banner Histdept

Vmenu

บทความภาษาไทย
 ศิลปวัฒนธรรม, วันที่ 01 เมษายน พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 6), หน้า 136  

 เรื่องจากปก  
สืบจากซาก ตามรอยคนโบราณที่เพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อฤดูร้อนและฤดูฝนในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ผ่านมา มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดหรือถ้ำน้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นและลือนามของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการดำเนินงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคนโบราณ ชุมชน และวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์สมัยปลายยุคน้ำแข็งที่มีอายุเก่าแก่นับหมื่นปี

หลักฐานทางโบราณคดีชุดนี้เป็นการค้นพบ "คนโบราณ" เป็นครั้งแรกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

การค้นพบข้อมูลใหม่ที่อำเภอปางมะผ้ามีความหมายอย่างไรต่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบนผืนแผ่นดินไทย?

มีแน่นอน... เพราะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของคนบนผืนแผ่นดินไทย

หลักฐานของ "คนโบราณ" นั้นมีอยู่น้อยมากในประเทศไทย ถ้าไม่นับฟอสซิลของ "โฮโม อีเรคตัส" ที่พบจากจังหวัดลำปาง ก็มีเพียงแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ (สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ ๒๕๓๗) และแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน (รัศมี ชูทรงเดช ๒๕๔๔) เท่านั้นที่มีการขุดค้นอย่างเป็นระบบและมีการตรวจสอบหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน ได้ค่าอายุที่เก่าถึงปลายสมัยน้ำแข็ง

หลักฐานของคนนี้เองจะช่วยทำให้เราทราบรากเหง้าของบรรพบุรุษของ "คนไทย" และลักษณะทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการผสมผสานจนมาเป็น "คนไทย" ในปัจจุบัน การปะติดปะต่อภาพอดีต จึงต้องอาศัยการต่อหลักฐานที่ค้นพบทีละชิ้นเข้าด้วยกัน

คุณค่าของการค้นพบโครงกระดูกคนโบราณนั้นมีมากมายมหาศาล ขุมทรัพย์ทางปัญญานี้นำไปสู่การสืบค้นหารากเหง้าของบรรพบุรุษของ "คนไทย" ที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือที่สุด หากเราสามารถลำดับหรือจัดจำแนกสายวิวัฒนาการของคนในประเทศไทยได้ว่า เป็นสายพันธุ์ใด คนโบราณที่เพิงผาถ้ำลอดใช่สายพันธุ์ที่สืบมาจากโฮโม อีเรคตัสที่พบจากจังหวัดลำปาง จริงหรือไม่ (เราควรจะต้องติดตามผลการศึกษาทางวิชาการในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร มีอายุเท่าไหร่กันแน่) สายพันธุ์โฮโมในประเทศไทยมีกี่ชนิด วิวัฒน์เป็นเชื้อชาติใดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถจำแนกละลอกของการเคลื่อนย้ายไปมาของคนบนผืนแผ่นดินไทยแต่ละช่วงเวลาได้

เมื่อพบหลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับโครงกระดูกคน ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงลักษณะของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่คนโบราณได้สร้างสรรค์ในแต่ละยุคสมัย และจะทำให้เราจำแนกได้ว่าอะไรเป็นลักษณะวัฒนธรรมดั้งเดิมและอะไรเป็นวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่ที่ผสมผสานกันจนเป็น "วัฒนธรรมไทย" ในที่สุด

อย่างไรก็ดีความรู้เรื่องวิวัฒนาการของคนและวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้นในประเทศไทยยังอยู่ในมิติลี้ลับ ที่รู้กันในแวดวงที่จำกัดมากๆ คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่เข้าใจและห่างจากตัวเขามาก การทยอยพบหลักฐานของคนโบราณที่อายุเก่าแก่นับหมื่นหรือแสนปีในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทีนี้วกกลับมาสู่เรื่องของเพิงผาถ้ำลอด

แม้ว่าโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด (ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว) มีอายุน้อยกว่าถ้ำหมอเขียว (ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว) แต่เป็นค่าอายุที่เก่ามากที่สุดเท่าที่เคยพบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งสอดคล้องกับงานของเชสเตอร์ กอร์มัน นักโบราณคดีชาวอเมริกันที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนจากถ้ำผี เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปี และเป็นการยืนยันว่าอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นดินแดนเก่าแก่ มีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบเนื่องยาวนาน และน่าเป็นต้นเค้าของชุมชนโบราณในภาคเหนือทีเดียว

หากท่านผู้อ่านได้ติดตาม "ศิลปวัฒนธรรม" มาโดยตลอด คงจะเคยอ่านบทความที่ผู้เขียนเคยเขียนลงเรื่องเกี่ยวกับ "โลงไม้หรือผีแมนในเมืองสามหมอก" ซึ่งเป็นปริศนาที่ยังมืดมน เรายังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับที่มาหรือที่ไปของคนในวัฒนธรรมโลงไม้ การพบโครงกระดูกในบริเวณเพิงผาถ้ำลอดจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดี เพราะจะช่วยคลี่คลายและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคนในวัฒนธรรมโลงไม้หรือผีแมนที่พบในถ้ำน้ำลอดได้ และอาจจะช่วยไขปัญหาว่ามีความสัมพันธ์กับลัวะหรือไม่ เพราะมีนักวิชาการบางท่านได้สันนิษฐานว่าคนในวัฒนธรรมโลงไม้อาจจะเป็นลัวะ

ดังนั้นแม้ว่าในหนังสือหรือตำราทางด้านประวัติศาสตร์แทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแม่ฮ่องสอนเลย ผลการศึกษาของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้เราสามารถจะกล่าวได้ว่าแม่ฮ่องสอนไม่ใช่ดินแดนใหม่ที่เพิ่งมีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ดินแดนล้าหลัง หรือมีการอพยพเคลื่อนย้ายของคนมาตั้งรกรากในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์! คนดั้งเดิมอาจจะอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

บทความนี้ผู้เขียนจะนำท่านไปสู่การค้นพบใหม่ของนักโบราณคดีชาวไทย ที่ต้องการจะสืบค้นความเป็นมาของคนโบราณที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

รู้จักปางมะผ้ากันหน่อย

อำเภอปางมะผ้า เป็นอำเภอที่อยู่ตอนเหนือสุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศไทย จุดเด่นของอำเภอปางมะผ้าที่ทำให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศคือ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชีวภาพ เปรียบเสมือนกับพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมชั้นนำของโลกทีเดียว ความงดงามของถ้ำ ป่าไม้ และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจคนทั่วไป

อำเภอปางมะผ้า แต่เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอที่ขึ้นตรงต่ออำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ ตำบล คือตำบลปางมะผ้า ตำบลสบป่อง ตำบลถ้ำลอด และตำบลนาปู่ป้อม

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อำเภอปางมะผ้าเคยเป็นพื้นที่ที่ทหารญี่ปุ่นตัดถนนจากอำเภอปายไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าไปยังประเทศพม่า ต่อมาสมัยหลังสงคราม พ่อค้าและประชาชนทั่วไปก็ได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคม โดยมีจุดพักค้างแรมที่บ้านสบป่องแม่อูมอง

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางราชการได้จัดตั้งสถานีตำรวจภูธรตำบลเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรผ่าน ณ จุดที่เรียกว่า "ปางมะผ้า" (มะผ้า หรือหมากผ้า เป็นภาษาไต แปลว่ามะนาว) เพราะจุดนี้สามารถหามะนาวปรุงอาหารได้ และมีชาวไต (ไทยใหญ่) มูเซอ ลีซอ ตั้งบ้านเรือนกระจายเป็นหย่อมๆ

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางราชการได้ตัดถนนและมีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นตามลำดับ

ชุมชนรอบๆแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด

กฤษณ์ เจริญทอง และคณะ (๒๕๔๒) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับชุมชนต่างๆ ในอำเภอปางมะผ้า และรายงานเกี่ยวกับหมู่บ้านถ้ำลอด ในอำเภอปางมะผ้า ว่ามีอายุประมาณ ๓๓ ปี ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านถ้ำลอดเป็นชาวไทยใหญ่

ตามประวัติบอกเล่ากล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีครอบครัวชาวไทยใหญ่ ๕ ครอบครัว อพยพมาจากหมู่บ้านหัวลาง บ้านปางแปก บ้านไม้ลัน และบ้านปางคาม ซึ่งเดิมมีอาชีพทำการเกษตร และที่ทำกินมีความลาดชันสูงจึงมีการอพยพย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ ผู้นำในการย้ายครั้งนี้ คือ นายวีระชัย หอมสกุลขจร ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหมอผี (หมอกลางบ้านหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหมอไสยศาสตร์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "หมอเมือง" ในเวลาเดียวกัน) กล่าวคือ เป็นผู้เสี่ยงทายในการเลือกและสร้างถิ่นฐานตลอดจนการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของชาวบ้านอีกด้วย โดยรักษาแบบธรรมเนียมไทยใหญ่ แบบวิธีการดั้งเดิม เนื่องจากอยู่ห่างไกลแพทย์ ดังตำนานได้กล่าวไว้ว่า "กินอย่างม่าน (ม่าน คือพม่า) ตายอย่างเงี้ยว (เงี้ยว คือไทยใหญ่)" ชาวบ้านได้ต่อสู้กับธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และเป็นเหตุให้ปากถ้ำเปิดและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านถ้ำลอดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีชาวบ้านไปแผ้วถางป่า และพบว่าหมู่บ้านนี้มีถ้ำใหญ่มากแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ จนในที่สุดก็มีคนเข้าไปในถ้ำแห่งนี้ใน ๑๐ ปีต่อมา จากนั้นชาวบ้านถ้ำลอดได้อาศัยถ้ำลอดแห่งนี้เป็นแหล่งหารายได้เสริมมาตลอดโดยการนำเที่ยวในถ้ำ

บ้านถ้ำลอดอยู่ในเขตการปกครองของหมู่บ้านแม่ละนา หมู่ที่ ๑ ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า ขณะนั้นมีเพียงตำบลเดียวเท่านั้น ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๒๐ จึงมีโรงเรียนการประถมศึกษาขึ้นในหมู่บ้าน แต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม มีโรคภัยไข้เจ็บ จนเด็กและผู้ใหญ่ตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการย้ายหมู่บ้านเดิมไปสร้างที่ใหม่ที่เห็นในปัจจุบันนี้เรียกว่า "บ้านกลางบ้านใหม่" ส่วนบ้านที่อยู่เดิมเรียกว่า "บ้านเก่า" ไม่มีคนอาศัยอยู่ (บ้านกลางคือบริเวณที่ตั้งโรงเรียน) ส่วนบ้านใหม่คือบ้านที่ตั้งอยู่บริเวณที่นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปเที่ยวชมถ้ำลอดในปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับการตั้งให้เป็นหมู่บ้านหลักพร้อมกับการแยกตำบล คือแยกส่วนหนึ่งออกจากตำบลปางมะผ้า เรียกชื่อตำบลใหม่ว่า ตำบลสบป่อง บ้านถ้ำลอดได้เป็นหมู่ที่ ๓ ตำบลสบป่อง

จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ บ้านถ้ำลอดได้รับการประกาศให้เป็นตำบล คือตำบลถ้ำลอด กำนันตำบลถ้ำลอดคนแรก คือ นายมณี เสลาสุวรรณ จนถึงปัจจุบัน

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำปายตอนเหนือ ในท้องที่ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำลางไหลผ่านและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เพิงผาถ้ำลอด เป็นเพิงผาขนาดเล็ก ใกล้กับทางเข้าของศูนย์ศึกษาฯ ห่างจากเพิงผาถ้ำลอดประมาณ ๒๕๐ เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๖๔๐ เมตร ตั้งอยู่ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ ๔๒๒๔๖ ๒๑๖๒๔ (แผนที่ทางทหารระวาง 4648II ลำดับชุด L7017 พิมพ์ครั้งที่ ๑ RTSD มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐)

การเข้าถึงแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด สามารถจะเดินทางเข้าถึงค่อนข้างจะสะดวก เพราะมีการตัดถนนคอนกรีตที่เข้ามาสู่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด โดยหากเดินทางมาจากอำเภอปาย ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๑๐๙๕ เส้นทางเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถสารประจำทางประมาณ ๒ ชั่วโมง และถ้าเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ มีระยะทางประมาณ ๖๗ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมงครึ่ง เมื่อถึงท่ารถบ้านสบป่อง มีถนนแยกไปยังศูนย์ศึกษาฯ ซึ่งเข้ามาเป็นระยะทางอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร

ในแง่ความเป็นมาของถ้ำลอด สมศักดิ์ เลายี่ปา (๒๕๔๔ : ๑) หัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอนคนปัจจุบัน ได้เขียนประวัติความเป็นมาของถ้ำน้ำลอด (หรือถ้ำลอด) ไว้ดังนี้

"ถ้ำน้ำลอด เป็นชื่อของถ้ำขนาดใหญ่ถ้ำหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อเรียกตามลักษณะของถ้ำที่มีลำน้ำไหลลอดผ่านทะลุเขา อาณาบริเวณของถ้ำน้ำลอดแต่เดิม เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่น้ำฝั่งขวาตอนบน ต่อมาเมื่อมีประกาศจัดตั้งแม่ปายฝั่งขวาตอนบนบางส่วนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๕

ถ้ำน้ำลอด จึงได้รับการผนวกเข้าไว้อยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำปายด้วยภายหลังเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับอำเภอปาย ได้รับการพัฒนาดีขึ้น ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ถ้ำน้ำลอด จึงได้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้านพัฒนาตนเอง "บ้านหน้าถ้ำ" ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ บริเวณหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากตัวถ้ำเพียง ๑ กิโลเมตร และได้มีพระภิกษุจากวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่บริเวณปากถ้ำด้านน้ำไหลออก ซึ่งปัจจุบันคือสำนักสงฆ์ธรรมจาริกคูหาสวรรค์คีรีเขต ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการพัฒนาตัดเส้นทางจากบ้านสบป่องเข้าไปถึงบ้านหน้าถ้ำ ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร การเดินทางไปถ้ำน้ำลอดจึงสะดวกขึ้น...ได้พิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ปี พ.ศ. ๒๕๓๓..."

สืบจากซาก : ตามรอยคนโบราณที่เพิงผาถ้ำลอด

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด มีความเหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานของคนโบราณเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเพิงผาขนาดเล็ก มีลักษณะเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทดี และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ คือลำน้ำลาง ประมาณ ๒๐๐ เมตร

ทีมวิจัยโบราณคดีได้เลือกขุดค้น ๓ พื้นที่เพื่อครอบคลุมพื้นที่ทำกิจกรรมของคนในอดีต คือบริเวณเพิงผา กำหนดให้เป็นพื้นที่ ๑ (area 1) โดยขุดหลุมขุดค้นขนาด ๔ x ๔ เมตร พื้นที่ลาดชัน มี ๒ บริเวณที่ขุดค้น พื้นที่ ๒ (area 2) ขุดหลุมขุดค้นขนาด ๒ x ๖ เมตร และพื้นที่ ๓ (area 2) ขุดหลุมขุดค้นขนาด ๒ x ๙ เมตร

"คน" "วัฒนธรรม" "วิถีชีวิต" และ "อายุสมัย"

ผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด สามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่ามีคนโบราณเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถจะจัดลำดับสมัยทางวัฒนธรรมได้อย่างน้อย ๔ ชั้นวัฒนธรรมหลักๆ โดยพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีและชั้นทับถมทางโบราณคดี คือ

วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ชั้นวัฒนธรรมที่ ๑ เป็นวัฒนธรรมที่ใช้เครื่องมือหินกะเทาะ และเป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง มีการเข้ามาใช้พื้นที่เพิงผาเป็นประจำ และทิ้งร้างไปบ้าง ประมาณ ๓ ระยะใหญ่ๆ คือ

ระยะแรกเมื่อประมาณระหว่าง ๒๒,๐๐๐ ถึง ๑๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว (กำหนดอายุโดยวิธีคาร์บอน ๑๔) มีร่องรอยกิจกรรม แต่ไม่พบโครงกระดูกของคน อย่างไรก็ดีจากหลักฐานทางโบราณคดี ผลการขุดค้นแสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งพื้นที่ในการทำกิจกรรม คือ

คนโบราณเข้ามาใช้พื้นที่เพิงผาหรือพื้นที่ ๑ เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในการนอน การทำเครื่องมือหินกะเทาะ ซ่อมบำรุงเครื่องมือหิน และใช้ในการประกอบอาหารที่ทำอาหารให้สุก เพราะมีการพบกองเถ้า เศษสะเก็ดหิน แกนหิน เครื่องมือหินกะเทาะ กระดูกเผาไฟของสัตว์ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ได้แก่สัตว์ตระกูลกวาง วัว/ควาย หมูป่า กระรอกบิน และสัตว์น้ำ เช่น หอย เต่า ปลา เป็นต้น การดำรงชีวิตก็จะล่าสัตว์ขนาดต่างๆ และจับสัตว์น้ำ

ส่วนพื้นที่ ๒ และ ๓ เป็นบริเวณที่ใช้กะเทาะเครื่องมือหิน (workshop area) พบหลักฐานของหินกะเทาะทุกขั้นตอนการผลิต ได้แก่ ค้อนหิน สะเก็ดหินและแกนหินที่ไม่ได้ใช้งาน เครื่องมือหินกะเทาะประเภทสุมาตราลิธ ขนาดต่างๆ หินเจาะรู คล้ายกับตุ้มถ่วงแห รวมทั้งก้อนหินที่น่าจะใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องมือหินกะเทาะจำนวนมาก ข้อสังเกตคือการทับถมของหินกะเทาะนั้นมีจำนวนมากและมีความหนาแน่นมาก ประมาณเกือบ ๒ เมตร แสดงให้เห็นว่าคนก่อนประวัติศาสตร์แวะเวียนมาใช้บริเวณนี้สำหรับผลิตเครื่องมือหินกะเทาะเป็นประจำ มีการคัดเลือกชนิดและขนาดของหินในการทำเครื่องมือ เช่น หินควอตซ์ไซต์ หินแอนดีไซต์ หินโคลน หินแกรนิต เป็นต้น

ระยะที่สอง ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณเพิงผาถูกใช้เป็นที่ฝังศพ มีการขุดหลุม และฝังศพในท่างอตัวและหันหน้าเข้าหาผนังของเพิงผา มีของเซ่นที่พบร่วมกับโครงกระดูก มีเพียงแค่ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ และก้อนหินกรวดที่อาจจะเป็นค้อนหิน ส่วนเหนือของหลุมฝังศพก็จะมีการนำก้อนหินกรวดและหินปูนขนาดใหญ่วางทับโดยรอบ เสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ที่บอกตำแหน่งการฝัง ลักษณะการฝังศพที่มีหินวางทับอยู่เหนือหลุมศพนี้มีความคล้ายคลึงกับโครงกระดูกที่ขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ ซึ่งมีอายุประมาณ ๙,๔๐๐ ปีมาแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่าพิธีกรรมปลงศพแบบนี้เป็นลักษณะที่พบทั่วไปในแหล่งโบราณคดีในสมัยปลายยุคน้ำแข็งและต้นยุคน้ำท่วมหรือโฮโลซีนตอนต้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ (ดีเอ็นเอ) ของโครงกระดูกนั้นกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์โดย ดร.สุภาพร นาคบัลลังก์ และทีมวิจัยทางด้านมานุษยวิทยากายภาพ (รัศมี ชูทรงเดช ๒๕๔๔ : ๑๗)

ระยะที่สาม ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว (รัศมี ชูทรงเดช ๒๕๔๔ : ๑๘) พื้นที่เหนือหลุมศพเดิมก็ยังคงใช้เป็นที่ฝังศพในสมัยต่อมา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโครงกระดูกทั้งสองโครงมีความสัมพันธ์กันในทางโลหิตหรือไม่ ลักษณะการฝังศพก็มีแตกต่างไปจากหลุมแรก คือเป็นการฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ส่วนของเซ่นที่วางไว้ข้างโครงกระดูกคือสะเก็ดหิน ชิ้นส่วนของกระดูกสัตว์ และเปลือกหอย

เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงกระดูกที่พบมีสภาพที่แตกชำรุดอย่างมากจึงไม่สามารถจะวิเคราะห์ทางด้านกายภาพได้ แต่ยังสามารถตรวจสอบทางด้านชีวภาพได้

หลังจากชั้นวัฒนธรรมที่ ๒ ก็มีการเข้ามาพักและทิ้งร้างไปอีกหลายครั้ง

ชั้นวัฒนธรรมที่ ๒ เป็นวัฒนธรรมที่ใช้ภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ลายขูดขีด ลายกดประทับ และลายกดจุด มีการใช้พื้นที่เป็นที่พักพิงชั่วคราว อาจจะเป็นที่พักแรมระหว่างการเดินทาง ชั้นวัฒนธรรมนี้น่าจะมีอายุประมาณ ๒,๕๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยการเปรียบเทียบอายุกับรูปแบบภาชนะเนื้อดินเผาไม่แกร่ง ซึ่งเป็นลักษณะของภาชนะดินเผาที่พบอย่างแพร่หลายมากใน "วัฒนธรรมยุคโลหะ"

อย่างไรก็ดี โครงการจะวิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบและลวดลายของภาชนะดินเผากับแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในภาคเหนือ เพื่อจะยืนยันอายุสมัยของชั้นวัฒนธรรมนี้ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ๒๕๔๐)

วัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์

ชั้นวัฒนธรรมที่ ๓ เป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) อายุสมัยสามารถกำหนดโดยการเปรียบเทียบรูปแบบของโบราณวัตถุ เช่น เศษเครื่องเคลือบสีเขียว ก้านของกล้องสูบยา ลูกปัดดินเผา เป็นต้น

ชั้นวัฒนธรรมนี้น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓ เช่นเดียวกับชั้นวัฒนธรรมที่ ๒ เพิงผาน่าจะถูกใช้เป็นที่พักชั่วคราว หรือที่พักแรมระหว่างการเดินทางระหว่างหมู่บ้านหรือเมืองต่างๆ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล ๒๕๔๐ : ๗-๕๖)

ชั้นวัฒนธรรมที่ ๔ เป็นวัฒนธรรมสมัยปัจจุบัน มีร่องรอยการรบกวนจากปัจจุบันหลายครั้ง เพิงผาถูกใช้เป็นที่พักค้างแรมชั่วคราวเช่นเดียวกัน อายุสมัยสามารถกำหนดโดยการเปรียบเทียบรูปแบบของวัตถุสมัยปัจจุบัน เช่น เศษเชือกฟาง เหรียญ ๒๕ สตางค์ กระสุนปืน เป็นต้น

ชาวบ้านถ้ำลอดเล่าว่าเพิงผานี้เคยเป็นที่พักสำหรับนายพรานที่ดักล่าสัตว์ในแถบนี้

สำหรับประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมโบราณ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม พอจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกับปัจจุบัน แต่คงจะมีความอุดมสมบูรณ์และหนาแน่นกว่าปัจจุบันได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าพุ่มริมลำน้ำ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสัตว์ใหญ่ๆ เช่น สัตว์ตระกูลวัวป่า/ควายป่า กวางป่า ไม่พบในหมู่บ้านถ้ำลอดแล้ว

ส่วนความปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนโบราณกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว หลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่าคนโบราณมีภูมิความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเป็นอย่างดี มีการเลือกใช้พื้นที่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรคือแหล่งอาหาร แหล่งวัตถุดิบ และแหล่งน้ำ บริเวณถ้ำลอด ในอำเภอปางมะผ้าเป็นพื้นที่อยู่ในทำเลที่ดี ใกล้น้ำ มีทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้มากมาย และมีพื้นที่ราบหุบเขาที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก

ดังนั้นเพิงผาถ้ำลอดมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงจึงถูกใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

บทส่งท้าย

ขณะนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมของความรู้ที่คณะผู้วิจัยจะต้องสืบค้นต่อไป และกำลังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ เช่น

การวิเคราะห์ทางกายภาพและชีวภาพ (ดีเอ็นเอ) ของโครงกระดูกที่พบในระยะที่ ๒ และ ๓ ในวัฒนธรรมที่ ๑ ว่ามีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมหรือไม่ และโครงกระดูกเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโครงกระดูกคนในวัฒนธรรมโลงไม้หรือโลงผีแมนที่พบในถ้ำลอดซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดหรือไม่ หากใช่ก็แสดงความมีพัฒนาการของคน สังคมและวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องและยาวนาน และอาจจะต้องศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของโครงกระดูกที่พบจากแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว ผลการศึกษาของโครงการจะนำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ผู้เขียนคิดว่าโครงกระดูกคนเป็นหลักฐานทางตรงที่จะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาวิวัฒนาการของ "คนไทย" และ "คน" ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี

หรือการวิเคราะห์กระดูกสัตว์เพื่อตรวจสอบความหลากหลายของชนิดของสัตว์ หากมีสัตว์บางประเภทที่สูญพันธ์ไปในปัจจุบันก็อาจจะทำให้ทราบว่าสภาพแวดล้อมของแม่ฮ่องสอนแต่เดิมเป็นอย่างไร เหมือนกับปัจจุบันหรือแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร เป็นต้น

นอกจากการวิเคราะห์ในข้างต้นซึ่งเป็นการสืบค้นจากมิติของเวลาที่เจาะลึกมาก หากเราไต่ตามเพดานของเวลาขึ้นมา ก็ยังมีมิติเวลาในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันที่น่าสนใจอีกหลายประเด็นที่ควรสืบค้นต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการเป็นชุมทางการค้าขายทางบก ซึ่งจะผ่านไปทางแม่น้ำสาละวิน การค้าของป่า/ค้าทาส และการปฏิสัมพันธ์ของคนหลากหลายชาติพันธุ์ หรือประเด็นที่ปางมะผ้าอาจจะเป็นที่หลบภัยของคนพลัดถิ่น เป็นต้น

ผู้เขียนคิดว่าการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ยาวไกลของคณะวิจัยชาวไทย เพราะยังมีจิ๊กซอว์อีกมากมายที่ค้นหาและจะต้องนำชิ้นส่วนต่างๆ จากหลายๆ สาขาวิชามาเรียงต่อเป็นภาพของประวัติศาสตร์ของผู้คนในภาคเหนือ

บรรณานุกรม

กฤษณ์ เจริญทอง (บรรณาธิการ). รายงานความก้าวหน้าของโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ ๒ เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๒

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). รายงานความก้าวหน้าของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔

สำนักงานอำเภอปางมะผ้า. รายงานอำเภอปางมะผ้า. เอกสารโรเนียว, ๒๕๔๐

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ (บรรณาธิการ). โบราณคดีล้านนา. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, ๒๕๔๐

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภามาศ ดวงสกุล. การขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีแหล่งเตาอินทขิล บ้านสันป่าตอง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. โบราณคดีล้านนา. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, ๒๕๔๐

สมศักดิ์ เลายี่ปา. ถ้ำน้ำลอด. เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ครั้งที่ ๑๐. เอกสารโรเนียว, ๒๕๔๔

สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. รายงานสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ และถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ชนกลุ่มน้อยเผาซาไก จังหวัดตรัง เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๗

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า