตามแนวถนนทางหลวงบ้านนา-แก่งคอย ใช้พื้นที่เข้าไปข้างละ 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ดอน ไม่ใช่ทุ่งนา "ที่ผืนนี้เดิมเป็นที่หลวงหรือราชพัสดุ เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว กันไว้ให้ทหารฝึก ซึ่งเป็นที่ผืนเดียวกับที่ตั้งโรงเรียนนายร้อย จปร.เขาชะโงก" แต่ถูกปลอ่ยทิ้งไว้ จนเกิดการบุกรุกเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์มากขึ้น เมื่อรัฐทุบเปรี้ยงจะใช้ที่เหล่านี้สร้างเมืองใหม่ แน่นอนว่า ต้นทุนการไล่ที่เพื่อแลกกับกรรมสิทธิ์ย่อมต้องจ่ายแพง เป็นค่าชดเชยให้กับประชาชนที่อยู่มานาน เหมือนกรณีเวนคืนสร้างสนามบินใหม่สุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มลงมือสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมออกกฎหมายเวนคืนที่ดินและออกพระราชบัญญัติเมืองใหม่ กำหนดเขตที่ดินและพื้นที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้งหมด พร้อมเร่งจัดตั้ง "บรรษัทพัฒนาเมือง" ให้ทำหน้าที่กำหนดขอบเขตและกรรมวิธีจัดหาที่ดินใหม่ โดยแบ่งโซนนิ่งที่อยู่อาศัย และออกกฎระเบียบในเมืองใหม่ แต่ช่วงที่รอตั้งบรรษัท ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไปก่อน ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมธนารักษ์ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีก 12 คณะ เพื่อให้รับผิดชอบงานแต่ละส่วน

ด้านรูปแบบการลงทุนจะออกพันธบัตร (บอนด์) ระดมทุนซื้อที่ดินใหม่ โดยตีมูลค่าที่ดินตามราคาตลาด แล้วถึงออกบอนด์ให้ตามจำนวน รวมทั้งใช้วิธีการแลกเปลี่ยนที่ดินด้านนอกโครงการด้วย และใช้กฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายการจัดรูปที่ดินเข้าช่วยอีกแรง "ซึ่งจะช่วยสกัดนักเก็งกำไรได้ ตามนโยบายรัฐที่ประกาศชัดไปแล้วว่า ราคาที่ต้องไม่แพงไปจากเดิม" เมื่อเสร็จสิ้นการระดมทุน รัฐจะทุ่มทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ ทั้งถนนตัดใหม่ ทางด่วน ระบบขนส่ง ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ที่สำคัญรัฐจะตัดแบ่งที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามาจัดสรรเป็นโครงการที่อยู่อาศัย โดยจูงใจด้วยการยกเว้นภาษี อีกแนวทางหนึ่ง รัฐอาจลงทุนเองทั้งหมด และให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นผู้พัฒนาและแยกเป็นเมืองที่มีการปกครองโดยเฉพาะ ในอนาคตเชื่อว่าจะเป็นแหล่งลงทุนที่หลายๆ ธุรกิจจะเข้ามาร่วมสร้างฝัน นายกฯทักษิณพูดชัดว่า แบบจำลองที่อยากให้เป็น คือ เมืองทามะ ประเทศญี่ปุ่น หรือทามะ นิว ทาวน์ (Tama New Town) ซึ่งจะเป็นเมืองต้นแบบ และมีแนวการลงทุนที่คล้ายคลึงกัน คือ มีบรรษัทเข้ามาบริหาร ด้วยมูลค่าโครงการไม่เกิน 1 แสนล้านบาท

ภายใต้ระยะเวลา 6-8 ปี "เมืองใหม่" ที่ว่าต้องแล้วเสร็จ เพียงเท่านี้ก็เชื่อแน่ได้ว่า กลุ่มทุนทั้งบริษัทจัดสรรและผู้รับเหมาก่อสร้าง-วางระบบ คงต้องวิ่งตีนขวิด เมื่อเค้กใหม่มาเยือนรอตรงหน้า รวมถึง "นายหน้าค้าที่ดิน" และข้าราชการการเมืองที่อาจจะหาเศษหาเลย รุมขย่ม "ขุมทรัพย์ใหม่" เป็นว่าเล่น กว่า "เมืองใหม่" จะเสร็จ ข่าวฉาวเรื่องการจัดซื้อ การประมูล คงไล่ตามมาติดๆ ไม่ต่างกับ "หนองงูเห่า" อย่างแน่นอน !

[Top]

  ประชาชาติ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3534 (2734) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2546, หน้า 1  

  ทุ่ม 1.6 แสนล้านชุบเมืองใหม่"นครนายก"  
เปิดแผนลงทุนเมืองใหม่นครนายก ปัดฝุ่นผลศึกษาชี้รัฐต้องทุ่มงบฯ 1.66 แสนล้านพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบสาธารณูปโภค ผุดมอเตอร์ เวย์ ต่อขยายด่วนรามอินทราถึงนครนายก และไฮสปีดเทรนเชื่อมสุวรรณภูมิ เผยเริ่มมีนักธุรกิจจากกรุงเทพฯบุกสำรวจราคาที่ดินในพื้นที่ "บ้านนา-วิหารแดง-แก่งคอย" หวังซื้อเก็งกำไรแล้ว

โครงการสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเมืองไฮเทค และเมืองเพื่อการอยู่อาศัยปลอดมลพิษ โดยจำลองแบบมาจากทามะ นิวทาวน์ ของญี่ปุ่น ตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ นอกจากการเลือกพื้นที่จะชัดเจนขึ้น เพราะจากการศึกษารายละเอียดหลายฝ่ายเห็นว่าน่าจะเลือกพื้นที่ในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และบางส่วนของอำเภอวิหาร แดง และแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นที่สร้างเมืองใหม่แล้ว ในส่วนของโครงการสาธารณูปโภคที่จะต้องลงทุนเพื่อรองรับก็อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่กันไปด้วย

ผุด "มอเตอร์เวย์-ไฮสปีดเทรน"

ดร.คำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ระบบขนส่งที่เตรียมรองรับโครงการเมืองใหม่ 1.5 แสนไร่ในจังหวัดนครนายกนั้น รัฐอาจต้องลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง และสร้างทางด่วนใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางในอนาคต

กล่าวคือ ระบบทางด่วนสายรามอิน ทรา-อาจณรงค์ อาจต้องลงทุนเพิ่มในการก่อสร้างทางด่วนจากรามอินทรา ย่านซอยวัชรพล โดยต่อเชื่อมยาวไปถึงถนนพหลโยธิน-ลำลูกกา ที่เป็นโครงข่ายร่วมกับวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เส้นทางนี้สามารถสร้างยาวไปถึงนครนายกได้ ในระยะทาง 55 กิโลเมตร แต่ถ้าให้ถึงนครราชสีมา จะมีระยะทางยาวขึ้นเป็น 190 กิโลเมตร

"ถ้าขยายการขนส่งไปถึงโคราช อาจต้องใช้เงินทุน 80,000 กว่าล้านบาท ส่วนจุดปลายทางที่เมืองใหม่นครนายก เรายังไม่ได้ประเมินตัวเลข ต้องคิดกันใหม่"

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง จะต้องลงทุนสร้างต่อจากสายมักกะสัน-สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผ่านหนองจอก ลาดกระบัง ลำลูกกา แล้วไปบรรจบกับรถไฟสายแก่งคอย-ฉะเชิงเทรา เพื่อเดินทางเข้าเมืองใหม่ที่รัฐเลือก

"ด้านการรองรับจำนวนประชากรนั้น วางไว้ว่า ช่วง 6 ปีแรกจะรับได้ 2 แสนคน และสามารถรับได้เต็มที่ 5 แสนคน โดยรัฐจะต้องลงทุนสร้างถนนใหม่ คิดเป็น 16% ของจำนวนประชากร การลงทุนทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลสำรวจที่คณะกรรมการพิจารณาโครงการเมืองใหม่จะสรุปกันอีกครั้ง" ดร.คำรบลักขิ์กล่าว และยืนยันความคิดเห็นส่วนตัวว่า

"กับเมืองใหม่ที่นี่ ผมว่าลงทุนเฉพาะโครงการทางด่วนใหม่ 1 สายกับรถไฟอีก 1 เส้นก็พอแล้ว"

ลงทุนสาธารณูปโภค 1.66 แสนล้าน

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ทาง สจร.หรือสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรและขนส่ง เคยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการเมืองใหม่ไว้แล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ในทำเลเดียวกับที่รัฐบาลปัจจุบันตัดสินใจเลือกลงทุน โดยประมาณการลงทุนตามแผนไว้ ดังนี้

1.ระบบคมนาคมและขนส่งในเมือง เป็นถนนสายประธาน 4,535 ล้านบาท สายหลัก 5,105 ล้านบาท สายรอง 7,490 ล้านบาท สายย่อย 5,400 ล้านบาท และระบบขนส่งสาธารณะ 3,330 ล้านบาท

2.ระบบคมนาคมและขนส่งนอกเมือง ทางหลวงพิเศษและทางด่วน 88,659 ล้านบาท ทางหลวงสายประธาน 1,405 ล้านบาท ทางรถไฟ 8,600 ล้านบาท

3.ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ แยกเป็นน้ำประปา 10,030 ล้านบาท ไฟฟ้า 1,770 ล้านบาท โทรศัพท์และโทรคมนาคม 870 ล้านบาท ระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 6,750 ล้านบาท ระบบบำบัดน้ำเสีย 6,450 ล้านบาท ระบบกำจัดขยะ 3,180 ล้านบาท อุโมงค์รวมระบบสาธารณูปโภค 6,160 ล้านบาท การศึกษา 2,750 ล้านบาท กีฬา 3,630 ล้านบาท

พัฒนาเมืองใหม่คืนทุนใน 8 ปี

โดยมีการวิเคราะห์ด้านการเงินด้วยว่า หากรัฐลงทุนตามแผนนี้ใน 5 ปีแรกจะไม่มีรายได้จากการขายที่ดิน ซึ่ง 3 ปีแรกจะเป็นเรื่องการเวนคืนที่ดิน ใช้เวลาก่อสร้างถนน 2 ปี และจะได้รับการจัดสรรที่ดินแบบให้เปล่าใน 5 ปีแรก ซึ่งองค์กรผู้รับผิดชอบโครงการต้องระดมเงินทุนถึง 27,774 ล้านบาท

"ในปีที่ 6 คาดว่าจะได้เงินประมาณ 24,354 ล้านบาท ถ้านับจากปีที่ 6 ขึ้นไป องค์กรจะมีรายได้เพียงพอต่อสาธารณูปโภคและการบริหาร โดยไม่ต้องระดมทุน" รายงานข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า โครงการเมืองใหม่จะคืนทุนใน 8 ปี มีเงินสะสม 6,770 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสูงสุด 43,297 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงิน 17.7% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงการสามารถระดมเงินกู้มาสร้างเมืองได้ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีอยู่ที่ 5.75%

"แต่ความเหมาะสมของจำนวนเงินกู้ รัฐต้องพิจารณาเรื่องเงินคงค้างหนี้สาธารณะด้วย" รายงานข่าวกล่าว และว่า

สำหรับพื้นที่ที่รัฐจะสร้างเมืองใหม่นั้น จากแผนศึกษาเดิมระบุว่า อยู่ในตำบลห้วยแห้ง ท่ามะปราง ชะอม บ้านลำ เจริญธรรม คลองเรือ บ้านพริก ป่าขะ เขาเพิ่ม ศรีกะอาง ซึ่งอยู่ในอำเภอบ้านนา นครนายก ตามโมเดลโครงการนี้จะมีพื้นที่อยู่ติดกับตีนเขาใหญ่ ซึ่งคาบเกี่ยวกับ 2 ตำบล คือ ตำบลห้วยแห้ง และท่ามะปราง ดังนั้นอาจต้องถูกตัดออกไป แล้วขยายออกมาทางอำเภอหนองแค สระบุรี กับอำเภอบ้านนา นครนายก

"บ้านนา-วิหารแดง-แก่งคอย" ตัวเต็ง

นางมนฤดี เวชภูติ หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้แนวคิดการสร้างเมืองใหม่จะชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายรัฐบาลจะเลือกพื้นที่ใด เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีการคัดเลือกพื้นที่สร้างเมืองใหม่ไว้ 3 อำเภอ แต่ต่อมาเลือกไว้ 2 อำเภอ คือ บ้านนา และแก่งคอย ในจังหวัดสระบุรี แต่ไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวการสร้างเมืองใหม่ไม่ได้ทำให้การซื้อขายที่ดินในบ้านนามีมากขึ้น ถือว่าการซื้อขายเปลี่ยนมือยังเป็นไปตามปกติ คือ ประมาณ 100 แปลงต่อเดือน นางมนฤดีกล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พื้นที่ที่จะมีการเวนคืนเพื่อสร้างเมืองใหม่ จะอยู่ในอำเภอวิหารแดงบางส่วน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองสระบุรี ซึ่งตอนนี้ทางกรมที่ดินยังไม่ได้มีการสั่งการอะไรลงมา และยังไม่มีสัญญาณของการซื้อ-ขายที่ดินผิดปกติเกิดขึ้น

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาหนองแค ซึ่งรับผิดชอบอำเภอหนองแค และวิหารแดง กล่าวว่า พื้นที่ในวิหารแดงที่จะสร้างเมืองใหม่จะอยู่ในตำบลคลองเรือ และตำบลเจริญธรรม เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับอำเภอบ้านนา สำหรับขนาดของพื้นที่ที่จะมีการเวนคืนยังไม่ชัดเจน ในส่วนของราคาประเมินที่ดินทั้ง 2 ตำบลอยู่ที่ 1.2 แสนบาทต่อไร่ โดยที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินของเอกชน

ชาวบ้านสับสนข้อมูลเมืองใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจบริเวณที่อยู่ในข่ายของการตั้งเมืองใหม่ทั้งในเขตอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอวิหารแดง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบว่าความเคลื่อนไหวในการซื้อขายที่ดินยังอยู่ในภาวะปกติ แต่เริ่มมีนักธุรกิจจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าไปสอบถามราคาที่ดินบ้างแล้ว ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านนาแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อมีเมืองใหม่เกิดขึ้น จะทำให้วิถีชีวิตตัวเองที่เคยเงียบสงบต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องหาที่อยู่ใหม่ แต่บางคนรู้สึกดีที่ความเจริญจะเข้ามา เพราะจะทำให้เศรษฐกิจของอำเภอบ้านนาดีขึ้น

นายคณีทิป บุณยะเกตุ นายอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอำเภอวิหารแดงซึ่งอยู่ติดดกับอำเภอบ้านนาจะถูกเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างเมืองใหม่ด้วยหรือไม่ เนื่องจากยังไม่ทราบแผนงานจากรัฐบาล แต่ถ้าถูกเวนคืนด้วย ทางวิหารแดงก็พร้อมที่จะทำตามนโยบายของรัฐบาล เพราะปัจจุบันวิหารแดงเป็นเมืองที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแรงงานที่ไปทำงานโรงงานในเขตอำเภอแก่งคอยและอำเภอหนองแค และเป็นเมืองปลอดสารพิษอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่อยู่ในเขตเมืองใหม่ วิหารแดงก็จะเป็นเมืองหน้าด่าน รวมทั้งเป็นฐานการผลิตอาหาร และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญจากฝั่งถนนพหลโยธินไปยังฝั่งตะวันออก (เส้นทางสุวรรณศร หินกอง-หนองแค-จังหวัดสระแก้ว)

นายอำเภอวิหารแดงกล่าวอีกว่า ณ วันนี้การซื้อขายที่ดินยังเป็นปกติอยู่ และเป็นไปตามราคาประเมิน เช่น ในเขตเทศบาลไร่ละ 2 ล้านบาท ส่วนนอกเขตเทศบาลเลียบถนนสุวรรณศรไปถึงอำเภอบ้านนา ไร่ละ 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินตาบอดไร่ละ 6 หมื่นบาท

ด้านนายเผด็จ สุจเร นายอำเภอแก่งคอย เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบว่าพื้นที่ใดของอำเภอแก่งคอยจะอยู่ในเขตเมืองใหม่ แต่น่าจะเป็นพื้นที่ของตำบลชะอม ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอบ้านนา ซึ่งสภาพพื้นที่บริเวณนั้นบางส่วนเป็นเทือกเขาและพื้นที่การเกษตร ไม่มีมลพิษ ส่วนการซื้อขายที่ดินยังปกติ เป็นธรรมชาติที่จะมีการเก็งกำไรจากนักลงทุน แต่เชื่อว่านโยบายรัฐบาลจะสามารถสกัดกั้นการเก็งกำไรได้

[Top]

  มติชน, วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9393, หน้า 22  

   "นครนายก"สัมมนาผังเมืองรวม คนแห่ร่วมนึกว่าเรื่อง"เมืองใหม่"

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่โรงแรมสีดารีสอร์ท อ.เมืองนครนายก สำนักโยธิการและผังเมือง จ.นครนายก จัดให้มีการสัมมนาเพื่อจัดทำผังเมืองของ จ.นครนายก ปรากฏว่า มีประชาชนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสัมมนาเกือบ 400 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 180 คน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นการสัมมนาเกี่ยวกับโครงการเมืองใหม่ของรัฐบาล

นางแสงอรุณ วัฒนวงศ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.นครนายก เปิดเผยว่า จำเป็นต้องจัดทำผังเมืองเพราะมีพระราชกฤษฎีกาให้จัดทำ ประกอบกับแนวโน้มของรัฐบาลที่จะสร้างแหล่งรองรับการขยายตัว เพื่อระบายความแออัดของกรุงเทพฯ ดังนั้น ภาพรวมในการพัฒนาพื้นที่ จ.นครนายก ต้องคำนึงถึงความเจริญของจังหวัดในอนาคต

"ผังเมืองจะเป็นเครื่องมือให้จังหวัด ท้องถิ่น และประชาชนมองเห็นภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต รวมทั้งมาตรการต่างๆ ด้านผังเมืองที่จะทำให้ จ.นครนายก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย ดำรงรักษาแหล่งประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมประเพณี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี" นางแสงอรุณกล่าว

นายปรีชา เศรษฐโชดึก สมาชิกสภาเทศบาล(ส.ท.)ต.บ้านนา อ.บ้านนา จ.นครนายก กล่าวว่า คิดว่าเป็นการสัมมนาเรื่องเมืองใหม่ของรัฐบาล จึงต้องการมาทราบความชัดเจนว่า รัฐบาลจะใช้พื้นที่บริเวณใดของ อ.บ้านนา จะกระทบต่อชุมชนในเขตเทศบาลหรือไม่ เพราะประชาชนสับสนกับข่าวที่เกิดขึ้นอย่างมาก

[Top]

  ไทยรัฐ, 24-11-46  

 สกู๊ปหน้า 1 
เมืองใหม่? นครนายก เตานิวเคลียร์องครักษ์

รัฐบาลตัดสินใจเลือกอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นศูนย์กลาง ตั้งเมืองใหม่... ด้วยเหตุผลเป็น จังหวัด ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ปลอดมลพิษ... พื้นที่โดยรวมเป็น พื้นที่เกษตรกรรมและ การท่องเที่ยว ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม

ที่สำคัญ... ใช้เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่นาน

แต่...ไม่ควรลืม พื้นที่เมืองใหม่ 1.5 แสนตารางกิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงอำเภอองครักษ์ ตำบลทรายมูล ที่ตั้ง...ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ เนื้อที่ 316 ไร่

เมืองใหม่ ที่มีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ตั้งรวมอยู่ด้วย จะส่งผลกระทบสักกี่มากน้อย...

วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา พูดถึงศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ว่า มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในแง่ความปลอดภัย ความโปร่งใสของโครงการ...

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เดิมทีจะย้ายเตาเก่าที่บางเขนมาไว้ที่องครักษ์ แต่กลับต้องซื้อเตาใหม่มาติดตั้งที่ศูนย์นิวเคลียร์องครักษ์

วงศ์พันธ์ บอกว่า จุดนี้คือจุดเริ่มของปัญหางบประมาณ เงื่อนไขการติดตั้งระบบ โดยเฉพาะแบบเตายังไม่มีประเทศผู้ผลิตเตา หรือหน่วยงานนิวเคลียร์สากลรับรองความปลอดภัย จะมีก็แต่หน่วยงานไทยเท่านั้นที่รับรอง

“อย่าลืม...ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ ถึงจะเคยมีประสบการณ์จาก เตาตัวเก่า แต่เตาตัวใหม่ ขนาดใหม่...เรายังไม่มีประสบการณ์ ไม่ว่าเตาเล็กหรือใหญ่ก็อันตรายได้ทั้งนั้น”

ว่ากันว่า...ในคณะกรรมการตัดสินใจซื้อ...ไม่ซื้อเตาใหม่ มีเหตุผลไม่ตรงกัน...ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย จะซื้อเตาใหม่ แต่อีกฝ่ายก็เห็นว่า...ถ้าเงื่อนไขเตาใหม่ไม่เหมาะสม ไม่มีใครรับรองแน่ชัด...ไม่ต้องซื้อก็ได้

หรือแม้แต่บริษัทที่ประมูลสำเร็จ...ก็ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเตา หุ้นส่วนที่ว่าจะมาร่วม ก็ถอนตัวออกไปแล้ว... รวมถึงความไม่ชัดเจนในรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)

เวลานี้...พื้นที่อำเภอองครักษ์ ไม่ได้เป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชนเหมือนเก่าก่อน มีบ้านคน มีหมู่บ้านเต็มไปหมด รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้จังหวัดนครนายกเป็น แหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสะอาด

การที่มีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยที่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องความปลอดภัย แน่นอน...ย่อมมีผลกระทบ กับการเป็นเมืองท่องเที่ยว

“ยิ่งรัฐบาลยกฐานะให้นครนายกเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองยั่งยืน เมืองสะอาด ถ้ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ถึงจะมีขนาดเล็ก...แต่ก็มีปัญหาได้...ถ้าตัวเตาไม่ปลอดภัย”

เมืองท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี สแกนดิเนเวีย...ถึงจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ตั้งอยู่กลางใจเมือง แต่ก็มีการรับรองความปลอดภัยของเตาชัดเจน...มีระบบควบคุม ทำให้ประชาชนเชื่อถือ มั่นใจ

ขณะที่ประเทศไทย...ยังมีประชาชนบางส่วน บางกลุ่มไม่ไว้ วางใจ บางคนวิตกถึงขั้นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์...ระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้

กรณีรัฐบาลเลือกให้นครนายกเมืองใหม่...วงศ์พันธ์บอก ถ้าไม่มีความปลอดภัยที่ชัดเจน เมืองที่มีเตานิวเคลียร์ตั้งอยู่ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง

“จำเป็นต้องให้ประชาชนรับรู้...ตัวเตามีความปลอดภัยมากแค่ไหน”

ในทรรศนะของวุฒิสมาชิกวงศ์พันธ์ เมืองใหม่เป็นเรื่องดี...เห็นด้วย แต่ต้องย้ำชัดถึงความมั่นใจในความปลอดภัย...ถ้าไม่มีความปลอดภัย ถึงเมืองใหม่จะเกิด...ก็จะเกิดแบบไม่ยั่งยืน

ทุกวัน...คนที่นอนในเมืองใหม่จะต้องนอนสะดุ้ง แบบที่คนโบราณเปรียบว่า สะดุ้งจนเรือนไหว...เมื่อไหร่ที่เตานิวเคลียร์จะเกิดปัญหา ...สภาพจิตของประชาชนเมืองใหม่จะเป็นอย่างไร

“ในอนาคต ถ้ามีความปลอดภัยที่ชัดเจน จังหวัดนครนายกจะเป็นได้ทั้งเมืองใหม่ เมืองท่องเที่ยว และเมืองที่มีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ไปพร้อมๆกัน แต่วันนี้...ยังไม่มีคำยืนยันรับรองความปลอดภัยใดๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์การนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานไหนทั้งนั้น...” วงศ์พันธ์ ว่า

ที่สำคัญ...ไม่มีใครรู้หรือตอบได้ว่า หากนิวเคลียร์รั่วไปตามน้ำหรือแพร่กระจาย ปะปนไปกับสิ่งแวดล้อม จะเกิดอันตรายมากน้อย

ความวิตกกังวลถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ของ ส.ว.วงศ์พันธ์ คนไกล อาจแตกต่างจากความวิตกกังวลของคนในพื้นที่ ที่ใช้ชีวิตอยู่หน้าหลังรั้วศูนย์วิจัยนิวเคลียร์บ้าง

สุนันท์ ทวีมูล หรือ ป๊อก วัย 50 ปี บอกว่า ย้ายมาเช่าที่ด้านหลังศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ประมาณ 3 ปีแล้ว บ้านเดิมสุนันท์อยู่ที่บางใหญ่ หมู่ 8 ต.ทรายมูล อ.องครักษ์...เป็นชาวบ้านทรายมูลมาตั้งแต่เกิด

ช่วงแรกที่มีข่าว...จะมีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์มาตั้ง ก็โจษกันว่า ...ไม่มีผลกระทบอะไร เคยเห็นเจ้าหน้าที่เอารถมาดูดอากาศ เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก...เข้าใจว่าจะเก็บไปวิจัย

“เคยถามเจ้าหน้าที่นิวเคลียร์ที่มาจากบางเขน กรุงเทพฯ...เขาก็ว่าศูนย์วิจัยจะไม่มีผลกระทบ ถ้ามี...พวกเขาก็คงตายกันหมดแล้ว” สุนันท์ ว่า

สุนันท์ไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้น...นิวเคลียร์จะระเบิดตูมตาม สุนันท์

ยอมรับตามเหตุผลของเจ้าหน้าที่ ศูนย์แห่งนี้ไม่ได้ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ได้ผลิตโรงไฟฟ้า...ทำวิจัยเฉพาะอาหาร ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์มีตึกฉายรังสีเท่านั้น

แต่เมื่อดูตามกระแสข่าวในโทรทัศน์ วิทยุ ถ้าศูนย์นิวเคลียร์มีเตา... เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์...ก็กลัว กลัวว่าจะมีรังสีรั่วไหล จะมีผลต่อสุขภาพ

เทียบกับข่าวอันตรายที่เกิดกับคนเก็บของเก่า เก็บก้อน...โคบอลต์ 60 ไปทุบขาย สุนันท์ฐานะคนใกล้พื้นที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์...ก็กลัวตาย เพราะพิษภัยของนิวเคลียร์ เป็นอะไรที่มองไม่เห็น

“แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับตั้งแต่ศูนย์ นิวเคลียร์เริ่มก่อสร้างก็พูดยาก ยังไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้น คิดว่า...เขาคงทำกันอย่างรัดกุม”

สุนันท์เล่ารายละเอียดศูนย์ได้บ้าง บ้านสุนันท์อยู่หลังศูนย์ แต่เปิดร้านขายของอยู่หน้ารั้วศูนย์ จึงมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่บางเขน จนได้บทสรุปทางความคิดว่าเมื่อศูนย์วิจัยนิวเคลียร์มาตั้ง คนที่นี่จะดีขึ้น...

“เมื่อทางบางเขนจะย้ายมา คนงานจะมาสร้างที่พักอยู่กันที่นี่ องครักษ์จะเจริญขึ้น การคมนาคมจะสะดวกรวดเร็ว เพราะถนนหนทางดี วิถีชีวิตของพวกเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี...คนไม่มีงานทำก็จะมีงานทำ แม่ค้า...ก็หวังจะมีโอกาสได้ขายของ

กับกระแสข่าวล่าสุด....อำเภอองครักษ์ได้เป็นหนึ่งในพื้นที่เมืองใหม่ สุนันท์ยอมรับว่า...ยิ่งตื่นเต้น ในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ก็ยิ่งจะเจริญขึ้น

นครนายกไม่เจริญมา 20 ปี ละแวกนี้ยิ่งไม่เจริญเลย...กันดาร ถนนเป็นลูกรัง ไปตลาดต้องใช้เรือ...เวลานี้มีศูนย์วิจัย ถนนหนทางยังเจริญขนาดนี้ ถ้าได้เป็นเมืองใหม่...สุนันท์คิดว่า คงดีกว่านี้อีกมาก

“หากเมืองใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆกับศูนย์วิจัยนิวเคลียร์...ถ้านิวเคลียร์เกิดรั่วขึ้นมา ต้องยอมรับ...คนอยู่มากขึ้น...อันตรายก็ยิ่งมาก ส่วนตัวก็กลัวอันตราย แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่าจะมีอันตรายมากน้อยขนาดไหน มันพูดยาก...”.

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า