banner Histdept

Vmenu

แนะนำเอกสาร
รายงานพิเศษ และรายงานประจำสัปดาห์เกี่ยวกับ เศรษฐกิจการค้าของไทย ค.ศ.1930-1933
ของสำนักงานผู้ช่วยทูตพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และเบ็ดเตล็ดหนังสือติดต่อราชการเกี่ยวกับประเทศไทย ของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ค.ศ. 1931-1945

โดยทั่วไป รับรู้กันว่าสองประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนสำคัญทำให้ไทยต้องเปิดประเทศติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ อังกฤษกับสหรัฐอเมริกา แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นพบว่า อังกฤษเป็นประเทศเดียวที่มีบทบาทครอบงำ เศรษฐกิจไทย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ จึงก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทยแทนที่อังกฤษ

รายงาน Economic and Trade Notes และ Special Report ที่พบในแฟ้มกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (Department of Commerce) ได้ชี้ให้เห็นว่า หลังเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1929 นั้น แท้จริงแล้ว สหรัฐอเมริกาให้ความ สำคัญกับเศรษฐกิจไทยมาก จนกระทั่งตั้งสำนักงานทูตพาณิชย์ขึ้นในไทยในราวปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1930 มีนาย Frank S. William ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตพาณิชย์ (Commercial Attache) คนแรก (เดินทางถึงกรุงเทพฯ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1930) มีนาย Joe D. Walstrom ซึ่งดำรงตำแหน่งตำแหน่งผู้ช่วยทูตการค้า (Assistant Trade Commissioner) เป็นผู้ช่วย (เดินทางถึงกรุงเทพฯ 28 สิงหาคม)[1] แต่เพียงชั่ว 3 ปี สำนักงานก็ถูกยุบไป กล่าวคือในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1933 นาย Charles E. Brookhart ผู้ช่วยทูตพาณิชย์คนต่อมา และนาย Joe D. Walstrom เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไป โดยกงสุลใหญ่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการพาณิชย์ต่อไปแทน[2] แม้สำนักงานทูตพาณิชย์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่รายงานต่างๆ ที่สำนักงานทูตพาณิชย์มีไปยังเจ้ากระทรวงที่วอชิงตัน ดี ซี นั้น แสดงให้เห็นถึงความสนใจ อย่างยิ่งยวดที่สหรัฐฯ มีต่อเศรษฐกิจไทย รายงานเหล่านี้มีคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่เพียงแต่สะท้อนความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจช่วงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของไทย ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

นอกจากบันทึกทางเศรษฐกิจและการค้า (Economic and Trade Notes) รายงานพิเศษ (Special Reports) รายงานประจำสัปดาห์ (Weekly Reports) ซึ่งจัดรวบรวมหัวเรื่องรายงานเพื่อง่ายแก่การค้นคว้าแล้วยังมีบัญชีเบ็ดเตล็ดหนังสือติดต่อราชการของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยด้วย

เอกสารชุดนี้เป็นการจัดทำบัญชีและรวบรวมหัวเรื่องรายงานทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศไทยจากเอกสารกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ช่วยทูตพาณิชย์ ประจำสถานอัครทูตอเมริกัน ประจำ กรุงเทพฯ รายงานไปยังเจ้ากระทรวง ระหว่าง 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932- 27 มิถุนายน ค.ศ. 1933 และเบ็ดเตล็ดหนังสือติดต่อราชการของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ค.ศ. 1931-1945

งานชุดนี้เป็นงานรวบรวมเกี่ยวกับเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยของสหรัฐอเมริกาเป็นชุดที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางไปค้นคว้าเอก สารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยที่สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Archives and Record Administration) ที่ Archives II ณ College Park มลรัฐแมรีแลนด์ในระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2539 ชุดแรกเป็นงานรวบรวมหัวเรื่องรายงานทางการเมือง ในชื่อว่า "รวบรวมหัวเรื่องรายงานการเมืองประจำเดือนระหว่างพฤษภาคม 1931 (พ.ศ. 2474) ถึงกันยายน 1941 (พ.ศ. 2484) จากสถานอัครทูต สหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดี ซี" (อัดสำเนา, สิงหาคม 2542) เป็นเอกสารของกระทรวงการต่าง ประเทศ ส่วนชุดที่ 2 เป็นเอกสารของกระทรวงพาณิชย์

เอกสารที่นำมาจัดทำบัญชีและรวบรวมหัวเรื่อง มี 5 ประเภท ได้แก่

  1. Economic and Trade Notes เป็นรายงานตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 144 ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ถึง 23 มิถุนายน ค.ศ. 1933, รวม 480 แผ่น (ไม่มีรายงานหมายเลข 3, 12, 15, 47, 48 52, 64, 87, 106, 111, 112 , และ 125)
  2. Special Reports เป็นรายงานตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 29 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ถึง 27 มิถุนายน ค.ศ. 1933, รวม 290 แผ่น (ไม่มีรายงานหมายเลข 2, 4, 5, 8, 16, และ 18, รายงานบางชุดไม่สมบูรณ์ ได้แก่ หมายเลข 13, 22 และ 27)
  3. Weekly Report, มีรายงานตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ถึง 26 มิถุนายน ค.ศ. 1933, มีไม่ครบทุกสัปดาห์, รวม 155 แผ่น
  4. รายงานย่อยจากสำนักงานผู้ช่วยทูตพาณิชย์ กรุงเทพฯ ถึง Bureau of Foreign and Domestic Commerce และ Division of Regional Information, ค.ศ. 1931-1932, รวม 25 แผ่น 5. เบ็ดเตล็ดหนังสือราชการในกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ เกี่ยวกับประเทศไทย ค.ศ. 1931-1945, รวม 78 แผ่น
  5. เอกสารส่วนที่ขาดและไม่สมบูรณ์นั้น ผู้รวบรวมยังไม่มีโอกาสตรวจสอบจากแหล่งเอกสารเดิม จึงยังไม่สามารถระบุชัดได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด อาจเกิดจากถ่ายสำเนาข้าม หรือต้นฉบับเดิมไม่สมบูรณ์ ได้ทั้งสองกรณี สำหรับสำเนาเอกสารมีให้บริการที่ห้องสมุดกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  6. การถ่ายสำเนามีขึ้นในระหว่างมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นห้วงที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ผู้อำนวยการกองวิชา ประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ขณะทรงพระยศพลโท) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนให้อาจารย์กอง วิชาประวัติศาสตร์ไปค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทย ที่สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ (National Archives and Records Administration-NARA) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี (Archives I) และ ณ คอลเลจ ปาร์ค (College Park -Archives II) มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา

[1] Weekly Report on August 4, 1930; and Weekly Report on September 1, 1930; Records of the Bureau of Foreign and Domestic Commerce; Records Relating to Commercial Attach?'s Report, Siam (Bangkok) (Thailand), Box No. 436, RG. 151; NARA (Archives II). (สำเนา-กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา รร.จปร.)

[2] Political Report for June, 1933; 892.00 P.R./51; the Department of State Decimal file, 1930-39; General Records of the Department of State; RG 59; NARA (Archives II). (สำเนา-กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา รร.จปร.)

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า