banner Histdept

Vmenu

บทความภาษาไทย
 ศิลปวัฒนธรรม, วันที่ 01 กันยายน พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 11), หน้า 128  

 บทความ  
เหรียญนกเม็กซิโก ที่ใช้ในเมืองไทยและอุษาคเนย์

หลังจากผมนำเสนอข้อเขียนเรื่อง "เงินเหรียญนอกที่ใช้ในหัวเมืองปักษ์ใต้" ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๒ ไปแล้ว และคุณวิศรุต พลสิทธิ์ ได้เขียนเรื่อง "เหรียญนอก ดอลลาร์ยุคสำรวจ และล่าอาณานิคม" เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติม และตอบข้อสงสัยที่ผมได้ตั้งเป็นปัญหาไว้บางข้อ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๒) นอกจากนี้ได้มีผู้ไม่ระบุนาม ได้ส่งแผ่นพิมพ์จากเว็บไซต์ของ NUMISMATIC MUSEUM ในส่วนที่เกี่ยวกับเหรียญนก ผ่านทางกอง บ.ก. ศิลปวัฒนธรรม มาให้ ได้ช่วยคลายข้อกังขาลงส่วนหนึ่ง แต่มีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับข้อเขียนของคุณวิศรุต ผมจึงขอถือโอกาส "สนทนาธรรม" ในเรื่องนี้อีกสักครั้ง

ผมเข้าใจเอาเองว่า ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เงินเหรียญนอกได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาก ทั้งนี้ประเมินจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่ ตอนกล่าวถึงศึกลังกา แสดงความชุลมุนวุ่นวายของชาวบ้านชาวเมือง มีกลอนตอนหนึ่งว่า

ต่างตัวสั่นงันงกสะทกสะท้าน อลหม่านทุกประเทศทั่วเขตแขวง

มีตู้หีบรีบหามไปตามแรง หิ้วหม้อแกงหม้อข้าวแบกเตาไฟ

ที่ลางคนขนของไปกองทิ้ง แต่ตัววิ่งเวียนวงด้วยหลงใหล

บ้างแบกเบาะเมาะฟูกหิ้วหูกไน ได้โอ่งไหใส่แสรกแบกกระบุง

บ้างฉวยได้แพรพรรณลูกขันเชี่ยน ที่เงินเหรียญมีมากก็ลากถุง

ที่แก่งมซมซานลูกหลานจูง หอบหมอนมุ้งม้วนเสื่อเสื้อกางเกง

การมีเงินเหรียญขนาดต้องลากถุง ย่อมสะท้อนถึงความนิยมได้เป็นอย่างดี

ก่อนอื่นผมขอคัดข้อเขียนบรรยายภาพเหรียญนกที่ผมเสนอไว้ คือ "อีกด้านหนึ่งเป็นภาพหมวกเสรีภาพ มีอักษร LIBERTAD คาดอยู่ มีรัศมีเปล่งออกไปโดยรอบ ใต้ภาพหมวกมีอักษร 8R. M. 1851. G.C. 10Ds. 20Gs. (8R คือราคา ๘ เรียล ๑๘๕๑ เป็นปีผลิต นอกนั้นไม่ทราบความหมาย)

คุณวิศรุต ได้อธิบายถึงอักษรย่อที่ปรากฏในเหรียญไทร พอจะนำให้เข้าใจอักษรย่อในเหรียญนกด้วย คือ "M เป็นตัวย่อของโรงกษาปณ์เม็กซิโก ฯลฯ G.C. คือชื่อย่อของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความบริสุทธิ์เนื้อเงิน" ซึ่งตรงกับที่ปรากฏในแผ่นพิมพ์จากเว็บไซต์

ส่วน 10Ds. 20Gs. นั้น คุณวิศรุตไม่ได้อธิบาย ในแผ่นพิมพ์จากเว็บไซต์บอกว่า the coin"s fineness represented by the expression "10Ds 20Gs", meaning "diez Dineros, veinte Granos" (ten Moneys, twenty Grains) ผมพยายามถามจากผู้รู้ภาษาฝรั่ง ว่า ten Moneys, twenty Grains นี่ หมายความว่าอย่างไร ได้รับคำตอบว่า คงเป็นศัพท์เฉพาะในวงการโลหวิทยาหรือทางเคมี จึงอธิบายให้เข้าใจไม่ได้ ก็ต้องตราไว้ตามเคย

แต่ที่ว่าเป็นความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน (fineness) นั้น ได้ความว่า ตัวที่แสดงไว้สามารถคิดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า หากเทียบโลหะที่นำมาหล่อเหรียญเป็น ๑,๐๐๐ ส่วน จะเป็นเนื้อเงินแท้ๆ ๙๐๒ ส่วน

คุณวิศรุตบอกว่า เม็กซิโกเริ่มผลิตเหรียญชนิดนี้ในปี ค.ศ. ๑๘๒๕ (พ.ศ. ๒๓๖๘) และผลิตแบบเดียวไปจนถึง ค.ศ. ๑๙๐๙ (พ.ศ. ๒๔๕๒)

ประเด็นนี้ จำเป็นต้อง "สนทนาธรรม" ครับ

แผ่นพิมพ์จากเว็บไซต์ที่ผมได้รับ ระบุเป็น COMMENTS ว่า These coins of the octave system survived the Maximilian Empire and change to the decimal system; this happened due to the confidence expressed by the world and specially by the Mid-East for these samples. The design of this piece was kept the same, with some interruptions, for more than seventy years; samples from 1824 to 1897 are known. (http://www.cmonedam.com.mx/cmm/numismatica/histnumis 034 i.htm)

ซึ่งพอจะเก็บความได้ว่า เหรียญนกนั้น เม็กซิโกผลิตขึ้นใช้ในรูปแบบเดียวตลอด คือระบุเป็นสาธารณรัฐ กว่าเจ็ดสิบห้าปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๙๗ แม้ว่าระหว่างช่วงเวลานี้ ประเทศได้กลับไปปกครองในระบอบเอ็มไพร์อยู่ในระยะสั้นๆ และเปลี่ยนหน่วยมาตราเงินเป็นระบบทศนิยมก็ตาม แต่เหรียญส่งออกโดยเฉพาะที่ไปสู่ตะวันออกกลางก็คงรูปแบบเดิม (เหรียญที่เป็นภาพประกอบ คือ เหรียญนก 8R นกหันหน้าไปทางขวา ระบุปีผลิต ค.ศ. ๑๘๖๐)

ที่ว่าได้เปลี่ยนมาตราเงินเป็นระบบทศนิยม ในช่วงเปลี่ยนระบอบการปกครองนั้น คือกำหนดมาตราเงินเป็น 100 centavos = 1 Peso ระบุชื่อประเทศในเหรียญเป็น IMPERIO MEXICANO กำหนดให้ 1 Peso = 8R และได้ผลิตเหรียญย่อยราคาต่ำกว่าหนึ่งเปโซ เป็นเหรียญนก IMPERIO (ค.ศ. ๑๘๖๔) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแบบเป็นตราพระรูปจักรพรรดิ Maximilian (แห่งราชวงศ์ Habsburg) ดังตัวอย่างเหรียญที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๖๖ และ ๑๘๖๗ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง ก็ได้พยายามใช้เงินตราในระบบทศนิยมต่อไป คือผลิตเป็นเหรียญนกเปโซ โดยเปลี่ยนแบบด้านก้อย เป็นรูปหมวกเสรีภาพเปล่งรัศมี อยู่เหนือเครื่องหมาย three Governmental powers ประกอบด้วยตราดุลภาพ (ตาชั่ง) กฎหมาย (แทนด้วยคำว่า LEY บนแผ่นหนัง) และดาบ ดังตัวอย่างเหรียญนก 50 CENTAVOS ที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ แต่ไม่ได้รับความนิยม รัฐบาลเม็กซิโกจึงกลับไปใช้มาตราเงินระบบเดิม คือผลิตเป็นเหรียญนก 8R

เมื่อปีผลิตที่คุณวิศรุตระบุแย้งกับที่เว็บไซต์บอก ผมจึงตรวจสอบกับที่ คุณนวรัตน์ เลขะกุล แจ้งไว้ในหนังสือเบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ หน้า ๗๒ ว่าเม็กซิโกผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๒๓-๑๘๙๗ แม้ใกล้เคียงกับที่เว็บไซต์ระบุ แต่ปีแรกที่ผลิตก็ไม่ตรงกันอยู่ดี

ปัญหาจึงมีว่า เหรียญนก สาธารณรัฐเม็กซิโก ผลิตขึ้นตั้งแต่เมื่อไร? ค.ศ. ๑๘๒๓, ๑๘๒๔ หรือ ๑๘๒๕

จากเว็บไซต์ของ NUMISMATIC MUSEUM ที่เป็นประวัติ ระบุว่า ปีเริ่มผลิตคือ ค.ศ. ๑๘๒๓ และได้เสนอภาพไว้ด้วย ดังนี้ (ภาพเหรียญนก ปี ค.ศ. ๑๘๒๓)

น่าสังเกตว่า รูปนกคาบงู หันไปทางซ้าย น่าเสียดายที่ไม่พบตัวอย่างเหรียญที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๒๔ และ ๑๘๒๕ รูปนกอาจหันไปทางขวาก็ได้

ส่วนปีสุดท้ายที่ผลิตเหรียญนก 8R ทั้งเว็บไซต์และคุณนวรัตน์ระบุตรงกัน (ค.ศ. ๑๘๙๗) คุณวิศรุตว่าปี ค.ศ. ๑๙๐๙ น่าจะสับสนอะไรบางอย่างก็ได้

ท่าน Thuan D. Luc ส่งสารมาว่า ภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๐๐ รัฐบาลเม็กซิโกได้เปลี่ยนมาตราเงินเป็นระบบทศนิยม และได้ผลิตเหรียญ 1 Peso ใช้แทนเหรียญ 8R ซึ่งก็น่าจะเป็นจริง

ในประเด็นนี้ ท่านผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ผมกล่าวถึงในตอนนำเสนอเรื่อง "เรื่องราวของเงินตราหายากกว่า" (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๒) ได้อนุญาตให้ผมยืมถ่ายภาพเหรียญนกเปโซ ปี ค.ศ. ๑๙๐๑ ประกอบข้อเขียน ดังนำประกอบไว้นี้

จะเห็นว่า เหรียญอันนี้ระบุราคาเป็น UN PESO (คือ ๑ เปโซ) โรงกษาปณ์ คือ CN ปีผลิต ๑๙๐๑ ผู้ตรวจสอบคือ J.O. และความบริสุทธิ์เนื้อเงิน เท่ากับ ๙๐๒.๗ (ผิดไปจากเหรียญนก 8R ที่ระบุเป็น 10Ds, 20Gs.) ที่ท่าน Thuan D. Luc ระบุ จึงเชื่อถือได้ และท่านยังได้กล่าวถึงเหรียญนก 8R ในความคิดของชาวเวียด ว่า The local people gave it a nasty name as "bac hoa xoe" (coin with picture of a fully opened flower) or "bac con co" (coin with picture of stork). A Vietnamese folk song also expressed that these coins got deep impression in the life of people. (http://www.viettouch.com/numis/vnindom.html) คงเหมือนกับคติของชาวสะตอบ้านผม ที่ให้ความสำคัญกับเหรียญไทรนั่นกระมัง

ทีนี้จะว่าด้วยเหรียญนก ที่ทางราชการในสมัยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ รับรองให้ใช้ได้โดยตีตรามงกุฎกับจักร ให้เป็นที่สังเกต ท่านตุ๋ย เหล่าสุนทร นายกสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทยคนแรก บอกว่า เป็นเหรียญที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๕๖, ๑๘๕๗ เท่านั้น และเท่าที่ผมได้เห็นภาพ ก็เป็นจริงอย่างท่านตุ๋ยว่า คือเหรียญนกปี ค.ศ. ๑๘๕๖ ปรากฏภาพอยู่ในหนังสือ The coinage of Siam ของ Reginald le May ส่วนเหรียญนกปี ค.ศ. ๑๘๕๗ ปรากฏภาพอยู่ในหนังสือ เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ ของ นวรัตน์ เลขะกุล

โดยนัยข้างต้น เหรียญนกที่ใช้กันในเมืองไทย และไม่ผ่านรัฐบาลที่บางกอก รวมถึงที่ผลิตในปีอื่นๆ ทั้งก่อนและหลัง ค.ศ. ดังกล่าว จึงย่อมไม่ตีตรา ดังตัวอย่างเหรียญที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๕๑ และปี ค.ศ. ๑๘๘๙ ตามภาพที่เสนอนี้

ในบรรดาหัวเมืองปักษ์ใต้ การใช้เหรียญต่างประเทศในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องปกติ แม้ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ประเทศไทยได้ผลิตเหรียญบาทออกใช้อย่างกว้างขวางแล้ว ทั้งนี้เพราะหนทางห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก ต่อเมื่อได้เปิดการเดินรถไฟสายใต้ตลอดสาย (พ.ศ. ๒๔๖๑) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้ว การขนส่งเงินจึงกระทำได้โดยสะดวก และต่อมาไม่นานมีการผลิตธนบัตร (คนทางใต้เรียก "ใบหนอด" คงเลียนเสียงจาก bank note) ออกใช้แทนเงินโลหะอย่างแพร่หลาย การใช้เงินเหรียญนอกจึงค่อยๆ หมดไป แต่กระนั้นก็ยังคงใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการเกิด การแต่งงาน ต่อมาอีกช้านาน และยังมีอยู่ในหลายท้องที่จนบัดนี้

อนึ่งในตอนท้ายข้อเขียนเรื่อง "เงินเหรียญนอกที่ใช้ในหัวเมืองปักษ์ใต้" ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน เมษายน ๒๕๔๒ ผมกล่าวถึงว่า "ในเอกสารเมืองสงขลา ว่ามีเหรียญตรามังกร ตราตัวหนังสือจีน แต่เมื่อยังไม่เห็นของจริง ก็เป็นอันจนใจ"

ก็ใคร่ขอเรียนขยายความว่า เอกสารที่ผมกล่าวถึงนี้ คือบัญชีรายชื่อสิ่งของที่เจ้าเมืองสงขลาจัดส่งไปกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เพื่อแสดงในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบร้อยปี (พ.ศ. ๒๔๒๕) มีรายการเงินเหรียญที่ใช้กันในเมืองสงขลาขณะนั้นสี่ชนิด คือ "เหรียญตรานก ๑ ตราชู ๑ ตรามังกร ๑ ตราหนังสือจีน ๑"

ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เหรียญตรานก คือเหรียญเม็กซิกัน ตราชู น่าจะเป็นเหรียญมลายูที่มีตราคนหิ้วถังและมือข้างหนึ่งยกขึ้นจับปลายไม้เท้า ซึ่งเรียกว่าเหรียญหิ้วถุ้ง (ถัง) หรือเหรียญคนถือไม้เท้า ส่วนตรามังกรและตราหนังสือจีน คือเหรียญจีน เพราะเมืองสงขลามีคนจีนเข้ามาอาศัยและค้าขายเป็นจำนวนมาก" (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม ๒ หน้า ๖๘๖)

ด้วยเหตุที่ไม่มีภาพประกอบไว้ จึงเป็นการยากที่จะจินตนาการ จึงใคร่ขอแสดงความเห็นประกอบภาพดังนี้

๑. เหรียญตรานก คือเหรียญนก 8R ของสาธารณรัฐเม็กซิโก อย่างไม่ต้องสงสัย

๒. เหรียญตราชู ผมคิดว่าคือเหรียญไม้เท้า แต่ต้องเข้าใจว่า เหรียญไม้เท้า กับเหรียญหยิ้วถุ้ง (หิ้วถุ้ง) ไม่ใช่ชนิดเดียวกัน ดังได้แสดงทั้งภาพและความเห็นไว้แล้ว ในข้อเขียนที่กล่าวถึงข้างต้น อนึ่งเหรียญไม้เท้านั้น มือซ้ายเทพีบริตตาเนียเธอถือโล่ตราธงยูเนียนแจ๊กของอังกฤษ ไม่ควรเห็นเป็นถุ้งเป็นถังเป็นอันขาด

๓., ๔. ตรามังกร และตราหนังสือจีน จำเป็นต้องรวมกล่าวด้วยกัน เพราะเท่าที่ได้เห็นของจริงและดูภาพที่พิมพ์จากเว็บไซต์ที่มีผู้ส่งมาให้ เป็นเหรียญที่มีทั้งตรามังกรและตัวหนังสือจีนอยู่ด้วยกัน และก็นำเสนอภาพเพื่อช่วยกันพิจารณา ว่าจะเป็นเหรียญตามภาพนี้หรือไม่

ผมขอเรียกเหรียญอันนี้จากความอนุเคราะห์ของผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ว่าเป็นเหรียญมังกรคะนองเมฆ ตรงกลางขดมังกร มีตัวหนังสือจีนสองตัว ครูแต้จิ๋วอ่านให้ฟังว่า เจ๊ก งี้ แปลว่า หนึ่งเหรียญ ใต้ขดมังกรบอกราคาเป็นคำฝรั่งว่า ONE DOLLAR

อีกด้าน ในวงกลมมีอักษรจีนสี่ตัว เรียง บน ล่าง ขวา ซ้าย อ่านว่า ไต้ เช็ง งึ้ง ปี๋ แปลเอาความว่า เหรียญเงินแห่งราชวงศ์ชิงที่ยิ่งใหญ่ ข้างบนเป็นอักษรแมนจู อ่านไม่ได้ ข้างล่าง จากขวาไปซ้าย อ่านได้ว่า ซวง ท้ง ซา น ี้แปลเอาความว่า ปีที่สามแห่งแผ่นดินซวงท้ง (ปีออกเหรียญ และอาจมีออกในปีอื่นก็ได้)

ที่น่าคิดก็คือ ปีที่สาม แผ่นดินซวงท้ง อยู่ก่อนหรือหลัง พ.ศ. ๒๔๒๔ หากอยู่ก่อนก็พอจะมั่นใจได้ว่า เหรียญอย่างนี้หมุนเวียนมาถึงสงขลา และเจ้าเมืองส่งไปกรุงเทพฯ แต่หากอยู่หลังก็ตัดไปได้เลย

ว่าแต่เหรียญนี้ น่าจะเป็นเหรียญตรามังกรหรือตราหนังสือจีนล่ะครับ

ตัวอย่างอีกสองเหรียญต่อไปนี้ ผู้ส่งภาพมาให้เรียกว่าเป็นเหรียญมังกรผงาดฟ้า เป็นเหรียญของประเทศญวนสมัยพระเจ้ามินมาง (พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๓๘๑) และสมัยนี้พระเจ้าตื้อดึก (พ.ศ. ๒๓๙๑-๒๔๒๖) ทั้งสองแผ่นดินผลิตเหรียญก่อนปี พ.ศ. ๒๔๒๔

สมัยพระเจ้ามินมาง ด้านหน้าตรงกลางเป็นดวงอาทิตย์เปล่งแสง มีอักษรจีนสี่คำ อ่านจากบน ล่าง ขวา ซ้ายว่า มินมางทงป้อ แปลว่าเงินตราของมินมาง ด้านหลังเป็นตรามังกร มีอักษรจีน จั๊บ สี่ คือออกเหรียญนี้ในปีที่สิบสี่แห่งรัชกาล

สมัยพระเจ้าตื้อดึก ด้านหน้าเหมือนสมัยมินมาง อักษรจีนอ่านว่า ตื้อดึกทงป้อ ด้านหลังเป็นมังกร ไม่ระบุปีรัชกาล

ที่น่าพิจารณาก็คือ เมืองสงขลาช่วงนั้น มีการค้าขายกับเมืองญวนหรือไม่ หากมีการติดต่อกัน ก็คงเป็นไปได้ ว่าที่สงขลาก็มีเหรียญชนิดนี้ และเจ้าเมืองได้ส่งไปให้ทางกรุงเทพฯ เพื่อจัดแสดงในการสมโภชฯ


และนี่ควรเป็นตรามังกรที่ว่าใช่หรือไม่
ขอเชิญทำเวิร์กช็อปกันตามอัธยาศัยนะครับ

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า