banner Histdept

Vmenu

บทความภาษาไทย
 มติชน, วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1203, หน้า 8  

   เงาสะท้อน
   ทักษิณา
   กรณีเดือนตุลาคม 2516 ความจริงจาก ณรงค์ กิตติขจร กรณี กฤษณ์ สีวะรา

มิได้เป็นครั้งแรกที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จะออกมาเอ่ยชื่อ "คนอื่น" ให้รับผิดชอบในเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ด้วย

ก่อนหน้านี้ เคยกล่าวลอยๆ เรื่อง "ทหารพราน" ว่า เป็นคนลั่นกระสุน

ก่อนหน้านี้ จอมพลถนอม กิตติขจร เคยเขียน "เม็มมัวร์" และพุ่งเป้าไปยัง พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์

เป็นการตั้งข้อสังเกตในเรื่องความร่ำรวย

ต่อมา เริ่มมีการเปิด "รายละเอียด" ว่าการเผาตึก กตป. มาจาก "บางส่วน" ซึ่งเป็นตำรวจที่ใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เพื่อต้องการปกปิดหลักฐานบางประการ

หลังสุด พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เริ่มพูดถึงตัวละครบางตัว

ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ชื่อ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

รวมถึงตัวละครชื่อ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อีกด้วย

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีตัวละครฝ่าย "ทหาร" มีบทบาทสำคัญร่วมอยู่ด้วย

เป็นบทบาทที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจของระบอบ "ถนอม-ประภาส"

นั่นก็คือ พฤติการณ์ของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่ทำลายหลักฐานการประชุมและสั่งการจากสวนรื่นจนหมดสิ้น

ยิ่งกว่านั้น พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ยังเปิดเส้นสนกลในการปะทะบริเวณหน้าสวนจิตรลดา

ว่าเป็นปฏิบัติการของ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ที่รับคำสั่งจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ให้สั่ง พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาที่สลายตัวและเดินออกไปบริเวณหน้าสวนจิตรลดา

กลายเป็นว่า ฝ่ายของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ต่างหากที่เป็นผู้จุดชนวนเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนตุลาคม 2516

แม้ว่ารายละเอียดจากแต่ละด้านยังต้องรอการพิสูจน์ แต่การเปิดเผยของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าภายในคณะทหารก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดพลิกผันอย่างสำคัญของสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516

ลองไปพลิกปูมของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก็จะมองเห็นเงื่อนปมบางประการ

นายทหารท่านนี้เติบใหญ่ในกองทัพภาคที่ 1 ตั้งแต่ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และขึ้นเป็น ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อเดือนธันวาคม 2500

เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2503

เดือนธันวาคม 2506 เป็น แม่ทัพภาคที่ 2

เดือนตุลาคม 2506 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1

เดือนตุลาคม 2508 เป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เดือนตุลาคม 2509 เป็น รองผู้บัญชาการทหารบก

เดือนตุลาคม 2516 เป็น ผู้บัญชาการทหารบก

น่าสนใจก็ตรงที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็น รองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2509 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 จึงได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก

เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกยาวนานถึง 7 ปี

แสดงให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ จอมพลถนอม กิตติขจร และการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ได้ตัดโอกาสของนายทหารคนอื่นๆ จนหมดสิ้น

ที่สำคัญก็คือ มีการต่ออายุราชการ จอมพลถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

[Top]

footer ©กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า