banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก - ข่าวหนังสือพิมพ์ 2545
nayok_news_date
พ.ศ. 2544, 2545, 2546, 2547
ว/ด/ปแหล่งข่าวหัวข่าว
01-02-45เทคโนโลยีชาวบ้าน "เครื่องขอดเกล็ดปลา ทำปลาร้าไฮเทค" จากหัวคิดประดิษฐ์ ของ ชอบ มีอาษา เกษตรกรเมืองนครนายก
07-03-45เดลินิวส์ ทิศทางเกษตร : มะยงชิด...ของดีเมืองนครนายก
15-05-45เทคโนโลยีชาวบ้าน ตาม ถเวีย คนมั่น ไปปลูกผักกระเฉดที่เมืองนครนายก
08-09-45เดลินิวส์ ตามดาราท่องไทย : อู-ภานุ ผจญภัยล่องแก่ง พิชิตขุนเขานครนายก

เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ปีที่ 14 ฉบับที่ 280, หน้า 20

ภูมิปัญญาไทย
"เครื่องขอดเกล็ดปลา ทำปลาร้าไฮเทค" จากหัวคิดประดิษฐ์ ของ ชอบ มีอาษา เกษตรกรเมืองนครนายก

อัจฉรา สุขสมบูรณ์

การทำปลาแต่ละตัวนั้นผู้ที่ทำคงทราบดีว่า ต้องเสียเวลาขณะขอดเกล็ดปลานานแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทำปลาจำนวนครั้งละมาก ๆ เพื่อนำมาหมักเป็นปลาร้าด้วยแล้วทำให้เสียทั้งเวลาเสียทั้งแรงงานไปพอสมควร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คิดค้นเครื่องมือช่วยขอดเกล็ดปลาหรือเครื่องทำปลาร้าไฮเทคขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระในเรื่องดังกล่าว

นายชอบ มีอาษา เกษตรกรบ้านเลขที่ 199 หมู่ 1 ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ผู้นำปลามาแปรรูปเป็นปลาร้าจำหน่ายและคิดประดิษฐ์เครื่องมือช่วยทำปลาร้า เล่าให้ฟังว่า ตนมีอาชีพทำปลาร้าส่งขายทั้งปลาร้าข้าวคั่ว ปลาร้าหมักรำ ปลาหมักเกลือ ซึ่งก่อนหน้านี้การทำปลาต้องใช้ไม้และสังกะสีตีกะเทาะเอาเกล็ดปลาออก พอทำมากขึ้นเริ่มรู้สึกเหนื่อย จึงเกิดแนวความคิดว่า ทำอย่างไร จะปั่นเอาเกล็ดปลาออกได้ไวขึ้น เคยสังเกตเห็นที่อื่นซึ่งใช้วิธีการทำปลาในบ่อปูน เลยคิดดัดแปลงจากวิธีนี้โดยนำเหล็กมาออกแบบเป็นถังเหล็กแทนบ่อปูนเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น แล้วปรึกษากับช่างตีเหล็กในท้องถิ่นเรื่องส่วนประกอบต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการทำงานของเครื่อง เช่น เมื่อปั่นเอาเกล็ดปลาออกแล้วสามารถยกเทลงภาชนะด้เลย ส่วนเกล็ดปลาให้ลอดตะแกรงลงข้างล่างได้ เป็นต้น

ด้านวัสดุการทำเครื่องมือชนิดนี้ ประกอบด้วย ตัวถังเหล็กขนาดกว้าง 50 ซ.ม. ความยาวหรือความสูง 1.20 เมตร เหล็กแกนกลางสำหรับตีเกล็ดปลาโดยอ๊อกเหล็กให้เป็นซี่เล็ก ๆ มูเล่ ไดมอเตอร์ และตะแกรงรองเกล็ดปลา ซึ่งขนาดของเครื่องสามารถบรรจุปลาได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม ใช้ต้นทุนการผลิตทั้งค่าไดมอเตอร์ ค่าเหล็ก และค่าแรง รวมประมาณ 9,000 บาท ซึ่งเป็นราคาของเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากได้คิดประดิษฐ์เครื่องนี้สำเร็จใน ปี 2539 ปัจจุบันราคาของเครื่องอาจขยับตัวสูงขึ้นบ้าง หากมีผู้สนใจจะทดลองนำไปปฏิบัติ

สำหรับขั้นตอนการใช้เครื่องทำปลาร้าไฮเทคไม่ยุ่งยาก เพียงนำปลามาปั่นตีเกล็ดออก ใช้เวลาประมาณ 3 นาที เกล็ดก็จะออกหมดทำให้ได้เนื้อปลาที่นุ่มขึ้น เอาไส้ปลาและขี้ปลาออก ส่วนใหญ่ปลาที่ใช้ ได้แก่ ปลากระดี่ ปลาช่อน จากนั้นนำปลาที่ทำเรียบร้อยแล้วมาหมักเกลือ ใช้อัตราส่วนในการทำปลาร้า คือ ปลา 5 กิโลกรัม : เกลือ 1.5 กะละมัง : รำ 3 กะละมัง (เล็ก) คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำลงโอ่งหาพลาสติกคลุมมัดปากโอ่งให้แน่น หมักทิ้งไว้นานราว ๆ 5-6 เดือน ก็สามารถเอาออกจำหน่ายได้

การจำหน่ายในท้องตลาดราคาปลาร้าปลากระดี่ตัดหัวกิโลกรัมละ 35 บาท ปลาช่อน กิโลกรัมละ 80 บาท ปลาอื่น ๆ รวมกิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งจะนำเข้าไปขายในตลาดตัวเมืองนครนายกบ้าง ตลาดนัดต่าง ๆ แถวหน้าโรงเรียน จปร.บ้าง จังหวัดปราจีนบุรีก็เคยนำไปเร่ขาย บางครั้งอาศัยสอบถามจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอว่ามีตลาดที่ไหนบ้าง และขายส่งตามร้านค้าเป็นปี๊บ ปี๊บละ 20 กิโลกรัม ก็เคย นายชอบบอกว่า เมื่อปีที่แล้วทำปลาร้าใส่โอ่งไว้ 55 ใบ ขณะนี้เหลือปลาร้าอยู่ในโอ่งเพียง 6-7 ใบ คาดว่า ปีนี้จะไม่พอขาย จึงเตรียมที่จะทำเพิ่มขึ้นอีก นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายปลาร้าแล้ว เกษตรกรรายนี้ยังใช้เครื่องมือดังกล่าวรับจ้างขอดเกล็ดหรือตีเกล็ดปลาในหมู่บ้านอีกด้วย โดยคิดราคากิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งปีที่แล้วมีผู้มาจ้างคิดเป็นเงินออกมาประมาณ 2,000 ถึง 3,000 บาท

"ข้อดีของเครื่องมือนี้คือ กินไฟน้อย สามารถปั่นเอาเกล็ดปลาออกได้ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ ทำให้ประหยัดเวลา ทุ่นค่าใช้จ่ายไปเยอะ เดิมทีผมจ้างคนมาทำปลา 100 กิโลกรัม ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง วันหนึ่งทำปลาได้เพียง 200 กิโลกรัม แต่เดี๋ยวนี้พอใช้เครื่อง 50 กิโลกรัม ปั่น 3 นาที ก็เสร็จ แล้วเทออก หากทำปลา 1 ตัน ใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็เสร็จแล้ว คุ้มค่าและเบาแรงทีเดียว เคยมีคนจากตำบลอื่นสนใจมาดูเป็นแบบอย่างแล้วถ่ายรูปไปเหมือนกัน บางคนก็จะให้ช่วยออกแบบให้ทำให้ด้วย แต่ผมยังไม่กล้าลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าจะทำขายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเครื่องนี้ทำง่ายใครมาดูเป็นต้นแบบก็ทำได้ โครงสร้างน้อย สามารถย่อส่วนให้เล็กลงได้" นายชอบ กล่าว

ปัจจุบัน นายชอบ มีอาษา สามารถผลิตเครื่องมือดังกล่าวจำหน่ายได้แล้วถึง 3 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 6,200 บาท และยังมีเกษตรกรจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางมาดูเครื่องต้นแบบชุดนี้แล้วหลายราย หากสนใจเครื่องมือขอดเกล็ดปลาหรือเครื่องทำปลาร้าไฮเทคที่เกิดจากแนวคิดประดิษฐ์ของเกษตรกรรายนี้ สามารถติดต่อได้กับเจ้าตัวโดยตรง โทร. 0-9833-4291 หรือติดต่อผ่านไปที่ นายชัชวาลย์ วรรณธรรม เกษตรอำเภอปากพลี สำนักงานเกษตรอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก โทร. 0-3731-1289 หรือสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2940-6190 งานนี้เจ้าของบอกไม่สงวนสิทธิ์แต่อย่างใด

[Top]

เดลินิวส์, 7 มี.ค. 45

ทิศทางเกษตร : มะยงชิด...ของดีเมืองนครนายก

นครนายก เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผลไม้พันธุ์ดีหลากหลายชนิด และมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะ มะปรางหวาน และมะยงชิด เป็นไม้ผลที่สามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้ง ผลผลิตมีรสชาติดี และมีคุณค่าทางอาหารสูง ผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ราคาอยู่ที่คุณภาพ ขนาด 10-12 ผล ตกกิโลกรัมละประมาณ 200-300 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ราคาตั้งแต่ 100-10,000 บาท นับว่าเป็นไม้ผลที่มีกิ่งพันธุ์ค่อนข้างมีราคาแพง

คุณวิเชียร ตั้นเจริญ เจ้าของสวนสาริกาการเกษตร ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เล่าให้ฟังว่า ตระกูลมะปราง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ มะปรางเปรี้ยว มะปรางหวาน และมะยงชิด ที่สวนแห่งนี้ปลูก มะยงชิดพันธุ์ชิดสาริกา เพราะให้ผลใหญ่ รสหวาน การปลูกไม่ยุ่งยากอะไร คุณวิเชียร บอกว่า ควรขุดหลุมให้กว้างประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร นำดินที่ขุดขึ้นมาผสมกับปุ๋ยคอกประมาณ 1 ปี๊บ จากนั้นนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกได้เลย ในช่วงแรกควรหมั่นรดน้ำ แต่อย่าให้น้ำขัง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย รวมทั้งไม่ควรใส่ปุ๋ยจำพวกขี้เป็ดขี้ไก่หรือขี้หมู เพราะจะทำให้ดินเค็มจัด ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน

หลังจากปลูกได้ประมาณ 4 เดือน ควรใส่ปุ๋ยขี้วัวหรือขี้ค้างคาว จากนั้นใส่ปุ๋ยทางใบ 1-2 เดือน/ครั้ง และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งแล้วใส่ปุ๋ยขี้วัวหรือขี้ค้างคาวอีกครั้ง ให้ห่างโคนต้นพอสมควร เมื่อต้นแตกยอดอ่อนให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 หรือ 19-19-19 เพื่อบำรุงต้นให้แข็งแรง และควรให้อาหารเสริมทางใบ ด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยแคลเซียมโบรอน และสาหร่ายสกัด เพื่อให้มะปรางสะสมอาหารเตรียมออกตาดอกต่อไป การบำรุงรักษาในหน้าแล้ง ระยะปลูก 3 เดือนแรก ควรรดน้ำ 3 วัน/ครั้ง ระยะ 6 เดือน ควรรดน้ำ 3-5 วัน/ครั้ง แต่ถ้าระยะ 1 ปีขึ้นไป ควรรดน้ำ 5-7 วัน/ครั้ง

ถ้าต้องการให้ลำต้นแข็งแรงควรเสริมราก จะทำให้ต้นเจริญเติบโตไวขึ้น คุณวิเชียรบอกว่าที่สวนได้ทำการเสริมราก 3-6 ราก นอกจากนี้ยังกางมุ้งให้อีกด้วย เพื่อกันแมลงและเพื่อให้ปลอดจากสารพิษ ส่วน วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างมะปรางหวานกับมะยงชิด คือ มะปรางหวาน จะมีรสหวานทั้งผลดิบและสุก ขนาดความหวานจะ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแลรักษา สีของผลค่อนข้างเหลือง ส่วนมะยงชิด มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ถ้ารสหวานมากกว่าเปรี้ยวเรียกว่า มะยงชิด หากเปรี้ยวมากกว่าหวานจะเรียก มะยงห่าง สีของผิวมะยงชิดเป็นสีเหลืองส้ม อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าสวนสาริกาการเกษตรแห่งนี้ เป็นสวนที่ปลูกมะยงชิดที่ปลอดสารพิษ ทำให้มีผู้มาเยือนเพื่อศึกษาวิธีการปลูกไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว.

[Top]

เทคโนโลยีชาวบ้าน, วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ปีที่ 14 ฉบับที่ 287, หน้า 88

มิตซูบิชิลุยสวน
ตาม ถเวีย คนมั่น ไปปลูกผักกระเฉดที่เมืองนครนายก

ธนสิทธิ์

มิตซูบิชิ สตราดา พาหนะคู่ใจในการเดินทาง ที่ลุยไปทุกทิศเพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมการประกอบอาชีพของเกษตรกร ในคราวนี้ เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ จังหวัดนครนายก เพราะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกว่า มีเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพการปลูกผักกระเฉดจำหน่าย

1 ชั่วโมง กับการเดินทางที่อบอุ่นในรถมิตซูบิชิ สตราดรา เราก็ถึงเขตจังหวัดนครนายก และมุ่งตรงไปยังบ้านเลขที่ 86/1 ม. 8 ตำบลศรีจุฬา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร. 0-1301-8613 ของ นายถเวีย คนมั่น โดยมี คุณสุนี คำประกอบ จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครนายก นำพาไปเยี่ยมชม

ผู้ที่หันหลังให้กับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาสู่ความเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักกระเฉด

1 ปี กับการประกอบอาชีพนี้ ปรากฏว่า สามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จึงทำให้เขามุ่งมั่นเต็มที่ พร้อมกันนี้ยังพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักกระเฉดแก่ผู้สนใจด้วย

ทำนา 100 ไร่ สู้ไม่ได้

"เรียกว่า ทำนา 100 ไร่ รายได้ยังไม่ดีเท่าปลูกผักกระเฉดในพื้นที่ 20 ไร่"

จุดเริ่มต้นในการเข้ามาสู่อาชีพ เริ่มจากการไปเห็นการซื้อขายผักกระเฉดในตลาด จึงทำให้จุดประกายขึ้นมา

พื้นที่ 20 ไร่ ที่เดิมเคยเป็นผืนนาถูกปรับเปลี่ยน เมื่อเขาได้ไปเก็บเกี่ยวข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักกระเฉดมาจากเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ที่ประกอบอาชีพนี้

"ผมสนใจในโครงการของในหลวง ท่านจะนำโครงการไปช่วยเหลือชาวบ้านในทุกพื้นที่ ไม่ว่ายากลำบากแค่ไหนท่านก็ไปช่วย ผมมาคิดดูแล้ว เราทำไม ไม่พึ่งตัวเองบ้าง เอาในหลวงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว หลังจากที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนี้ว่าให้ผลตอบแทนดี ตลาดมีความต้องการจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการปลูก เพราะเรามาจากช่างรับเหมา ไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงต้องทุ่มเทศึกษาอย่างเต็มที่ รวมไปถึงเรื่องของตลาดด้วย ผมจะเดินตลาดหมด ดูว่าพ่อค้าแม่ค้าผักกระเฉดเขาต้องการอย่างไร จนเดี๋ยวนี้รู้จักกันหมดแล้ว"

"เรื่องตลาดตอนนี้ผมไม่ห่วงเลย วันหนึ่ง 1,000 กำ ที่ผมต้องมีไว้ทุกวัน" ถเวีย กล่าว

สำหรับการปลูกผักกระเฉดนั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง อันดับแรกได้แก่ พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ดินเหนียวที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี อุณหภูมิ เนื่องจากผักกระเฉดเป็นผักในเขตร้อนชื้น จึงชอบอุณหภูมิอยู่ระหว่างช่วง 25 -30 องศาเซลเซียส และสุดท้ายในเรื่องของแสง การปลูกผักกระเฉดต้องปลูกกลางแจ้ง การที่ผักกระเฉดได้แสงเต็มที่ตลอดทั้งวันจะช่วยส่งผลให้การเจริญเติบโตดีมาก

เน้นปลอดสารเคมี ใช้ธรรมชาติควบคุม

ในการปลูกผักกระเฉด ถเวีย บอกว่า เขาให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการจัดการดูแล ที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบ มีการตรวจตราผักกระเฉดที่ปลูกอยู่ตลอดเวลา และหมั่นศึกษาหาข้อมูลถึงวิธีการที่จะทำให้ผักกระเฉดเจริญเติบโตได้ดี

"ในบ่อผมจะมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ผมปลูกเพื่อทดลองว่าวิธีการใดที่สามารถทำให้ผักกระเฉดของผมเจริญเติบโตงอกงาม ความรู้ต่าง ๆ นั้น ผมก็ได้มาจากการไปพูดไปคุยกับคนปลูก ว่าแต่ละพื้นที่มีวิธีการทำกันอย่างไร อะไรดี เราก็เก็บมาปรับปรุงในแปลงปลูกของเรา"

พร้อมกันนี้การปลูกผักกระเฉดของที่นี่ได้เน้นมากในเรื่องของการปลอดการใช้สารเคมี ด้วยเจ้าของเป็นห่วงสุขภาพของผู้บริโภค การปลูกผักกระเฉดแบบปลอดสารพิษจึงเป็นแนวทางเขาเลือกปฏิบัติอยู่ในเวลานี้

"ผมไม่ใช้สารเคมี หลายคนบอกผักกระเฉดมีแมลงที่เข้าทำลายมาก ต้องฉีดพ่นยา แต่ผมไม่ต้อง เพราะผมใช้วิธีการตรวจก่อน หากพบว่ามีปริมาณที่ส่อว่าจะสร้างปัญหาให้กับผักกระเฉดที่ปลูก จะใช้วิธีสุ่มไฟที่บริเวณต้นลม ทำให้เกิดควันมาก ๆ เพื่อให้มารมควันในจุดที่พบการระบาดของแมลง เท่านี้ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้"

นอกจากวิธีการสุมควันไล่แมลงแล้ว เจ้าของแปลงผักกระเฉดแห่งนี้ยังใช้วิธีการให้ธรรมชาติควบคุม หากเข้าเยี่ยมในแปลงปลูกจะพบว่า มีเสาไฟไม้ปักเป็นหลักไว้อย่างมากมาย เสาไม้เหล่านี้ใช้ประโยชน์เพื่อให้นกนางแอ่นที่มีอยู่มากมายในบริเวณพื้นที่นี้มาเกาะ

"นกนางแอ่น สร้างประโยชน์ให้ผมคือ จะกินแมลงเข้ามาระบาดในแปลง มีแมลงมากเท่าไหร่ก็หมด โดยมากแล้วนกจะเข้ามาหากินในช่วงตอนเช้า" ถเวีย กล่าวและว่า หากจะใช้วิธีการนี้จุดสำคัญคือต้องมีหลักไว้ให้นกเกาะ ไม่เช่นนั้นนกจะมาหากินในบริเวณนี้

ปลูกด้วยพันธุ์ไทยลูกผสม

เขาเล่าให้ฟังถึงการปลูกผักกระเฉดว่า หลังจากที่ทำคันบ่อเป็นสี่เหลี่ยมเรียบร้อยแล้ว ได้ใช้รถไถนาเล็กลง เพื่อทำเลนให้มีความหนา ประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อทำเลนพร้อมแล้ว จะนำต้นพันธุ์ผักกระเฉดมาลงปลูก โดยการปลูกนั้นจะใช้วิธีการดำ วางรูปแบบของกอผักกระเฉดให้เป็นวงกลม

โดยปกติที่เขาปลูกจะใช้ต้นพันธุ์ผักกระเฉด ประมาณ 15 ยอด ต่อกอ สำหรับท่อนพันธุ์ที่นำมาใช้จะเน้นเฉพาะส่วนของโคนมาถึงบริเวณกลาง ๆ ของลำต้นเท่านั้น ในส่วนของยอดเขาจะไม่นำมาเป็นท่อนพันธุ์สำหรับปลูก โดยมีรัศมีห่างกันประมาณ 6 ศอก ต่อกอ การปลูกผักกระเฉดมีข้อแนะนำว่า ควรทำให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว

"ข้อดีในการที่เราปลูกทีเดียวให้เสร็จ คือ ทำให้รากติดดินได้เร็ว และจะเจริญเติบโตพร้อมกัน เมื่อเก็บเกี่ยวจะสามารถเก็บพร้อมกันได้ทั้งหมดทีเดียว"

โดยหลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดออกจำหน่ายได้

เมื่อถามถึงสายพันธุ์ของผักกระเฉดที่นำมาปลูก ถเวีย บอกว่า

"เท่าที่ศึกษาผมพบว่า ผักกระเฉด มีอยู่ด้วย 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไทยลูกผสม พันธุ์นี้ใบจะมีตั้งแต่ 4-5 และ 6 ใบ เป็นพันธุ์ที่ผมปลูกเพราะมีใบสวยนวล ช่วงของลำต้นยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ผลผลิตดี ขณะที่พันธุ์ที่สองคือ พันธุ์ไทยธรรมดา เป็นพันธุ์โตช้า ข้อสั้น ใบเล็ก ปลูกเพื่อการค้าไม่ได้ผลดี และสุดท้ายพันธุ์ใบใหญ่ พันธุ์นี้ให้รสชาติไม่อร่อย จึงไม่น่าปลูก"

หลังจากปลูกแล้วและปล่อยให้อยู่ในลักษณะแห้งไม่มีน้ำนานประมาณ 15 วัน จะเริ่มนำน้ำเข้า โดยเข้าทีละประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตามความยาวของลำต้นผักกระเฉดที่ขึ้นมา โดยระดับน้ำที่ปล่อยเข้าสูงสุดต้องไม่เกิน 80 เซนติเมตร

น้ำที่นำมาใช้ในการปลูกผักกระเฉด เขาเน้นว่า ต้องเป็นน้ำที่จืดสนิท เนื่องจากในเขตพื้นที่บ้านศรีจุฬานั้นจะมีปัญหาน้ำเค็มเข้ามาตามคลองชลประทาน ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจน้ำกันอย่างดี เพราะหากสูบน้ำเค็มเข้ามาในบ่อแล้วผักกระเฉดจะชะงักและไม่เจริญเติบโต

"บางทีผมใช้วิธีการตรวจน้ำ โดยการอมน้ำว่าเป็นน้ำจืดสนิทหรือไม่"

ในบ่อใช้แหนไข่ปลา

"ที่สำคัญในการปลูกผักกระเฉดคือ แหน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำมาใส่ เพราะหากปลูกแล้วไม่มีแหน ผักกระเฉดที่ออกมาจะดำไม่สวย แหนจะไปช่วยฟอกทำให้นมผักกระเฉดขาว แหนที่ผมใช้จะเน้นแหนที่เรียกว่า แหนไข่ปลา ซึ่งเป็นแหนที่มีขนาดเล็ก ละเอียด โดยไม่เอาแหนใบใหญ่มาลง เพราะจะไปหนุนยอดและใบผักกระเฉด โดยบ่อหนึ่งจะนำแหนมาใส่ ประมาณ 10 กระสอบ"

เขาบอกอีกว่า ในการเลี้ยงแหนนั้น สิ่งที่เน้นมากคือ แหนต้องกระจายอยู่ทั่วทั้งบ่อ ไม่มากระจุกตัวอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง เขาจึงสร้างคันบ่อให้สูงเพื่อป้องกันเรื่องลมพัดแหน และวางโครงการต่อไปว่าจะปลูกกล้วยน้ำว้ารอบคันบ่อเพื่อเป็นกำบังลม

"แหนยิ่งอยู่ในที่อับลมยิ่งดี แต่หากยังไม่สามารถป้องกันลมได้เต็มที่อย่างช่วงนี้ผมใช้วิธีกั้นในบ่อด้วยตาข่ายเขียว เพื่อป้องกันไม่ให้แหนลอยไปตามแรงลม"

นอกจากนี้ ถเวีย กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ถ้าในช่วงอากาศเย็น ๆ แหนจะสามารถขยายปริมาณได้มากและรวดเร็ว ขณะที่หน้าร้อนการขยายตัวจะช้า สำหรับในช่วงที่มีแหนในบ่อมากเกินไป เขาจะใช้วิธีการตักแหนขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงปลา ในราคากระสอบละ 10 บาท

การปลูกผักกระเฉดของถเวีย หลังจากที่ตั้งกอดีแล้ว จะควบคุมดูแลทรงพุ่มให้เป็นวงกลมอยู่เสมอ ไม่ยอมให้ยอดของผักกระเฉดมาชนกัน เพราะจะทำให้ยอดไม่งาม

ในการดูแลเรื่องของปุ๋ย จะมีทั้งการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 20-20-20 ปูนมาร์ลและปุ๋ยคอกจากขี้วัว

ถเวีย กล่าวต่อไปว่า การเก็บผักกระเฉด จะเริ่มกันตั้งแต่ 2 โมงเช้า และไปเสร็จสิ้น ประมาณ 10 โมงเช้า โดยการลงไปเก็บผักนั้น ผู้เก็บจะมีโฟมสำหรับลอยน้ำเพื่อวางผักกระเฉด สำหรับความยาวของยอดที่เก็บ ขึ้นอยู่กับว่า จะส่งให้ผู้ค้าในตลาดระดับไหน โดยความยาวที่เก็บมีตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ไปจนถึงประมาณ 1 เมตร เมื่อเก็บขึ้นมาแล้วจะนำมามัดเป็นกำ แล้วจึงนำไปล้างน้ำให้แหนออกให้สะอาด จากนั้นจึงนำมาแต่งหน้าอีกครั้งก่อนนำไปเข้าฟ่อน แล้วรอให้พ่อค้ามารับ

"การเก็บผักกระเฉด ที่ผมปฏิบัติอยู่จะเน้นการเก็บแขนงที่ออกมา ไม่เก็บในส่วนยอด โดยผักกระเฉดลำต้นหนึ่งจะมีแขนงประมาณ 15 อัน ให้สามารถเก็บได้"

การที่จะสามารถเก็บได้ทุกวันอย่างต่อเนื่องนั้น ในแต่ละลำแขนงต้องมียอดเหลือไว้ประมาณ 3 ยอด เพื่อให้สามารถเก็บได้ในวันต่อไป

"ของผมจะแบ่งออกเป็นล็อก ๆ เพื่อให้หมุนเวียนเก็บได้ทุกวัน ของผมกอหนึ่งจะเก็บได้ประมาณ 4 กำ หรือ 60 ยอด"

สำหรับการจำหน่ายของที่นี่ ผักกระเฉด 1 กำ จะมี 15 ยอด ในขณะที่ปกติจะกำขายกันที่ 12 ยอด โดยราคาจำหน่ายสู่พ่อค้านั้นอยู่ที่กำละ 4 บาท

"นอกจากเจ้าใหญ่ ๆ ที่มารับแล้ว ของผมยังมีรายย่อย ที่เราไปช่วยให้เขามีรายได้ ส่วนมากเป็นคนค่อนข้างยากจน เราจึงช่วยให้เขามีรายได้ โดยคนที่มารับไปขายแบบรายย่อยนี้ จะมารับจากผมที่กำละ 4 บาท และไปขาย กำละ 5 บาท หรือบางคนก็ไปขาย 3 กำ 20 บาท แล้วแต่ เพราะนั่นคือการสร้างรายได้ของเขา" ถเวีย กล่าว

สำหรับในส่วนของโคนที่ตัดออกเพื่อตกแต่งให้สวยงาม ถเวีย บอกว่า เขาไม่ได้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่จะนำมาใช้เป็นอาหารของปลาที่เลี้ยงไว้ อย่างเช่น ปลานิล ปลาดุก

พร้อมกันนี้เขายังได้แนะนำอีกว่า สำหรับการปลูกผักกระเฉด หากต้องการหารายได้เสริมด้วยการเลี้ยงปลาด้วยก็ได้ โดยปลาที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาเลี้ยงคือ ปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่กินยอดและใบผักกระเฉด

ผักกระเฉด ของ ถเวีย คนมั่น จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนสู้ชีวิต ที่ได้ไปลุยสวนของเขามาในครั้งนี้

[Top]

เดลินิวส์, 8 ก.ย. 45

ตามดาราท่องไทย : อู-ภานุ ผจญภัยล่องแก่ง พิชิตขุนเขานครนายก
โอ๋

หนัง "สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์" เพิ่งจะลงโรงฉายได้ไม่นาน นายอู-ภานุ สุวรรณโณ พระเอกของเรื่อง ก็ขอเกี่ยวแขนจูงมือนางเอกสาวนัยน์ตาดุอย่าง น้องปราง-ปรางทอง ชั่งธรรม ไปทำกิจกรรมสนุก ๆ คราวนี้เราไปกันที่ จ.นครนายก เมืองแห่งขุนเขาใกล้กรุงนี่เอง โดยอาทิตย์นี้นายอูขออาสานำเที่ยวก่อนเป็นคนแรก

ที่นครนายกนี้นักท่องเที่ยวมักจะพลาดไม่ได้กับการมาล่องแก่ง ซึ่งมีให้ล่องกันทั้งแบบ แพยาง ล่องคยัก พายแคนู โดยระดับความยากของแก่งนั้นจัดอยู่ในระดับ 2-3 เรียกว่าไม่น่ากลัว แต่สนุกและปลอดภัย นายอูที่ชื่นชอบการผจญภัยอยู่แล้วก็เลยขอทดสอบความมันส์กันซะหน่อย ซึ่งนายอูขอเลือกล่องแพยาง โดยกรุ๊ปทัวร์ของพวกเราอแพยางและนำทัวร์กิจกรรมหลาย ๆ อย่างในทริปนี้ อ้อ...ลืมบอกไป ร้านพี่หมูเขาอยู่เส้นไปวังตะไคร้ พอขับรถมาถึงแยกทางไปน้ำตกสาริกา ก็เลี้ยวขวาไปนิดนึงก็ถึงแล้ว ถ้าไปไม่ถูกก็โทรฯถามที่เบอร์ 0-3732-8432 ก็ได้

รถปิกอัพบรรทุกเรือยางพร้อมทั้งนักท่องเที่ยวหน้าตาจิ้มลิ้มอย่างพวกเรา มาที่จุดเริ่มต้นของการล่องแก่งบริเวณเหนือเขื่อนคลองท่าด่าน ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำนครนายกด้วย ก่อนลงเรือเราก็ต้องเตรียมความพร้อมในการใส่ชูชีพให้เรียบร้อย ซึ่งพอลงเรือแล้วก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่าง เคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการล่องก็จะมีช่วงให้หวาดเสียว ส่งเสียงกรี๊ดได้เป็นระยะ โอ้โห !!! ชีวิตมีรสชาติขึ้นมาเยอะเลย บางช่วงคนในเรือก็ต้อง พายจ้ำพรวดกันเป็นการใหญ่ เพราะเจอกระแสน้ำที่เชี่ยว ซึ่งต้องยกนิ้วให้นายอูเป็นมือพายที่แรงดีไม่มีตกเลยทีเดียว ซึ่งระยะทางที่ล่องนั้น มีความยาวถึง 7 กม. ปกติจะใช้เวลาล่องประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าน้ำมากก็จะใช้เวลาไม่นาน ก็ถึงที่หมายบริเวณวังกุดตภา บริเวณนี้สามารถเล่นน้ำได้ด้วย นายอูและเพื่อน ๆ เลยขอแช่น้ำเล่นกัน ให้หนำใจ

มาล่องแก่งอย่างเดียว ยังไม่ได้รสชาติความมันส์แบบครบเครื่อง นายอูเลยขอทดสอบความกล้าไปไต่เขาสูงที่เขาหล่น แต่กว่าจะไปถึงเขาหล่นก็ปั่นจักรยานกันซะเหงื่อตก สนุกไปอีกแบบ นายอูเลือกที่จะใช้วิธีการไต่ขึ้น จากนั้นก็ลงมาโดยวิธีการโรยตัว โดยมีพี่ ๆ ทีมงานจาก เอาท์ดอร์ ช็อพ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เลยปลอดภัยไร้กังวล ใครที่อยากจะไปผจญภัยสนุก ๆ แบบนายอูแล้ว ล่ะก็เชิญได้เลย เพราะนายอูเขาการันตีว่า "สนุก มากเลยครับ ที่นี่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก ขับรถแป๊บเดียวก็ถึง มีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง อากาศที่นี่ก็เย็นสบาย และอูก็ชอบที่พักมากคือที่ "ภูมินทร์รีสอร์ท" ที่คุณอุมาภรณ์ ภูมินทร์ เอื้อเฟื้อให้พวกเรามาพัก บรรยากาศดีมาก ๆ ด้านหลังติดคลองด้วย มาแล้วหายเครียดจากงานไปได้เยอะเลยครับ"..... เรื่องที่พักนี้เห็นด้วย สวยจริง ๆ ขอบอก ใครสนใจก็โทรฯจองได้ที่ 0-1804-2793 แหม... เห็นจะจริงอย่างที่นายอูเขาว่า มาหายเหนื่อยจริง ๆ ส่วนอาทิตย์หน้าสาวปรางจะพาไปทำกิจกรรมอะไรนั้น ต้องติดตามพลาดไม่ได้ค่ะ.

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า