banner Histdept

Vmenu

บทความภาษาไทย
 ศิลปวัฒนธรรม, วันที่ 01 เมษายน พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 6), หน้า 108  

 เรื่องจากปก  
ฟอสซิลบรรพบุรุษ อุรังอุตัง พบครั้งแรกในประเทศไทย

เยาวลักษณ์ ชัยมณี กลุ่มงานมาตรฐานโบราณชีววิทยา สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี

บทนำ

การศึกษาวิวัฒนาการของฟอสซิลเอพเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของมนุษย์เรามาก เนื่องจากมนุษย์เป็นเอพชนิดหนึ่ง

เอพที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันหากไม่นับรวมมนุษย์เราพบว่ามีอยู่เพียง ๔ ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ชะนี ชิมแปนซี กอริลลา และอุรังอุตัง

ชะนีเป็นเอพขนาดเล็ก มีน้ำหนักตัวประมาณ ๔-๗ กิโลกรัม พบเฉพาะในบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอยู่ประมาณ ๙ ชนิด ส่วนชิมแปนซี กอริลลา และอุรังอุตังเป็นเอพขนาดใหญ่

ชิมแปนซีและกอริลลาพบเฉพาะในทวีปแอฟริกา ส่วนอุรังอุตังพบเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเกาะสุมาตรา และบอร์เนียวเท่านั้น

อุรังอุตังเป็นเอพขนาดใหญ่เพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย มีน้ำหนักราว ๕๐-๙๐ กิโลกรัม ปัจจุบันไม่พบอุรังอุตังบนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ๒ ชนิดย่อยต่างกัน ได้แก่ Pongo pygmaeus abelii พบที่สุมาตรามีขนาดใหญ่กว่า และ Pongo pygmaeus pygmaeus พบที่บอร์เนียวมีขนาดเล็กกว่า

ในช่วงไพลสโตซีน อุรังอุตังเคยอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า เวียดนาม และไทย ไปจนถึงบริเวณทางใต้ของจีน โดยพบฟอสซิลอุรังอุตังเป็นจำนวนมากในถ้ำ

หลักฐานการค้นพบฟอสซิลเอพมีน้อยมาก พบว่าเอพเริ่มมีวิวัฒนาการในช่วงไมโอซีน ราว ๒๓-๕ ล้านปีก่อน จากหลักฐานพบว่าเริ่มมีขึ้นในช่วงต้นยุคไมโอซีน คาดว่าบรรพบุรุษของเอพน่าจะเริ่มมาตั้งแต่ปลายยุคโอลิโกซีนและต้นยุคไมโอซีนแล้ว และเริ่มมีความหลากหลายแพร่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงกลางถึงปลายยุคไมโอซีน บริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรของโลกเก่า

หลักฐานล่าสุดพบฟอสซิลของชะนี อุรังอุตัง และไจแกนโตพิเธคัส ในช่วงไพลสโตซีน หรือยุคน้ำแข็ง ในบริเวณเอเชียอาคเนย์เท่านั้น ส่วนชิมแปนซี และกอริลลายังไม่เคยพบหลักฐานทางฟอสซิลเลย

เอพชนิดเก่าแก่พบส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ประเทศเคนยา และยูกันดา ในช่วงไมโอซีนตอนต้น ราว ๒๐-๑๗ ล้านปี ได้แก่ โปรคอนซูล, รังวาพิเธคัส, งันซาพิเธคัส และลิมโนพิเธคัส ต่อมาพบ อะโฟรพิเธคัส, ทูคานาพิเธคัส และเฮลิโอพิเธคัส จากซาอุดีอาระเบีย

จากหลักฐานพบว่าเอพเหล่านี้มีหลายขนาด จากเท่าลิงตัวเล็กๆ ถึงชิมแปนซีตัวใหญ่ อยู่ในป่าหลายๆ แบบ ลักษณะฟันกินอาหารทั้งผลไม้และยอดไม้ และมีลักษณะเด่นชัดของเพศผู้และเพศเมีย โดยมีขนาดเขี้ยวและขนาดตัวที่ต่างกันชัดเจน ฟอสซิลที่พบโครงกระดูกครบสมบูรณ์ได้แก่ โปรคอนซูล จากลักษณะโครงกระดูกทราบว่าเดิน ๔ ขา บางครั้งปีนต้นไม้และโหนกิ่งไม้ได้

ในช่วงกลางยุคไมโอซีน เอพจะแพร่กระจายมากขึ้นในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา บริเวณแอฟริกาตะวันออกพบฟอสซิล เคนยาพิเธคัส, อิควาธอเรียส และอะโฟรพิเธคัส โดยที่ เคนยาพิเธคัส มีลักษณะใบหน้าและฟันต่างจากเอพยุคแรกๆ แต่คล้ายคลึงเอพปัจจุบันมาก ฟันมีเคลือบฟันหนา มีกรามที่แข็งแรง คาดว่ากินอาหารค่อนข้างแข็ง ต่างจากไพรเมทปัจจุบันมาก จากลักษณะโครงกระดูกพบว่ายังคล้ายคลึงเอพยุคแรกๆ อะโฟรพิเธคัส เป็นเอพขนาดใหญ่ เคลื่อนไหวช้า มีฟันหน้ายื่น มีอายุราว ๑๘-๑๖ ล้านปี

ต่อมาปลายยุคไมโอซีนตอนกลางพบเอพจากประเทศแอฟริกาใต้ ชื่อ โอตาวิพิเธคัส ซึ่งต่างจากเคนยาพิเธคัส มาก และมีเคลือบฟันที่บางกว่า เอพยุคไมโอซีนตอนกลางในยุโรปและเอเชียพบน้อยมาก ฟอสซิลจากตุรกีมีลักษณะฟันคล้ายกับเคนยาพิเธคัส และกระดูกคล้ายโปรคอนซูล ต่อมาพบเอพที่มีเคลือบฟันค่อนข้างหนาในยุโรป ได้แก่ ไดรโอพิเธคัส

ในช่วงปลายยุคไมโอซีนพบว่าเอพมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ไดรโอพิเธคัส ในสเปน รูดาพิเธคัส ในฮังการี โอลิโอพิเธคัส ในอิตาลี อูรันโนพิเธคัส ในกรีก ศิวะพิเธคัส ในปากีสถาน และลูแฟงพิเธคัส ในประเทศจีน

บริเวณที่ตั้ง

และลักษณะธรณีวิทยา

ฟอสซิลที่พบครั้งนี้ พบในเหมืองถ่านหินเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งดำเนินการทำเหมืองโดยบริษัท เหมืองเชียงม่วน จำกัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งเชียงม่วน

ตะกอนในเหมืองประกอบด้วยหินโคลน และหินทรายสลับกับชั้นถ่านหิน และมีตะกอนดินโบราณสลับ ตะกอนดังกล่าวชี้ว่าเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ได้เก็บตัวอย่างตะกอนในเหมืองจำนวน ๒๑ ตัวอย่าง เพื่อศึกษาแม่เหล็กโลกโบราณ พบขั้วแม่เหล็กกลับขั้วอยู่ระหว่างขั้วแม่เหล็กโลกปกติ

จากการศึกษาอัตราการตกตะกอนของชั้นตะกอน และฟอสซิลสัตว์ที่ค้นพบในเหมืองหลายชนิด เช่น ฟอสซิลหมู และสัตว์เคี้ยวเอื้อง สามารถเทียบเคียงได้กับฟอสซิลที่พบที่ศิวะลิก ประเทศปากีสถาน คาดว่าอายุของตะกอนในแอ่งเชียงม่วนประมาณปลายยุคไมโอซีนตอนกลาง หรือราว ๑๓.๕-๑๐ ล้านปี ฟอสซิลเอพพบในชั้นถ่านหินชั้นบน

ฟอสซิลที่ค้นพบ

การศึกษาฟอสซิลไพรเมตในประเทศไทยมีการศึกษาต่อเนื่องมานานแล้ว เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีมีโครงการร่วมมือสำรวจศึกษาฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมกับมหาลัยมองเปลิเอที่ ๒ ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ทำให้มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ ๆ มากมาย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการค้นพบฟอสซิลไพรเมต สยามโมพิเธคัส อีโอซีนัส ที่เป็นต้นสายวิวัฒนาการของไพรเมตชั้นสูง ที่เหมืองลิกไนท์ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

ฟอสซิลที่พบครั้งนี้ พบในชั้นถ่านหิน บริเวณเหมืองถ่านหินเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เป็นฟันจำนวน ๑๘ ซี่ สามารถจำแนกออกได้ว่าเป็นเพศผู้และเพศเมียของสัตว์ชนิดเดียวกัน ลักษณะฟันมีความคล้ายคลึงกับฟอสซิล ลูแฟงพิเธคัส ที่พบในบริเวณทางใต้ของจีน แต่มีลักษณะหลายชนิดที่ต่างออกไป จึงให้เป็นชนิดใหม่ ชื่อ คล้าย ลูแฟงพิเธคัส เชียงม่วนเอนซิส หมายถึง "ลิงจากลูแฟงที่เชียงม่วน"

จากขนาดฟันทราบว่ามีน้ำหนักราว ๕๐-๗๐ กิโลกรัม ลักษณะพิเศษของฟอสซิลที่พบ คือเป็นเอพขนาดใหญ่ มีลักษณะและขนาดฟัน, แบบการสึกของฟัน, ความหนาและความย่นของเคลือบฟัน คล้ายคลึงกับลูแฟงพิเธคัส จากจีนมาก ต่างกันตรงขนาดของฟันหน้า และฟันกรามซี่ในสุดที่มีขนาดใหญ่กว่า ต่างจากอุรังอุตังปัจจุบันที่มีรอยย่นบนเคลือบฟันน้อยกว่า

ฟอสซิลเอพจากเชียงม่วนมีความคล้ายคลึงกับอุรังอุตังมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นบรรพบุรุษของอุรังอุตังที่มีสายพันธ์ใกล้ชิดกว่าศิวะพิเธคัส และลูแฟงพิเธคัส

ฟอสซิลที่พบมีอายุราว ๑๓.๕-๑๐ ล้านปี ในช่วงปลายยุคไมโอซีนตอนกลาง

การค้นพบฟอสซิลเอพขนาดใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการพบหลักฐานของฟอสซิลเอพขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ครั้งแรกในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้เราจะพบว่าอุรังอุตังเคยอยู่ในพื้นที่แถบนี้มาก่อนในยุคน้ำแข็ง แต่ยังไม่เคยพบหลักฐานใดๆ ของฟอสซิลเอพยุคก่อนหน้านั้นในพื้นที่นี้เลย

จากการศึกษาพันธุ์พืชที่พบในบริเวณเดียวกันเป็นพันธุ์พืชของแอฟริกา มีความเป็นไปได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนพืชและสัตว์ระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาในช่วงดังกล่าว

ความสำคัญของฟอสซิลที่พบ

การค้นพบฟอสซิลเอพที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยาครั้งนี้ เป็นการค้นพบฟอสซิลเอพครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอายุราว ๑๓.๕-๑๐ ล้านปี หรือปลายยุคไมโอซีนตอนกลาง

ลักษณะฟอสซิลที่พบมีความคล้ายคลึงกับอุรังอุตังมาก ชี้ให้เห็นว่าฟอสซิลเอพจากเชียงม่วนอาจเป็นบรรพบุรุษสายตรงของอุรังอุตัง โดยที่ศิวะพิเธคัส และลูแฟงพิเธคัส มีวิวัฒนาการเป็นอย่างอื่น ไม่ได้วิวัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นอุรังอุตังดังที่เคยสันนิษฐานไว้

หลักฐานของฟอสซิลเอพมีน้อยมาก คาดว่าเริ่มมีการวิวัฒนาการในทวีปแอฟริกาในช่วงต้น ยุคไมโอซีน ต่อมาพบในทวีปยุโรปในช่วงไมโอซีนตอนกลาง ในทวีปเอเชียมีการค้นพบเพียง ๒ แหล่ง ได้แก่ในประเทศปากีสถาน และจีนเท่านั้น

ฟอสซิลเอพที่พบในประเทศปากีสถาน ได้แก่ ศิวะพิเธคัส และรามาพิเธคัส ในชุดหินศิวาลิก อายุราว ๑๒.๕-๘.๕ ล้านปี มีลักษณะหลายอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์มาก นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่ารามาพิเธคัสเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ แต่เมื่อมีการค้นพบหลักฐานเพิ่มมากขึ้น เช่น หัวกะโหลกและกรามที่ครบสมบูรณ์ พบว่ามีลักษณะรูปร่างใบหน้าเหมือนอุรังอุตัง จึงคาดว่าน่าจะเป็นบรรพบุรุษอุรังอุตัง และรามาพิเธคัส เป็นเพศเมียของศิวะพิเธคัส มีขนาดเล็กกว่า ปัจจุบันจึงยุบชื่อรามาพิเธคัส เหลือเรียกเพียงศิวะพิเธคัสเท่านั้น

เมื่อมีการค้นพบกระดูกแขนและกระดูกขาของสัตว์ชนิดนี้เพิ่มเติม พบว่าสัตว์เหล่านี้ยังเดิน ๔ ขา ไม่ได้ใช้แขนโหนต้นไม้แบบอุรังอุตังปัจจุบัน จึงยังสงสัยว่าจะเป็นบรรพบุรุษอุรังอุตังดังที่คาดเดาไว้หรือไม่ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ มีการค้นพบฟอสซิลเอพจำนวนมาก ในแคว้นยูนนาน ทางใต้ของจีน บริเวณเมืองลูแฟง ให้ชื่อว่า ลูแฟงพิเธคัส โดยพบในชั้นถ่านหินอายุไมโอซีนตอนปลาย ราว ๘ ล้านปี จากฟอสซิลฟันที่พบมีความคล้ายคลึงกับอุรังอุตังมากกว่า แต่เมื่อพบกะโหลกพร้อมใบหน้าที่มีส่วนเบ้าตากว้าง หน้าสั้น มีลักษณะดังกล่าวต่างจากอุรังอุตัง จึงยังสงสัยกันอยู่ว่าใช่บรรพบุรุษอุรังอุตังหรือไม่

นอกจากนี้การค้นพบฟอสซิลเอพครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการค้นพบฟอสซิลไพรเมตชนิดใหม่ๆ เนื่องจากมีแอ่งสะสมตัวของตะกอนยุคต่างๆ จำนวนมาก และยังเป็นศูนย์กลางกำเนิด และวิวัฒนาการของไพรเมตชั้นสูง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคอีโอซีนจนถึงไพรเมตชั้นสูงปัจจุบัน

การค้นพบครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยได้ลงพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์อันดับ ๑ ของโลก ฉบับวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๖

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรธรณี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ


Chaimanee, Y., Jolly, D., Benammi, M., Tafforeau, P., Duzer, D., Moussa, I., and Jaeger, J.-J. (2003). A new middle Miocene hominoid from thailand and orangutan origins. Nature 422, 61-65

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า