banner Histdept

Vmenu

ประวัติศาสตร์นครนายก
ลำดับเหตุการณ์ในอดีตเกี่ยวกับจังหวัดนครนายก
สมัยรัตนโกสินทร์ - ยุคปรุงปรุงประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก (2394 - 2475)

2397- มีการพิมพ์บันทึกภาษาฝรั่งเศสของสังฆนายกปาเลกัวซ์ ( Mgr. Pallegoix) Description du Royaume Thai ou Siam ที่กรุงปารีส หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงนครนายกไว้ด้วย (สันต์ ท. โกมลบุตร แปลเป็นไทยและให้ชื่อเรื่องว่า "เล่าเรื่องกรุงสยาม")

2398- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2394 - 2411) ทรงทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์กับอังกฤษ หรือที่เรียกว่า "สนธิสัญญาบาวริง" (Bowring Treaty) ผลของสัญญาทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

2406- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นแม่กองตรวจโพน เสด็จฯ ไปคล้องช้างเผือกที่นครนายก

2415- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411 - 2453) โปรดเกล้าฯ ให้ต้อนช้างโขลงหลวง ซึ่งพบว่ามีช้างเผือกรวมอยู่ด้วย ไปคล้องหน้าพระที่นั่งที่เพนียดอยุธยา

2428- เปิดที่ทำการการไปรษณีย์โทรเลข เมืองนครนายก

2431- มีการตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม หรือกอมปนีขุดคลองแลคูนาสยาม (Siam Lands, Canal and Irrigation Company) เพื่อขอสัมปทานขุดคลองในทุ่งหลวงหรือทุ่งรังสิต เพื่อขยายเนื้อที่นา บริษัทฯ ได้รับสัมปทานในปีเดียวกันนั้น

2433-5- บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามดำเนินการโครงการรังสิต ทำให้มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำนครนายก และมีการขุดคลองซอยต่างๆ

2435- มีการปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง จัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวง

2436- ตั้ง อ.บุ่งไร่ มีที่ทำการที่บ้านบุ่งไร่ ปัจจุบันอยู่ใน ต.ศรีนาวา อ.เมือง นครนายก (ปี 2446 เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หนองโพธิ์ )
- เข้าใจว่า นครนายกในระยะนี้ประกอบไปด้วย อ.บุ่งไร่ อ.ท่าช้าง (ที่ว่าการอยู่บ้านท่าช้าง ฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายก ที่ตำบลบางอ้อ ซึ่งเป็นบริวเณที่คลองบ้านนาไหลบรรจบกับแม่น้ำนครนายก เป็นตลาดซื้อขายสินค้าจากกรุงเทพฯ ที่ขนส่งมาทางคลองเสาวภาผ่องศรี พ.ศ. 2446 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอท่าช้างไปที่บ้านดอนยางหรือดงยาง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านนา) และ อ.วังกระโจม (ที่ว่าการอำเภออยู่ระหว่างวัดอินทรารามและวัดส้มป่อย ฝั่งซ้ายแม่น้ำนครนายก – 2439 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปฝั่งขวาแม่น้ำนครนายก และปี 2481 เปลี่ยนชื่อเป็น อ. เมืองนครนายก)

2437- เริ่มการปกครองที่เรียกว่า "การเทศาภิบาล" อย่างเป็นทางการ
- ตั้งมณฑลปราจีน ประกอบด้วย 4 เมือง คือ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และพนมสารคาม ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมือง ปราจีนบุรี

2439- ย้ายที่ว่าการอำเภอวังกระโจม จากฝั่งซ้ายแม่น้ำนครนายกไปอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่าทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายก ห่างจากที่เดิมประมาณ 200 เมตร

2440- สร้างวัดหนองคันจาม ต. บ้านพริก อ.บ้านนา ทุ่งหลังวัดเคยเป็นที่ชุมนุมของโขลงช้าง และเคยมีพิธีที่คล้องช้างที่นี่ด้วย
- มีการออกข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. 116 เป็นการยกเลิกการปกครองหัวเมืองในระบบ กินเมือง

2442- มีวัดคริสต์ที่บ้านเล่า ต.ท่าทราย (วัดพระยาสามองค์ - ปัจจุบันคือวัดคริสตประจักษ์)

2445-47- แต่งตั้งผู้ว่าราชการเมือง (จังหวัด) นครนายก คนแรก (ภายหลังการยกเลิกระบบกินเมือง) คือพระยาพิบูลย์สงคราม (จอน)

2445- ชาวบ้านบริจาคเงินสร้างโรงเรียนอุดมพิทยาคาร ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดอุดมธานี อ.วังกระโจม
- สร้างศาลากลางจังหวัดหลังแรก ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพฯ (ปี 2520 ศาลากลางจังหวัดย้ายไปที่ตั้งปัจจุบัน)

2446- เปลี่ยนชื่อ อ.บุ่งไร่ เป็น อ.หนองโพธิ์ (ปี 2448 เปลี่ยนเป็น อ. เขาใหญ่ ปี 2460 เปลี่ยนชื่อเป็น อ. ปากพลี)
- 1 สิงหาคม, ย้ายที่ว่าการอำเภอท่าช้างไปบ้านดอนยางหรือดงยาง และเปลี่ยนชื่อ อ.ท่าช้าง เป็น อ.บ้านนา ในสมัยที่ นายจิตรเป็นนายอำเภอคนแรก สันนิษฐานว่าชื่อ อ.บ้านนา มาจากชื่อบ้านนาเริ่ง ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดาร (เพี้ยนเป็นบ้านนากะเริ่ง หรือหนองอีเริ่ง) และอยู่ติดกับบ้านดงยาง

2447- นครนายก มี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังกระโจม อ.องครักษ์ อ.บ้านนา และอ.หนองโพธิ์
- มกราคม, บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขุดคลองตาม "โครงการทุ่งนครนายกหรือดงละคร" ระยะทาง 72 กิโลเมตร

2448- ย้ายที่ว่าการ อ.หนองโพธิ์ ไปอยู่บ้านท่าแดง ต.ปากพลี และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาใหญ่ (ปี 2460 เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากพลี)

2451- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองต่างๆ ในมณฑลปราจีน และเสด็จฯ ทอดพระเนตรดงละคร

2455- สร้างวัดนักบุญยอแซฟ หนองรี ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา นครนายก
- รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2453-2468) มีการสร้างวัดโบสถ์พระผู้ไถ่เสาวภา อ.องครักษ์ นครนายก เป็นวัดนิกายคาทอลิก เดิมชื่อวัดหัวควาย

2460- เปลี่ยนชื่อ อ.เขาใหญ่ เปลี่ยน อ.ปากพลี
- ตั้งสุขาภิบาล อ.วังกระโจม
- วัดแก้วตารวมเข้าวัดอุดม ให้ชื่อใหม่ว่า "วัดอุดมรัตนาวาส" (ต่อมาได้ชื่อใหม่ว่า "วัดอุดมธานี")

2463- วัดอุดมรัตนาวาสได้รับประทานนามจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญานวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ว่า "วัดอุดมธานี")
- เปลี่ยนฐานะเมืองนครนายกเป็นจังหวัดนครนายก ยังขึ้นอยู่กับมณฑลปราจีน

2464- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ให้มีการจัดการศึกษาภาคบังคับ

2466- เริ่มโครงการนครนายก (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา นครนายก) แต่หยุดไปก่อนแล้วเสร็จ (เริ่มดำเนินการอีกครั้งในปี 2470)

2468- สร้างโรงเรียนยี่กรุณจิตต์ จากเงินบริจาคของนายยี่ คู้หย่ง (ปรีชาวุฒิ) และชาวบ้าน เป็นโรงเรียนประชาบาล บ้านเล่า ต.ท่าทราย อ.เมือง เป็นโรงเรียนภายใต้การอุปถัมภ์ของวัดพระยาสามองค์ (ปัจจุบัน - วัดพระคริสตประจักษ์) โรงเรียนแห่งนี้จัดเป็นโรงเรียนประชาบาลรุ่นแรกๆ หลังจากรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัต การประถมศึกษา (25 มิถุนายน 2482 เปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ และยุบไปในปี 2516)

2470- เริ่มโครงการนครนายก (โครงการส่งน้ำและรักษา นครนายก) ที่หยุดลงไปในปี 2464 โดยย้ายหัวงานไปที่บ้านท่าหุบ ต.ท่าช้าง อ.เมือง

2471- บริษัทตงก๊กเริ่มนำภาพยนตร์เข้ามาฉายที่ตลาดวังกระโจม

2475- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชานุญาตให้ประธานกรรมการสุขาภิบาลนครนายก จัดตั้ง โรงจำหน่ายกระแส ไฟฟ้า ที่ อ.วังกระโจม

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

-